การประเมินราคาโซลาร์ฟาร์ม
  AREA แถลง ฉบับที่ 194/2563: วันพุธที่ 01 เมษายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            โซลาฟาร์มซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าทางเลือกกำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีแสงแดดดี เหมาะใช้ผลิตไฟฟ้า ดร.โสภณ มาไขความจริงว่าวิสาหกิจแบบนี้ ประเมินค่าหรือประเมินราคากันอย่างไร

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้แทนสมาคมผู้ประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์นานาชาติในประเทศไทย (International Association of Assessing Officers) และคณะทำงานประเมินค่าทรัพย์สิน (Appraisal Foundation) ของสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่ากิจการโซลาฟาร์มนี้มีมูลค่าที่สามารถประเมินได้ และศูนย์ข้อมูลฯ ได้ให้บริการประเมินค่าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยการประเมินค่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ร่วมทุน ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การบันทึกบัญชี หรืออื่นๆ

            โซลาร์ฟาร์มเป็นระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนดิน (Solar Farm System/Solar Power Plant) ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยไม่มีต้นทุนทางวัตถุดิบและไม่มีความซับซ้อนมากนักซึ่งเหมาะสมสำหรับที่ดินในภูมิภาคนี้ของโลกที่แดดดี และมีความต้องการตลาดสำหรับไฟฟ้าสูง  แม้ในขณะนี้ราคาน้ำมันดิบจะตกต่ำลงมาแข่งขันกับไฟฟ้าทางเลือกเป็นอย่างมากก็ตาม

            ในการประเมินค่าโรงไฟฟ้าแสงแดดนี้ เกี่ยวข้องกับการลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Plant) สำหรับการขายไฟฟ้าให้กับทางราชการ (PPA-Power Purchase Agreement) ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยในการประเมินนี้ต้องทำการสำรวจ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study)  การออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design) การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ (Procurement) รวมถึงการตรวจสอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Construction) ว่าได้เป็นไปตามแบบหรือไม่อย่างไร  ยิ่งกว่านั้นยังต้องตรวจสอบดูระบบการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O & M Services)

แบบยึดติดอยู่กับที่ (Fixed System)
            ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้านั้น สามารถติดตั้งในแบบยึดติดกับที่ (Fixed System) กับแบบหมุนตามดวงอาทิตย์ (Tracking System) โดยระบบยึดติดกับที่เป็นการติดตั้งแผงแบบระบุตำแหน่งชัดเจน ซึ่งรับแสงอาทิตย์ได้ดีที่สุดเพียงประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ต้นทุนค่าก่อสร้างถูกกว่า การบำรุงรักษาง่ายกว่า  ส่วนแบบหมุนตามดวงอาทิตย์ (Tracking System) นั้นสามารถรับแสงแดดได้มากขึ้นกว่าปกติประมาณ 20% แต่ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและดูแลย่อมจะสูงกว่านั่นเอง  นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีระบบลอยน้ำ (Floating Solar Farm) เพราะในประเทศไทยมีแหล่งน้ำต่างๆ เป็นจำนวนมาก และไม่ทำให้เปลืองพื้นที่ที่อาจใช้เพื่อการเกษตรหรืออื่นใดอีก

            ในการประเมินค่าทรัพย์สิน
            1. การสำรวจภาวะตลาดไฟฟ้าจากโซลาฟาร์มและพลังงานทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งพลังงานหลักจากน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น
            2. ผู้ประเมินพึงประเมินสมรรถนะ (Performance ratio : PR) และความคุ้มค่าของระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในโครงการโซลาฟาร์ม โดยเฉพาะในโครงการที่เราได้รับมอบหมายให้ประเมินค่าทรัพย์สิน
            3. การบำรุงรักษาและต้นทุนค่าดำเนินการต่างๆ
            4. รายได้ตามสัญญาและการพยากรณ์รายได้ในอนาคตรวมทั้งความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะตลาดทั้งในและต่างประเทศ

            ปกติในการสำรวจทรัพย์สินหนึ่งๆ ในประเทศไทยก็คงใช้เวลา 2-5 วันทำการ แล้วแต่ขนาด และทำการศึกษาภาวะตลาด ความเป็นไปได้ทางการตลาดและการเงิน  แต่หากเป็นในกรณีต่างประเทศ ระยะเวลาการสำรวจ การเดินทางก็คงใช้เวลามากขึ้นตามลำดับ โดยอาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์  งานประเมินชิ้นหนึ่งๆ ก็คงใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพราะยังต้องขอรับเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการจัดซื้อ ต้นทุน และตัวเลขค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเปรียบเทียบกับกิจการแบบเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

            ผู้ประเมินจึงต้องสำรวจให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะประเมินค่าทรัพย์สินนี้ให้สอดคลัองกับความเป็นจริง

 

อ่าน 6,831 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved