CSR ที่แท้ของสถาบันการเงิน: กรณี SCB
  AREA แถลง ฉบับที่ 183/2558: วันพฤหัสบดีที่ 02 กรกฎาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            CSR ที่แท้ของสถาบันการเงินคืออะไรกันแน่ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเป็นแค่ "ผักชีโรยหน้า" เทียบไม่ได้กับ CSR ที่แท้ที่สถาบันการเงินทั้งหลายควรมี

            กรณีเรื่องภาพลบที่เกิดขึ้นกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในช่วงที่ผ่านมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะที่เคยบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง CSR ที่คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ ตลอดจนเป็นกรรมการในคณะกรรมการ CSR ของหอการค้าไทย จึงให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้

            SCB เป็นธนาคารชั้นแนวหน้าของไทย แต่ที่ผ่านมามีข่าวคราวในแง่ลบเกิดขึ้น ทั้งกรณีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) และการไม่รับผู้สมัครจากสถาบันอื่นนอกเหนือจากที่กำหนด ทำให้ภาพพจน์ของ SCB เสียหายทั้งที่ SCB ก็พยายามทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของ CSR ของวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน

            เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวกรณี สจล. (http://goo.gl/uvfywN) ที่มีการยักยอกเงินของ สจล.มานานรวมเป็นเงินเกือบ 1,500 ล้านบาท ซึ่งคงเป็นความร่วมมือระหว่างคนใน สจล. และเจ้าหน้าที่ของ SCB และในที่สุด SCB ก็ชดใช้ค่าเสียหายให้ตามจำนวนนี้ ซึ่งนับเป็นความเสียหายอย่างมากของ SCB  และในระหว่างการส่งมอบหลักฐาน ก็ยังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสำนักงานใหญ่ของ SCB แต่ทาง SCB ก็ชี้แจงว่าหลักฐานคดีนี้ไม่ถูกไฟไหม้ไปด้วย

            และล่าสุดก็มีข่าวมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พิจารณาจะเลิกทำธุรกรรมทางการเงินกับ SCB เพราะ "มีข่าวว่าธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศรับสมัครงานจากบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเพียง14แห่ง (ไม่มีราชภัฏ ราชมงคล รามคำแหงและอื่นๆ) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ออกมาชี้แจงว่าเป็นการสื่อสารผิดพลาด (ผู้บริหาร) เห็นว่าสิ่งที่ธนาคารชี้แจงเป็นเพียงการแก้ตัว และสะท้อนให้เห็นว่าทางธนาคารไม่มีจิตสำนึกและทัศนคติดีต่อสังคม อีกทั้งทำให้เกิดการแตกแยกสังคมด้วยการกีดกั้นและแบ่งแยกมาตรฐานบัณฑิต" (http://bit.ly/1LFo6cF)

            เมื่อ 10 ปีก่อน ก็เคยมีข่าวด้านลบต่อพนักงานให้ทำงานหนักเพื่อก้าวเป็นยูนิเวอร์แซลแบงก์กิ้ง จนเกิดแรงบีบและกดดันให้พนักงานธนาคารฆ่าตัวตายถึง 3 คน "รายแรกเป็นผู้จัดการสาขาสุขสวัสดิ์ รับแรงกดดันไม่ไหว กระโดดตึกเสียชีวิต รายที่ 2 เป็นผู้จัดการสาขา สระแก้ว เครียดมากจากการบังคับของสำนักงานใหญ่ให้เดินตามกรอบยูนิเวอร์แซลแบงก์กิ้งที่ฝรั่งสร้างขึ้น หันมาดื่มเหล้าจนเสียชีวิต จากเดิมที่ไม่เคยดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เลย และรายล่าสุดที่ เป็นพนักงานหญิงสาขาสุโขทัย เสียชีวิตทั้งที่ยังตั้งท้อง 7 เดือน" (http://goo.gl/8I2M1O)

            ในทางตรงกันข้าม SCB ก็พยายามทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างดีเยี่ยมมาโดยตลอด โดยมีปณิธานที่จะ "ยึดมั่นในหลักจริยธรรมทางธุรกิจและการกำกับ ดูแลกิจการที่ดีควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งรวมถึงลูกค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงาน โดยได้ริเริ่มสร้างสรรค์ โครงการ และกิจกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการสร้างรากฐาน สานต่อ ก่อเครือข่าย และขยายผลในระยะยาวเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดจน สนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าผาสุกของสังคมส่วนรวม (http://goo.gl/m7hcU6)

            กรณีนี้ให้เห็นว่า CSR ในมิติที่ลอย ๆ จากความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้าและสังคมโดยรวมนั้น อาจเป็นเพียงแค่การบำเพ็ญประโยชน์ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของวิสาหกิจนั้น ๆ เช่น กรณี ปตท. ปลูกป่านับล้านไร่ แม้จะถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ที่ดี แต่ก็ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของ ปตท. ประเด็นความรับผิดชอบที่แท้จริงของวิสาหกิจประเภทสถาบันการเงิน จึงอยู่ที่อะไรกันแน่  รายละเอียดอาจเป็นดังนี้

            1. ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นนับเป็นประการแรก กรณีที่ต้องชดใช้เงินแก่ สจล. เป็นเงินถึงเกือบ 1,500 ล้านบาท อาจกระทบต่อผู้ถือหุ้นและพนักงานเป็นอย่างมากในแง่การจ่ายเงินปันผลและโบนัส เพราะเท่ากับอยู่ดี ๆ ก็ขาดทุนไปเฉยๆ นับพันลาย

            2. ความรับผิดชอบต่อพนักงานก็เป็นอีกประการหนึ่ง การบีบคั้นพนักงานมาก ก็แสดงถึงการขาด CSR ในแง่หนึ่ง ในรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจถูกครอบงำและเน้นเส้นสายผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่ในกรณีสถาบันการเงิน คงเน้นที่ความสามารถมากกว่าสถาบันที่จบ จึงสามารถชี้แจงได้ไม่ยากนัก 

            3. ความรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ให้ลูกค้าเชื่อถือได้ในสถาบันการเงินว่าผู้บริหารหรือพนักงานของสถาบันการเงินไม่โกงเงินลูกค้า ทั้งนี้คงต้องมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพเป็นที่เชื่อถือของลูกค้ามากกว่าการ "อมพระมาพูด"

            ปัจจัยการผลิตหลักของแต่ละวิสาหกิจอาจแตกต่างกัน ถ้าเป็นโรงงานคงเป็นเครื่องจักร กรณีบริษัทวิชาชีพ ก็คงเป็นพนักงาน  กรณีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็คงเป็นที่ดิน ส่วนกรณีสถาบันการเงินก็คงเป็นเงิน (ต่อเงิน) เป็นสำคัญ หากขาดความน่าเชื่อถือ ก็เท่ากับทำให้กระแสการเงินหดหายไปได้ อย่างไรก็ตามพนักงานก็มีความสำคัญ หากยังขาดความโปร่งใสในแง่ของการใช้เส้นสาย ก็ย่อมไม่ได้พนักงานที่ดีมีความสามารถมาให้บริการเท่าที่ควร

            การที่ SCB ชี้แจงว่าพนักงาน SCB 4,348 คนที่เพิ่งรับใน 2 ปีนี้จบจากสถาบันที่หลากหลาย (http://goo.gl/Hg8aCw) เป็นการนำเสนอที่ดี อย่างไรก็ตามหากเทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมด 25,521 คน ณ ไตรมาส 1/2558 (http://goo.gl/4G3c5y) แสดงให้เห็นว่าพนักงานถึงเกือบหนึ่งในห้าเพิ่งรับเข้าทำงานในรอบ 1 ปีเศษที่ผ่านมาเท่านั้น แสดงถึงการรุเก่ารับใหม่เป็นจำนวนมาก อาจฝึกอบรมไม่ได้ทั่วถึง

            โดยที่สถาบันการเงินมีลักษณะกึ่งผูกขาด เพราะมีการจำกัดจำนวนสถาบันการเงิน และขาดการแข่งขันจากต่างประเทศ การขาดความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่ของดอกเบี้ยจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ถ่างห่างกันมาก เพราะขาดการแข่งขันเสรีนั่นเอง ผู้บริโภคจึงกลายเป็นผู้เสียเปรียบของสถาบันการเงิน เมื่อภาพพจน์ของสถาบันการเงินเป็นเช่นนี้แล้ว การบำเพ็ญประโยชน์แบบ "ผักชีโรยหน้า" หรือ "ลูบหน้าปะจมูก" จึงไม่ได้ช่วยเสริมสร้างแบรนด์ให้กับสถาบันการเงินแต่อย่างใด

            ท่านใดสนใจเกี่ยวกับเรื่อง CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถ Download หนังสือ "CSR ที่แท้" ที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้เขียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ http://www.csr-thai.blogspot.com

อ่าน 4,717 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved