ฌอน บูรณะหิรัญรู้ไหม “ปลูกป่าคือการทำลายป่า”!?!
  AREA แถลง ฉบับที่ 377/2563: วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            เราปลูกป่ากันมาเท่าไหร่แล้ว เสียงบประมาณมหาศาล แล้วป่าทำไมหด  การปลูกป่าทำให้เราหลงคิดว่านี่คือแนวทางการรักษาป่าให้ยั่งยืน แท้จริงแล้วคือการเบื่อเมาของผู้ทำลายป่า ที่เบนความสนใจของสาธารณชนจากอาชญากรรของพวกเขา จะได้ไม่สนใจการก่อกรรมทำลายป่าของพวกเขา ต่างหาก


ปลูกป่าเรื่องดรามา
            เมื่อเร็วๆ นี้ (มิถุนายน 2563) มีข่าวนายฌอน บูรณะหิรัญ ไปร่วมปลูกป่ากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  ก่อนหน้านี้ ยังมีดาราออกมารณรงค์กันยกใหญ่ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พึงอนุโมทนา  แต่ผมก็ได้เขียนให้เห็นถึงในอีกมุมหนึ่งแล้วว่า " 1,000 โจอี้และสุหฤทก็ช่วยป่าไม่ได้ แถมช่วยทำลายป่า!?!" (bit.ly/1WEAGxd) เพราะเงิน 1 ล้านบาทสามารถปลูกป่าได้เพียง 250 ไร่ ถ้าจะปลูก 500,000 ไร่ ต้องใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท  ที่ปลูกกันอย่างสนุกสนานนั้น ส่วนหนึ่งก็ดีที่ได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ปลูก  แต่ป่าปลูกส่วนมากตายเกือบหมด

            เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 "บางจาก" จัดรณรงค์ให้ชาว net กด like ให้ครบ 100,000 likes เพื่อจะได้มอบเงินช่วยปลูกป่า 1 ล้านบาท  ปรากฏว่ามีคนกดมากกว่า 550,000 likes แล้วในวันนี้  ดูเป็นสิ่งอนุโมทนายิ่ง  และเป็นการโฆษณาที่มีประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่ง  บางทีเราดูบริษัทปูน บริษัทน้ำมันทำดีเหล่านี้แล้วก็ชื่นใจ  แต่นี่ไม่ใช่ภารกิจหลักต่อความรับผิดชอบต่อสังคม  ภารกิจหลักอยู่ที่การดูแลเด็กปั้มให้ได้คุณภาพดีๆ ก่อนเถอะ ขายสินค้าในราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชนต่างหาก


ป่าถูกทำลายย่อยยับ ปลูกไม่มีวันทัน
            ท่านทราบหรือไม่ว่าในเวลาเพียงปีเดียว ป่าไม้ของไทยถูกทำลายไปประมาณ 1 ล้านไร่ ท่านทราบหรือไม่ว่า 1 ล้านไร่นั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรเล็กน้อยเท่านั้น!! นายสืบ นาคะเสถียร ได้สละชีวิตของตนเองเพื่อเรียกร้องให้มีการรักษาป่าไม้ แต่นี่เท่ากับท่านสละชีวิตไปสูญเปล่า เพราะป่าไม้ก็ยังหายไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เราไม่ควรอนุโมทนากับการฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่ท่านทำยิ่งใหญ่กว่าที่คุณโจอี้ บอยและคุณสุหฤททำมากมาย ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้เลย

            ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากมายได้อย่างไร ทำไมไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาก็มักมีข่าวเจ้าหน้าที่หรือ 'ผู้มีสี' ฝ่ายต่างๆ ต่างตัดไม้ทำลายป่ากันมากมาย แต่แทบจับมือใครดมไม่ได้ ดังนั้นการส่งเสริมการปลูกป่า ให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปช่วยกันปลูก อาจทำให้เป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่น่ารักน่าชัง แต่ไม่มีประสิทธิผลแต่อย่างใด ป่าที่ปลูกมักตายในเวลาไม่ช้า การปลูกป่ายิ่งไม่ได้ผล


ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน
            ที่สำคัญที่สุดก็คือ การปลูกป่ากลายเป็นยาเบื่อเมาให้ประชาชนในเมืองเข้าใจว่าเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ดังนั้นใครที่ไปปลูกป่าก็จะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญกันใหญ่ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ค่อยใส่ใจการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เพราะเป็นงานเสี่ยง งานยาก งานที่ต้องจริงจัง หากภาคเอกชนจะทำดีเพื่อป่าไม้ ก็ควรร่วมกันบริจาคเงินเพื่อตั้งทีมอาสาสมัครกล้าตายไปช่วยกันรายงาน-เปิดโปงการบุกรุกทำลายป่ามากกว่าการปลูกป่า โดยจ้าง “มืออาชีพ” ไปสำรวจแล้ว เชื่อว่าการทำเช่นนี้คงช่วยปรามการบุกรุกป่าได้ชะงัดทีเดียว

            ในการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้น รัฐบาลควรเน้นการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าด้วยมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกป่า หากฉุกคิดกันสักนิด การส่งเสริมการปลูกป่าอาจเท่ากับเป็นการบิดเบือนประเด็น ทำให้สังคมส่วนรวมไม่มีโอกาสตระหนักถึงความจริงที่ทรัพยากรของประเทศถูกปล้นทำลายลงไปทุกวันเพราะหลงนึกว่าป่าสามารถปลูกเสริมแทนพอกัน ในขณะที่การปลูกป่าจึงกลายเป็นการมองทางออกของปัญหาแบบ 'ม้าลำปาง' ที่กลายเป็นการช่วยไม่นำพา ไม่รบกวนการปล้นทำลายป่าโดยไม่ตั้งใจไป

 

อยากช่วยจริง ไปที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
            เราต้องเน้นการปราบปราม ป้องปราม ต้องช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า (Forest Ranger) รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (Park Ranger) หรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Ranger) นี่คือบุคลากรผู้ทำหน้าที่คุ้มครองและรักษาอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติต่างๆ  บุคคลเหล่านี้ยังเป็นผู้ทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์ให้พ้นจากภัยธรรมชาติ และการปกป้องธรรมชาติให้พ้นจากการทำลายของมนุษย์อีกด้วย

            ที่ผ่านมามีการก่อตั้งเว็บไซต์ www.thairanger.com โดยในเว็บไซต์ระบุว่า "ก่อตั้งขึ้นเพี่อบอกเล่าเรื่องราวของผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมายและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครองของประเทศ หรือที่รู้จักกันในนามของ “ผู้พิทักษ์ป่า” ซึ่งปฏิบัติงานตามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน พื้นที่ป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งพื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลของประเทศไทย เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ในวิชาชีพ เสริมสร้างกำลังใจ ช่วยเหลือและแบ่งปันในด้านสวัสดิการและเครื่องมืออุปกรณ์ในการปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์ป่าไทย"

            ใครจะบริจาคเงิน บริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์ รวมทั้งอาวุธเพื่อช่วยบุคลากรกลุ่มนี้ หรือตั้งกองกำลังอาสามาช่วยกันพิทักษ์ป่า ต่อสู้กับอาชญากรทำลายป่า น่าจะดีกว่า  ส่วนบรรดาเขาหัวโล้นเหล่านั้นที่ถูกทำลายไปแล้ว คงไม่ใช่ให้คนไปอยู่เก็บกินประโยชน์ในนามการรักษาป่า ซึ่งก็เป็นดรามาอีกแบบหนึ่งเป็นแน่แท้

อ่าน 1,901 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved