คอลัมน์: เปลวสีเงิน: เกินพอดีก็ 'ไม่ดี' ที่มาบตาพุด

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- ศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2553 00:00:55 น.
คนปลายซอย

ความจริงผมไม่ได้ติดตามเรื่องมาบตาพุดละเอียดซักเท่าไหร่ นึกว่าเมื่อรัฐบาลประกาศ ๑๑ ประเภทโครงการรุนแรงไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเกี่ยวกับโครงการที่ระงับไว้ไปแล้ว ทุกอย่างก็น่าจะเดินไปตามครรลองได้ แต่เมื่อวาน (๓๐ ก.ย. ๕๓) เห็นคุณสุทธิ อัชฌาศัย พาคนมาชุมนุมที่ระยองอีก ในความรู้สึกผม เบื่อและเอียนในความ "ไม่ได้ดังใจกู-ไม่จบ"

ประเทศไทยมีรัฐบาลเดียวน่าจะพอนะครับ ไม่จำเป็นต้องตั้ง "รัฐบาล NGO" ขึ้นมาเป็นพ่อ "รัฐบาลไทย" ชี้นิ้วให้ต้องทำอย่างนั้น-ทำอย่างนี้ตามคำสั่งเหนือหัวที่พวกคุณได้รับทุนมาปฏิบัติการอีกต่อหรอก

เอะอะก็อ้างชาวบ้านเป็นยันต์ การเคลื่อนไหวภาคสังคมเช่นนี้มันก็ดีหรอก มีไว้เป็นดุลถ่วงพวกรัฐบาล-พวกนายทุนละโมบสุดโต่งบ้าง สังคมจะได้สมดุล แต่บางอย่าง บางกรณี ผมรู้สึกว่าที่กลุ่มเอ็นจีโอทำ-ไม่ได้ถ่วงให้สมดุล แต่ "ถ่วงความเจริญ" มากกว่า

ทุกอย่างมีกฎ มีกติกา มีศาลเป็นที่ชี้ขาด ไม่พอใจตรงไหน เห็นบอกว่าจะไปอุทธรณ์ ก็ไปสิครับ ไม่มีใครว่า แต่การยกพวกมาปิดล้อม มาสร้างบรรยากาศกดดันนอกระบบพร่ำเพรื่อ บอกตรงๆ มันน่าเบื่อ  นี่...ดร.โสภณ พรโชคชัย ผมก็ไม่รู้จักท่านหรอก แต่ท่านคงเบื่อเหมือนผม เลยรวบรวม ๑๐ ประเด็น ส่งอีเมล์มาให้ผมอ่าน ลองอ่านดูนะ10 ประเด็นที่ขาดเหตุผลในการชุมนุมปิดมาบตาพุด

ในวันนี้ (30 กันยายน) จะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาชุมนุมนัยว่าเพื่อปิดนิคมดังกล่าว ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าข้ออ้างในการชุมนุมไม่ชอบธรรม จึงขอแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกดังนี้ :

1.กลุ่มนี้ชอบอ้างประชาชน แต่ในความเป็นจริง ประชาชนส่วนใหญ่ทุกสาขาอาชีพถึง 65.3% ในมาบตาพุดต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป นี่แสดงชัดเจนว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวนี้ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนแต่อย่างใด กลุ่มผู้ชุมนุมมักจะอ้างคนยากจน แต่จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยยิ่งไม่คิดจะย้ายออกจากมาบตาพุด เพราะพวกตนทำงานบริการต่างๆ หากเศรษฐกิจมาบตาพุดเสียหาย คนจนต่างหากที่จะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักก่อน

2.กลุ่มนี้ชอบอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งกำหนดให้มีการแต่งตั้ง "องค์การอิสระ" ซึ่งอาจเป็นการแต่งตั้งเฉพาะผู้ที่คุ้นเคย และไม่เป็นกลาง และยิ่งระบุให้แต่งตั้งเฉพาะผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ย่อมเป็นการผิดแต่แรก เพราะปัญหา นี้เป็นปัญหาระดับชาติ จำเป็นต้องมีผู้รู้ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การผังเมือง ฯลฯ มาพิจารณาให้รอบด้าน รัฐบาลจึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้

3.กลุ่มนี้มักอ้างความเห็นของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งมีที่มาที่ชอบกล โดยผู้แทนฝ่ายประชาชนนั้นกลับไม่มีผู้แทนของประชาชนชาวมาบตาพุดแม้แต่คนเดียว ผู้แทนฝ่ายประชาชนประกอบด้วย นายแพทย์คนหนึ่งที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและบ้านอยู่นนทบุรี อีกคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้ง 2 คนนี้น่าจะเป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้แทนประชาชน นอกจากนี้อีก 2 คนต่างเป็นเอ็นจีโอ คนหนึ่งขณะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง เป็นคนจังหวัดระยอง แต่ไม่ใช่มาบตาพุด ส่วนอีกคนเป็นคนชุมพร แต่มีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงถือเป็นการแต่งตั้งที่ไม่มีมาตรฐาน โดยขาดตัวแทนประชาชนมาบตาพุด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เลย เป็นการไม่นำพาต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง

4.กลุ่มนี้ชอบอ้างกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งอาจดำเนินการไปอย่างไม่เป็นกลาง หากมีอคติอาจรับฟังแต่กลุ่มกฎหมู่ หรืออาจฟังความเพียงข้างเดียวต่อกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์  หรือมีอคติต่อการพัฒนา อุตสาหกรรม กระบวนการที่สมควรจึงควรเป็นการสำรวจความเห็นของประ ชาชนหรือการทำประชามติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ยอมทำ เพราะไม่ต้องการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการอุตสาหกรรม

5.กลุ่มนี้ชอบอ้างข้อยกเว้น เช่น อ้าง "ลุงน้อย" เป็นมะเร็ง แต่ผลสำรวจพบว่า กลุ่มที่เชื่อว่าป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพราะมลพิษ มีเพียง 0.69% เท่านั้น ทางราชการยังพบว่าสาเหตุหลักของการตายของประชาชนในจังหวัดระยอง เป็นเพราะปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย ถึง 15% รองลงมาคือ มะเร็งและเนื้องอก 12.7% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังกลับมีสัดส่วนต่ำกว่าระดับทั่วประเทศ นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบจำนวนประชากรที่ป่วยทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 18.16% ในขณะที่ในมาบตาพุดมีประชากรที่ "เจ็บป่วยเล็กน้อย" ในการอยู่อาศัยในพื้นที่เพียง 9.83% เท่านั้น

6.การพบแก๊สรั่วหรือมลพิษต่างๆ ย่อมมีบ้าง แต่ถือเป็นส่วนน้อย โรง งานอยู่รวมๆ กันในนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ย่อมมีปัญหาบ้าง ซึ่งต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้ละเมิดประชาชน แต่ในความเป็นจริง โรงงานในนิคมอุต สาหกรรมเหล่านี้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าโรงงานทั่วไปเสียอีก ไม่เช่นนั้นคงไม่อาจหาพนักงานมาทำงานได้นับแสนๆ เช่นนี้ พนักงานโรงงานแต่ละคนต่างก็มีการศึกษาดี มีรายได้เดือนละนับหมื่นนับแสนบาท ไม่ใช่ "สาวฉันทนา" ทั่วไป ดังนั้นจึงนำข้อยกเว้นเหล่านี้มาเป็นข้ออ้างไม่ได้

7.กลุ่มนี้ชอบอ้างสิทธิชุมชน แต่ไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน บาง ทีถึงกับอ้างว่าประชาชนชาวมาบตาพุดมาอยู่ก่อนโรงงาน ทั้งที่ที่ดินแถบนี้ถูกเวนคืนมาเพื่อตั้งโรงงานตั้งแต่เกือบ 30 ปีที่แล้ว เจ้าของที่ดินเดิมก็ได้รับค่าเวนคืน ย้ายไปหมดแล้ว แต่หากมีความจำเป็นต้องขยายอุตสาหกรรม ทางราชการก็มีความจำเป็นต้องแก้ผังเมืองใหม่ มีการซื้อที่ดินเวนคืนที่ดินตามความจำเป็น หากมีมลพิษจริง ชาวบ้านย่อมยินดีรับค่าทดแทน ซึ่งรัฐบาลพึงจ่ายให้อย่างดีเพื่อให้คุ้มค่ากับการโยกย้าย โดยสรุปแล้วสิทธิของชุมชนเป็นสิ่งที่พึงตระหนัก แต่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า รัฐบาลจึงควรซื้อที่ดินหรือเวนคืนอย่างเป็นธรรม

8.กลุ่มนี้ชอบอ้างทางออกที่เลื่อนลอย เช่น ให้ย้ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกนอกพื้นที่ ทั้งที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่รัฐเวนคืนมาเมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งสำคัญต่อชาติเป็นอย่างยิ่ง หากพื้นที่นี้ไม่อาจทำกิจการปิโตรเคมี จะมีพื้นที่อื่นสร้างได้อีกหรือ ประเทศสิงคโปร์ที่มีขนาดเล็ก รวมทั้งมาเลเซียและเพื่อนบ้านอื่นก็ล้วนมีเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เราไม่ควรคิดทำร้ายอุตสาหกรรมสำคัญของชาติ หรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจชาติ

9.กลุ่มนี้ชอบอ้างตนเป็นเครือข่าย เป็นกลุ่มประชาคม ฯลฯ แต่ไม่ทราบว่ามีตัวตนจริงไหม มีรายชื่อสมาชิกหรือไม่ มีสมาชิกที่เป็นคนระยองและโดยเฉพาะคนมาบตาพุดกี่คน เปิดเผยได้หรือไม่ หรือเป็นการอ้างชื่อกลุ่มขึ้นมามากมาย ให้ดูมีจำนวนมากๆ เพื่อเป็นการรณรงค์ทางการเมืองโดยไม่มีฐานรากที่แท้จริง เพราะไม่ใช่กลุ่มตัวแทนของชาวมาบตาพุด จังหวัดระยองที่แท้จริงหรือไม่

10.กลุ่มนี้ชอบปิดทางออก เช่น ยืนกระต่ายขาเดียวว่ารัฐบาลจะเข้าข้างนายทุนสถานเดียว กล่าวหาว่ารัฐบาลไม่เห็นหัวคนจน ทั้งที่คนจนต้องการอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นแหล่งงานของตนจากการขายอาหารหรือบริ การต่างๆ แก่พนักงานโรงงานอีกต่อหนึ่ง หรือกล่าวหาว่าประชาชนถูกซื้อโดยนายทุน ทั้งที่พวกเขาคือเสียงส่วนใหญ่ของชาวมาบตาพุดและชาวไทยที่ต้องการให้ประเทศมีพัฒนาการที่ดีผมขอเสนอทางออกเพื่อโปรดพิจารณา ดังนี้ :

1.ขอให้นายกรัฐมนตรีฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ฟังแต่เสียงของคนกลุ่มนี้ โดยรัฐบาลจัดทำการลงประชามติให้ชัดเจนในเวลาอันรวดเร็ว โดยให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางล่วงหน้า ในการนี้รัฐบาลพึงระวังไม่ให้องค์การใดๆ พยายามบิดเบือน ทำลายการจัดประชุมเผยแพร่ข้อมูล หรือปิดกั้นการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ

2.รัฐบาลอาจพิจารณายุบคณะกรรมาการ 4 ฝ่าย และแต่งตั้งใหม่โดยมีผู้แทนของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่ผู้ที่เห็นค่าของสิ่งแวดล้อมเลื่อนลอยมากกว่าประชาชนและประเทศชาติโดยรวม

3.ต่อกรณีการปล่อยมลพิษของโรงงานหลายแห่งในพื้นที่ถือเป็น การละเมิดกฎหมาย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องสมควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน มีการลงโทษโดยเคร่งครัด ทั้งต่อผู้รักษากฎหมาย โรงงาน กลุ่มบุคคลหรือองค์การอื่น

4.ภาคประชาชนจริงควรจัดตั้งคณะทำงานเฝ้าระวัง ดำเนินการตรวจ สอบต่อเนื่อง โดยอาจร่วมกับองค์การอิสระต่างๆ ตลอดจนเอ็นจีโอและสถา บันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการต่อเนื่องเช่นนี้จะเป็นการป้องปรามและสามารถนำกรณีการละเมิดกฎหมายและทุจริตประพฤติมิชอบต่างๆ มาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การต่อสู้ขององค์การพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

5.รัฐบาลอาจพิจารณาซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย ที่เกษตรกรรมและอื่นๆ  ที่อยู่ในบริเวณที่จำเป็นสำหรับการขยาย ตัวของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงการจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ซึ่งอาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถูกเวนคืนยินดีที่จะย้ายออกโดยพลัน

6.รัฐบาลควรดำเนินการเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการมีผู้แทนของภาคประ ชาชนในพื้นที่ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน โดยไม่ให้ความสำคัญเฉพาะนักวิชาชีพหรือองค์การบางกลุ่ม

เอ้า...ก็มีทั้งชี้สิ่งไม่ควรทำ และเสนอสิ่งควรทำ มีความเห็นกันอย่าง ไร ว่ากันได้เต็มที่ครับ.

ADVERTISEMENT
ข่าวที่เกี่ยวข้อง