กรณีสาวถูกตัดไฟฟ้า ขับรถพุ่งชน พนง. ไฟฟ้า บอกอะไรกับสังคม
  AREA แถลง ฉบับที่ 194/2558: วันพฤหัสบดีที่ 09 กรกฎาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            กรณีสาวขับรถชนพนักงานการไฟฟ้าที่ไปตัดไฟนั้น หากค้างค่าไฟ ก็สามารถตัดได้ แต่ค้างค่าส่วนกลางตัดไฟ นิติบุคคลไม่มีสิทธิตัดไฟ และปัญหาการไม่จ่ายค่าส่วนกลางนำไปสู่ความเสื่อมถอยของมูลค่าทรัพย์สินในที่สุด

            เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ศกนี้ มีข่าวว่า "สาวเลือดร้อนฉุนถูกตัดไฟ ขับเก๋งไล่ชน พนง.ล้มคว่ำ ตร.ตั้งข้อหาพยายามฆ่า" โดยในรายละเอียดของกล่าวมีว่า "คลิปจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นเหตุการณ์สาววัย 30 ปี บันดาลโทสะด้วยการขับรถพุ่งชนพนักงานรับจ้างตัดกระแสไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง เขตนนทบุรี ขณะขี่ จยย. จนร่างผู้เสียหายกระเด็นออกจากรถ จากนั้นรถยนต์คันดังกล่าวได้ถอยรถยนต์พุ่งชนผู้เสียหายแต่ผู้เสียหายได้กระโดดขึ้นไปที่กระโปรงรถทัน รถยนต์คันดังกล่าวได้ถอยหลังอย่างเร็วจนผู้เสียหายหล่นจากกระโปรงรถยนต์ แต่ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวยังไม่ยอมหยุด ถอยรถยนต์คันก่อเหตุอีกครั้งและพุ่งชนซ้ำจนร่างกระเด็น" (http://goo.gl/F7oSQ5)


www.youtube.com/watch?v=-X6jRE3M4Xs&spfreload=10

            ในกรณีนี้อาจมองได้ในหลายมิติ แต่มิติหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ก็คือ การบริหารทรัพย์ส่วนกลาง ในฐานะที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เป็นที่ปรึกษาของสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จึงขอให้ความเห็นดังนี้:

            1. ในกรณีปกติ หากเจ้าของบ้านในโครงการบ้านจัดสรรหรืออาคารชุด ไม่จ่ายค่าไฟฟ้า การไฟฟ้าก็ย่อมมีสิทธิที่จะตัดไฟได้ตามสัญญาที่ให้บริการของการไฟฟ้าอยู่แล้ว

            2. แต่หากเป็นในกรณีที่ผู้อยู่อาศัย ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง นิติบุคคลอาคารชุดจะตัดไฟไม่ได้ เพราะมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย  ไม่สามารถไปตัดได้ อย่างไรก็ตามในกรณีน้ำประปา สามารถตัดได้ เพราะการประปาขายน้ำให้นิติบุคคคล และนิติบุคคลส่งต่อไปให้ห้องชุดแต่ละห้องอีกทีหนึ่ง

            3. ในกรณีที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง นิติบุคคลไม่สามารถที่จะห้ามเจ้าของห้องชุดเข้าไปในอาคารได้ แต่อาจระงับ Key Card ผู้เป็นเจ้าของห้องยังสามารถเข้าไปในห้องได้อยู่ดี เพียงแต่อาจไมได้รับความสะดวก ไม่มี Key Card เข้าอาคาร ต้องแลกบัตรเช่นเดียวกับแขกผู้มาเยี่ยมเยียนทั่วไป

            อย่างไรก็ตามหากไม่มีการจ่ายค่าส่วนกลาง หรือมีผู้จ่ายจำนวนน้อย ไม่เพียงพอที่จะจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อาจดูแลทรัพย์ของลูกค้าหรือผู้อยู่อาศัยในห้องชุดได้ ก็จะทำให้ห้องชุดมีราคาถูกลง เสื่อมค่าลง เป็นผลเสียต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะเจ้าของห้องชุดทุกคน

การเปลี่ยนแปลงราคาที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ พ.ศ.2537-2557


อ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

            จากแผนภูมิข้างต้น จะเห็นได้ว่าห้องชุดพักอาศัยราคาค่อนข้างถูกโดยเฉพาะกรณีพิงอัมพรคอนโด ราคาห้องชุดอาจไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดการดูแลเท่าที่ควร โดยฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส  พบว่าโครงการนี้เปิดขายในปี พ.ศ.2533 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ในราคา 280,000 บาท ในพื้นที่ขนาด 24 ตารางเมตร ในขณะนี้ยังมีราคาเรียกขายอยู่ประมาณ 200,000 - 300,000 บาท แล้วแต่การตบแต่งในแต่ละห้อง เท่ากับว่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา การลงทุนไม่ได้งอกเงยขึ้นแต่อย่างใด

อ่าน 4,071 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved