ปฏิรูปสงฆ์ไทยผ่านประสบการณ์ดูสังเวชนียสถาน
  AREA แถลง ฉบับที่ 224/2558: วันจันทร์ที่ 03 สิงหาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            AREA แถลงฉบับนี้ เป็นการนำเสนอความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เกี่ยวกับการปฏิรูปพระสงฆ์ในประเทศไทย

ปฏิรูปสงฆ์ไทยผ่านประสบการณ์ดูสังเวชนียสถาน
ดร.โสภณ พรโชคชัย

            ผมไปสังเวชนียสถานมา 2 ครั้งแล้วครับ เมื่อปี 2552 และ 2554 แต่ยังไม่เคยบวช หลายท่านบอกว่าไปบวชในที่เหล่านี้คงได้กุศลแรง แต่ผมก็ไม่สู้จะเห็นด้วย เพราะน่าจะอยู่ที่ใจมากกว่า และไม่คิดว่าเราจะพึงยึดติดอะไรมากมายปานนั้น การไปบวชหรือจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถานนี้ ต้องใช้เงินทองไม่น้อย ค่าจีวรใหม่อะไรก็คงเป็นเงินพอสมควร ผมแทบไม่เคยเห็นพระรูปไหน ทั้งบวชใหม่บวชเก่าที่ห่มจีวรเก่าคร่ำคร่าเลย แต่ก็คงไม่ต้องถึงขนาดใช้ผ้าบังสุกุลในสมัยเริ่มแรก เพราะต่อมาพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้รับผ้าจากฆราวาสได้

            ผมเห็นคนไปบวช โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ต่างก็นุ่งผ้าหรือเสื้อหนาวกันหลายชั้น จีวรก็ห่มไว้เป็นพิธีมากกว่าจะอาศัยผ้า 3 ผืนตามบัญญัติของพระพุทธเจ้า บ้างก็ยังมีถุงเท้า ถุงน่อง หมวก ถุงมือ ในข้อนี้บางท่านก็อาจอ้างว่า ตนยังไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับความหนาวเหน็บประมาณ 12 องศาได้ แต่ถ้าคิดในอีกแง่หนึ่ง หากเราตั้งใจมาบวชเพื่อสละกิเลสบนแผ่นดินที่พระพุทธเจ้าเคยเผยแพร่ศาสนา ไหนเลยจะย่อท้อต่ออุปสรรคเพียงเท่านั้น แต่คงเป็นเพราะเรามาบวชเพื่อหวังบุญกุศล ก็เลยไม่คิดจะละกิเลสต่างหาก

            ว่ากันว่าในเมืองไทยของเรา พระสงฆ์กำลังเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบวชเพื่อละจากความเป็นพระราชาผู้มีทรัพย์ศฤงคารมหาศาล มาสู่ความเป็นยาจก หรือสละทุกอย่าง ไม่รังเกียจกระทั่งจัณฑาล แต่พระสงฆ์ไทยหรืออาจจะพระสงฆ์ในประเทศอื่นในปัจจุบันนี้เช่นกันที่พอได้บวช ก็เท่ากับละจากความเป็นยาจก กลายมาเป็นผู้มีฐานะในสังคม เป็นเศรษฐี พอบวชเสร็จก็ได้รับการถวายปัจจัย หรือกระทั่งไปเรี่ยไร ร่ำรวยกันไปมากมาย ยิ่งถูกกราบไหว้มาก ๆ เข้า ก็อาจเป็นบ้าไปได้เพราะหลงว่าตนมีอำนาจ วิเศษ กลายเป็นเทพเทวดาที่อยู่เหนือหัวชาวบ้านไป

            ผมเห็นคนที่ไปแสวงบุญ ไปวัด ไปทานอาหารในวัดไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นของดี ๆ ทั้งคาวหวาน และเหลือทิ้งไว้มากมายอย่างน่าเสียดาย ท่านผู้ไปแสวงบุญคงไม่ได้มุ่งไปชำระจิตใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การเดินทางไปก็ใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 7-14 วัน แทนที่จะตั้งใจไปละกิเลส นึกถึงพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างด้วยการทำตัวสมถะ แต่คงกลับไปสะสมบุญไว้ชาติหน้า หรือหวัง "ล้างบาป" เสียมากกว่า

            ยิ่งหากเป็นกองคาราวานแสวงบุญของส่วนราชการใหญ่โตหรือคหบดีรายใหญ่ ๆ ที่ยกโขยงไปประมาณ 50-80 คนด้วยแล้ว ก็จะมีกองครัว พร้อมแม่ครัว 3-5 คนและลูกมือ ไปทำอาหารให้ทานกันถึงที่เลย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องตระเตรียมสิ่งของไปมากมาย นัยว่าคนไทยเหล่านั้นท่านไม่คุ้นลิ้นกับรสชาติอาหารอินเดีย นี่ก็เป็นการไปสะสมกิเลส หรือท่องเที่ยวมากกว่าการไปแสวงบุญ

            ตกลงการไปบวชหรือไปแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถานของคนส่วนใหญ่ คงไม่ได้ไปชำระล้างจิตใจ แต่ไปเที่ยว ไปสะสมบุญดังว่ามากกว่า เช่นนี้แล้ว จะเป็นการสืบต่อศาสนาอะไรมากกว่าไปเพื่อตัวเอง ทำอย่างนี้อาจสืบต่อศาสนาได้แต่ในรูปแบบ แต่น่าจะเป็นการกัดกร่อนศาสนามากกว่า เพราะไม่ได้เข้าถึงแก่นธรรมของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อเราเห็นนักบวชที่แลดูสกปรกรุงรัง แต่พวกเขาก็อาจเข้าถึงแก่นธรรมมากกว่าพระหรือผู้จาริกแสวงบุญจำนวนมาก

            เราจึงควรทบทวน จรรโลงศาสนาให้ถูกทาง

พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จุดหมายยอดฮิตแห่งแรกของการเดินทาง

อุปสมบทหมู่ที่สังเวนียสถานก็เป็นกิจกรรมยอดฮิตเช่นกัน นัยว่าได้บุญแรงนัก

การพากันไปสวดมนต์กันที่สังเวนียสถาน ก็เป็นกิจกรรมทางศาสนาที่พบเห็นทั่วไป

อาหารเหลือเฟือ ไปแล้วก็คงไม่ได้ละกิเลส

เสบียงกรังมากมายพร้อมแม่ครัวอีกชุดใหญ่

ผู้ตัดกิเลส พบหน้าทำเนียบไวท์เฮาส์ กรุงวอชิงตันดีซี

อ่าน 2,186 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved