มองต่างมุมจากท่านพุทธทาส เรื่องทาน
  AREA แถลง ฉบับที่ 148/2564: วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

           การมองต่างจากท่านพุทธทาสหรือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ซึ่งเป็นพระที่ผมและชาวพุทธเคารพอาจดูคล้ายไม่สมควร แต่เพื่อสังคมอุดมปัญญา และส่งเสริมพระธรรมที่แท้ ผมจึงขอมองต่างมุมด้วยความเคารพโดยในเรื่องนี้เกี่ยวกับ “ทาน”

            ท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า “สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด ถ้าไม่ได้ทำให้ใครฉลาดขึ้น เกี่ยวกับ ‘ความดับทุกข์’ การกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความสว่างไสว ‘ในทางธรรมะ’ แก่เพื่อนมนุษย์ นั่นแหละ! ‘กุศลอันสูงสุด’” <1>  คำกล่าวนี้ฟังดูก็เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือเพราะมีพุทธสุภาษิตว่า “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง” และมีคำกล่าวว่า “การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง” <2>

            จริงอยู่ที่ว่า “การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง” แต่การยกตัวอย่างขนาดว่า “สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด” ดูออกเป็นการเจาะจงไปหรือไม่  เพราะในอีกแง่มุมหนึ่งหลวงพ่อคูณก็บริจาคเงินสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล วัด ตลอดถึงหน่วยงานราชการต่าง ๆ มากมาย ทั้งสถานีอนามัย วิทยาลัย สถานีตำรวจ บ้านพักตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ ถนน “รวมทั้งบริจาคเงิน เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิต รถพยาบาล รถดับเพลิง เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ. . .ถวายเงินแด่ (ในหลวง) วันที่ 11 มกราคม 2538. . .72,000,000 บาท. . .อีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน 2551. . .100,000,000 บาท” <3>  นอกจากนี้จากการ “เปิดสมุดบริจาค ‘หลวงพ่อคูณ’ ตั้งแต่ปี 2513 (พบว่า) ช่วยเหลือสังคมกว่า 6,000 ล้าน” <4>

            การทำทานนั้นแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ อามิสทาน คือให้สิ่งของ  ธรรมทาน คือให้ธรรม และอภัยทาน <5> การให้ทานเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ยาก และเป็นการเพิ่มบุญกุศลให้กับตนเอง ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า ททโต ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ. แปลว่า เมื่อให้ บุญก็เพิ่มขึ้น <6>  พระพุทธเจ้าคงไม่สอนให้ทำแต่ธรรมทานเพียงอย่างเดียว  ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ สภาวะแวดล้อมนั้นๆ  หลวงพ่อคูณก็คงถือคติ ธีโร โภเค อธิคมฺม สงฺคณฺหาติ จ ญาตเก. คือ “ปราชญ์ได้โภคทรัพย์แล้ว ย่อมสงเคราะห์ญาติ” <7>

            ในหมู่พี่น้องประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยากจนข้นแค้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเมื่อ 50-70 ปีก่อน หลวงพ่อคูณก็คงต้องให้พวกเขามีชีวิตรอดก่อน ให้เขามีโรงพยาบาล สถานีอนามัย ให้เด็กๆ มีโรงเรียน มีวิทยาลัย ฯลฯ เมื่อพร้อมแล้วก็คงให้ธรรมะต่อไป  การให้ “กุศลอันสูงสุด” ย่อมต้องว่าตามกาลอันควรดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “โส จ สพฺพทโท โหติ โย ททาติ อุปสฺสยํ อมตนฺทโท จ โส โหติ ธมฺมมนุสาสติ: ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อมตะ” <8>

            การที่เราเห็นใครทำบุญทำทาน ก็ควรสาธุอนุโมทามิกับบุคคลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์หรือฆราวาสที่บริจาคสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือวัดก็ควรได้รับการยกย่องเช่นกัน

อ้างอิง

<1> ที่มา: https://cutt.ly/rlpXCES

<2> พระผู้มีพระภาคทรงตรัสพระคาถานี้แก่ ท้าวสักกะจอมเทพ และเหล่าเทวดาสักกเทวราชวัตถุ พระไตรปิฎกภาษาไทย ( มจร. ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๖๔/๑๔๔ ที่มา: https://cutt.ly/olpCq08

<3> ประวัติ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” ปราชญ์แห่งที่ราบสูง. Worldpoint Today. 21 มกราคม 2562. https://cutt.ly/4lpVnKM

<4> เปิดสมุดบริจาค ‘หลวงพ่อคูณ’ ตั้งแต่ปี 2513 ช่วยเหลือสังคมกว่า 6,000 ล้าน. 25 มกราคม 2562. https://www.prachachat.net/general/news-282657

<5> พระครูสังวราภิรักษ์. มงคลที่ 15. ทานญฺจ บำเพ็ญทา https://cutt.ly/ulpBLi4

<6> เสรีชน เสรีธรรม. https://cutt.ly/0lpBMfM

<7> พุทธศาสนสุภาษิต. https://www.jaisangma.com/buddhist-proverb-57/

<8> พุทธศาสนสุภาษิต ข้อคิดเตือนใจที่ควรรู้. https://hilight.kapook.com/view/62509

อ่าน 3,620 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved