การสรรหาแบบไทยๆ ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย: กรณีกรรมการสิทธิ
  AREA แถลง ฉบับที่ 216/2558: วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            AREA แถลงฉบับนี้ เป็นการนำเสนอความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เกี่ยวกับการสรรหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

การสรรหาแบบไทยๆ ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย: กรณีกรรมการสิทธิ
โสภณ พรโชคชัย

            ในเช้าวันนี้ (22 กรกฎาคม 2558) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดใหม่ (http://goo.gl/li8aeg) จำนวน 7 คน และหลังจากนี้คณะกรรมการสรรหาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะเสนอรายชื่อที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 7 คนต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะที่ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการเพื่อที่ประชุมสภาให้เห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

            สำหรับคณะกรรมการสรรหา (http://goo.gl/hfxprP) ประกอบด้วย
            1. ประธานศาลฎีกา
            2. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
            3. ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร
            4. นายเพ็ง เพ็งนิติ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก
            5. นายเฉลิมชัย วสีนนท์ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก

            ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหา ได้สรรหาบุคคล 7 คนจากการสมัครรับการสรรหาของบุคคลที่เห็นว่าตนเองมีคุณสมบัติและได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการแล้วจำนวนถึง 121 คน (http://goo.gl/EymQhn)

            อย่างไรก็ตามกรณีการสรรหานี้ดูคล้ายกับการมีประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสรรหาโดยเฉพาะแบบไทย ๆ นี้ ไม่ต้องตามหลักประชาธิปไตย เพราะ
            1. ในการคัดเลือกของคณะกรรมการ 7 คนนั้น ไม่ได้แสดงเห็นผลให้เป็นที่ประจักษ์ว่า 7 คนที่ได้รับการสรรหา หรือการเลือกสรรของคณะกรรมการนั้น เหมาะสมกว่าท่านอื่นอย่างไร กรณีนี้ถือเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นสำคัญ
            2. แม้กรรมการมีตำแหน่งน่าเชื่อถือ แต่ก็ใช่ว่า จะมีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นบุคคลเชื่อถือกว่าข้าราชการหรือบุคคลอื่นจริงหรือไม่ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นกรรมการสรรหา ส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษา
            3. การที่กรรมการคนหนึ่ง ๆ จะเลือกใครนั้น อาจขึ้นอยู่กับฉันทาคติหรืออคติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เสนอตัวให้กับการคัดเลือก จะมีเครื่องยืนยันหรือพิสูจน์ได้อย่างไรว่า กรรมการคัดเลือกไม่ได้มีความชอบพอกับใครเป็นพิเศษหรือไม่
            4. การสรรหาในบางกรณีเช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังให้บุคคลในองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในวิชาชีพหรือวงการเดียวกันเลือกสรรกันเอง ดังนั้นใครที่มี "พวกมาก" ก็อาจ "ลากไป" ตามน้ำ โดยไม่มีหลักประกันถึงความโปร่งใสแต่อย่างใด

            ทางออกที่สมควรในการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการในองค์กรอิสระใด ควรกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน แล้วให้มีการคัดเลือกโดยประชาชนโดยตรง หรืออย่างน้อยก็นักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ในกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชน ควรเป็นผู้ที่ได้ดำเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมจริง แล้วให้ประชาชนเลือกโดยตรง หรือให้ผู้ที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนเป็นผู้เลือกเป็นต้น

อ่าน 1,386 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved