ให้ความเป็นธรรมกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
  AREA แถลง ฉบับที่ 236/2558: วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มลพิษแม่เมาะมีอยู่จริงหรือไม่ แล้วส่งผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินอย่างไรบ้าง ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ในฐานะอาจารย์ผู้สอนชุดวิชากฎหมายทรัพย์สินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นสูง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงได้นำคณะนักศึกษา ออกทดลองปฏิบัติการภาคสนามในพื้นที่เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2555 มารายงานประกอบการศึกษาและนำเสนอเพื่อประโยชน์สาธารณะ

มลพิษและสิ่งแวดล้อม
            ในพื้นที่มีการรายงานผลการตรวจอากาศทุกวันตามภาพที่ 1 ท้ายนี้ สถานการณ์มลพิษทางภาคเหนือปรากฏว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter หรือ PM10) ในเดือนเมษายน 2555 นั้นไม่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นทั้งในเขตเมืองลำปางและบริเวณรอบ ๆ เหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง {1} ทั้งนี้มีรายงานที่สูงเกณพ์มาตรฐานเพียง 1 วันซึ่งพบทั้งที่ศาลหลักเมืองจังหวัดลำปาง และที่สำนักงานการประปาแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 

ผลการตรวจวันคุณภาพสิ่งแวดล้อมบ้านห้วยคิงซึ่งมีมลพิษต่ำกว่าเกณฑ์

รายงานการตรวจมลพิษทางอากาศจังหวัดลำปาง เดือนเมษายน 2555

สภาพชุมชนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่อยู่ห่างจากเหมืองไม่มากนัก

            อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแม่เมาะเคยปล่อย ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมามากเกินมาตรฐาน แต่หลังจากการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซดังกล่าวที่ปล่องแล้ว ปรากฏว่าการปล่อยก๊าซนี้ลดลงอย่างชัดเจน จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่นำเสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่า นับแต่ปี 2541-2553 ปริมาณก๊าซนี้ในอากาศในกรุงเทพมหานครกลับมีสูงกว่าในเหมืองแม่เมาะมาโดยตลอด {2}

            ยิ่งกว่านั้น ผลการศึกษาที่ผ่านมายังพบว่ามลพิษหลักในเขตภาคเหนือเกิดจากการเผาป่ามากกว่า อย่างอื่น {3} กรณีนี้ก็ควรนำเสนอเพื่อให้สังคมโดยรวมเข้าใจว่า กิจการไฟฟ้านี้มีคุณต่อประเทศชาติและไม่ได้เป็นตัวการหลักในการสร้างปัญหา ต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เว้นแต่ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมืองขุดถ่านหินหรือใกล้กับบริเวณทิ้งดินจากการ ขุดทำเหมือง เป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญและดูแลเป็นพิเศษเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนโดย รอบ นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมือง ยังมีเขตที่อยู่อาศัยถาวรของเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้อยู่อาศัยอีกด้วย

บ้านห้วยคิง และบ้านดง ที่ประสบปัญหามลพิษจากเหมืองแม่เมาะ

            อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจเบื้องต้น คณะผู้ศึกษาเห็นว่า ในกรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบและประสงค์จะย้าย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ควรให้การสนับสนุนการย้ายโดยจ่ายค่าทดแทน ตามความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งการทำความเข้าใจต่อเนื่องเกี่ยวกับแหล่งที่มาของมลพิษเพื่อความเข้า ใจของประชาชน

การสำรวจหมู่บ้าน
            คณะผู้ศึกษาทั้งหมดออกปฏิบัติการภาคสนาม โดยพิจารณาประเด็นการเปลี่ยนแปลงราคาทรัพย์สินกับมลพิษ ศึกษาในกรณีเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และในการนี้ได้ทำแบบสอบถามกับประชาชนใน 2 หมู่บ้านคือ บ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเหมือง ใกล้กับพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินจึงมีเสียงและความสั่นสะเทือน และบ้านดง หมู่ 2 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของเหมือง ใกล้กับพื้นที่ทิ้งดินจากการขุดเหมือง ซึ่งมีฝุ่นจากการทิ้งดินมากเป็นพิเศษ

อาคารในบ้านดง หมู่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ ซึ่งมีจำนวนมากที่ปลูกด้วยไม้มีค่า

            ผลการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในทั้งสองหมู่บ้านประมาณครึ่งหนึ่งตั้งใจจะย้ายออกจากหมู่บ้าน อีก 19% ไม่แน่ใจ และมีเพียง 13% ที่ไม่ต้องการย้าย ทั้งนี้ที่บ้านห้วยคิงมีผู้ต้องการย้ายเพียง 45% และชาวบ้านที่อยู่ริมถนนไม่ต้องการย้ายเพราะได้ประโยชน์จากการทำการค้าต่าง ๆ ส่วนชาวบ้านที่อยู่ด้านในหมู่บ้านต้องการจะย้าย แต่ในกรณีบ้านดง 55% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการจะย้าย ที่ไม่ต้องการมี 33% และอีก 13% ไม่แน่ใจ

            สำหรับภาวะมลพิษในชุมชนพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ 62% เห็นว่าสถานการณ์แย่ลง ที่เห็นว่าดีขึ้นมีเพียง 13% และที่เห็นว่าเหมือนเดิมเมื่อเทียบกับปีที่แล้วมี 25% ในกรณีบ้านห้วยคิง สถานการณ์ดีกว่า คือมีเพียง 42% ที่เห็นว่าสถานการณ์มลพิษแย่ลง แต่อีก 19% และ 39% เห็นว่าสถานการณ์มลพิษดีขึ้นหรือเหมือนเดิม แต่ที่บ้านดง ประชาชนถึง 80% เห็นว่าสถานการณ์มลพิษแย่ลง มีเพียง 8% ที่เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นและอีก 13% เห็นว่าสถานการณ์เหมือนเดิม แต่จากผลผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม: คุณภาพอากาศ (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) {4} พบว่า สิ่งแวดล้อมไม่ได้มีมลพิษมากเช่นความรู้สึกของประชาชนในท้องที่ ดังนั้นจึงควรมีการสำรวจในรายละเอียดต่อไป

            ต่อข้อถามว่ามลพิษในอากาศเกิดจากอะไรเป็นสำคัญ โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามเรียงลำดับความสำคัญเป็นระดับที่ 1-3 ตามลำดับ และใช้การ Inverse {5} เพื่อแปลงค่าให้ชัดเจน ผลการสำรวจพบว่ามลพิษจากเหมืองมีส่วนสำคัญมากที่สุดคือ 46% รองลงมาคือมลพิษจากรถยนต์ 28% และจากไฟป่า 27% สถานการณ์ที่บ้านห้วยคิงมีแนวโน้มดีกว่า กล่าวคือ เห็นว่ามลพิษจากเหมืองมีเพียง 39% ที่เหลือมาจากมลพิษจากรถยนต์ 32% และจากการเผาป่า 28% ส่วนในกรณีบ้านดง มีความเห็นว่ามลพิษหลักมาจากการทิ้งดินของเหมืองถึง 53% รองลงมาเป็นมลพิษจากไฟป่าและรถยนต์ที่ใกล้เคียงกันคือ 24% และ 23% ตามลำดับ

            สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ก็คือ ชาวบ้านประเมินว่าราคาบ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 11.8% และราคาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 11.1% ในบ้านห้วยคิง ส่วนที่บ้านดง ราคาบ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 9.4% และราคาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 8.2% อย่างไรก็ตามการประมาณการของชาวบ้านในกรณีนี้ยังไม่อาจถือว่าสอดคล้องกับ ความเป็นจริง เพราะประชาชนส่วนหนึ่งพยายามระบุว่าราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก เพราะต้องการได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติม จึงทำให้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงถึงประมาณ 25.2% - 44.1% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยราคา

            จากการสังเกตเชื่อว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยคงไม่เพิ่มขึ้นมาก นัก แต่อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมอาจมีโอกาสเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะมีผู้สนใจซื้อไปปลูกยางพาราเพราะเชื่อว่าจะสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ นี้ อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอแม่เมาะ ก็ยังไม่พบการซื้อขายจริงแต่อย่างใด และยังไม่มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ปรากฏให้เห็นชัดเจน

สภาพทาวน์เฮาส์ในใจกลางตลาดตัวอำเภอแม่เมาะที่เสนอขายราคา 1.8 ล้านบาท

การสำรวจอสังหาริมทรัพย์
            ในวันที่ 20 เมษายน 2555 ดร.โสภณ พรโชคชัย ยังได้มีโอกาสไปสำรวจราคาที่ดินโดยได้ข้อมูลจากเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงาน ที่ดินอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และเจ้าหน้าที่ พบว่า มีการโอนซื้อขายที่ดินกันบ้างแต่ไม่มากนัก เพียง 40 รายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ส่วนในปี 2554 ทั้งปีมีการโอนที่ดินกันเพียง 20 รายเท่านั้น

            สำหรับราคาที่ดินของทางราชการที่ประเมินไว้เป็นบัญชีเพื่อการจัดเก็บภาษี และนิติกรรมโดยกรมธนารักษ์ ในเขตตัวอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางนั้น ราคาติดถนนสายหลักของเขตอำเภอ ที่จะประกาศใช้ในเดือนกรกฎาคม 2555-ธันวาคม 2558 นั้น สูงถึงตารางวาละ 1,500 บาท ซึ่งเพิ่มสูงกว่าราคาตามบัญชีปี 2551-2554 ที่ประเมินไว้ 1,200 บาท หรือเพิ่มขึ้นราว 25%

            ส่วนราคาที่ดินของทางราชการในหมู่บ้านที่มีข่าวเรื่องมลภาวะนั้น ราคาที่ดินที่ประกาศใช้ในปี 2555-2558 เพิ่มสูงกว่าราคาตามบัญชีปี 2551-2554 เพียงเล็กน้อย เช่น ในบริเวณถนนสายหลักของตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ราคาเพิ่มขึ้นจาก 625 บาทต่อตารางวา เป็น 675 บาทต่อตารางวาเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้นเพียง 8% เท่านั้น

            สำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์ในใจกลางตลาดอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เช่น อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ขนาดประมาณ 16 ตารางวา ขนาดอาคารประมาณ 80 ตารางเมตร จากการสำรวจภาคสนามพบว่า ราคาเรียกขายสูงถึง 1.8 ล้านบาทต่อหน่วย หากว่าต่อรองแล้วราคาขายจริงเป็นเงิน 1.6 ล้านบาท ราคานี้สามารถหาซื้อได้ที่แถวถนนประชาอุทิศ ทุ่งครุ แถวเขตบางแค หรือเขตประเวศ ฝั่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

            หากสมมติว่าในส่วนของกำไร ภาษี ค่าดำเนินการ ดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 30% ของราคาขาย ก็จะพบว่าต้นทุนในส่วนของอาคารและที่ดินควรเป็นประมาณ 1.12 ล้านบาท และหากประมาณการว่าค่าก่อสร้างอาคารเป็นเงินตารางเมตรละ 8,600 บาท หรือเป็นเงิน 0.688 ล้านบาท ต้นทุนในส่วนของที่ดินเปล่าจึงเป็นเงิน 0.432 ล้านบาท หรือเป็นเงินตารางวาละประมาณ 27,000 บาท อาจกล่าวได้ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในเขตตัวอำเภอแม่เมาะนี้เพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว

ข้อสังเกต: วัฒนธรรมชุมชน
            ที่ผ่านมามักมีการกล่าวอ้างเสมอว่า การย้ายชุมชนจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน การกล่าวอ้างนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการโยกย้ายชุมชนหรือประชาชน ออกนอกพื้นที่เดิม ทั้งนี้โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นผลเสียต่อวัฒนธรรมชุมชนเป็นต้น ในกรณีนี้หากไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ควรย้ายชุมชนให้เกิดความเดือดร้อนใด ๆ

            อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีความจำเป็น ซึ่งการโยกย้ายก็สามารถทำได้หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดหาที่ อยู่อาศัยให้เหมาะสม อย่างเช่นกรณีอำเภอแม่เมาะที่มีการค้นพบว่าบริเวณใต้ที่ตั้งอำเภอเป็นแหล่ง ถ่านหินขนาดใหญ่ จึงได้โยกย้ายชาวบ้าน วัด โรงเรียนและอื่น ๆ ออกนอกพื้นที่ เพื่อขุดหาถ่านหิน จนสภาพปัจจุบันกลายเป็นขุมเหมืองลึกและมีขนาดใหญ่มาก ส่วนตัวอำเภอใหม่และประชาชนได้รับการโยกย้ายออกห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 15 กิโลเมตร
            การโยกย้ายนี้ปรากฏว่าทำให้ประชาชนในเขตตัวอำเภอไม่ได้รับมลพิษจากการทำ เหมือง เช่นชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง แต่ละครัวเรือน ได้รับที่ดินแปลงใหญ่ มีสาธารณูปโภคใหม่ครบครัน และปัจจุบันราคาที่ดินก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ชาวบ้านมีความมั่งคั่งและความสุข จะสังเกตได้ว่าประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในชุมชนริมเหมืองปัจจุบันยินดีจะย้าย เพราะหวังจะได้รับค่าทดแทนที่สูงเช่นกัน ดังนั้นประเด็นเรื่องการทำลายวัฒนธรรมชุมชนจึงไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น
            ในแง่หนึ่งเพราะอุตสาหกรรมถ่านหินและไฟฟ้านี้เอง ที่ทำให้อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และพื้นที่โดยรอบเจริญเติบโตขึ้นมาเหนืออำเภออื่นของจังหวัดลำปางเช่นทุก วันนี้ทั้งที่ตัวอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางเข้าไปในเขตป่า เขาถึง 20 กิโลเมตร ประชาชนบางส่วนให้ข้อมูลว่า หากไม่มีกิจการไฟฟ้าแม่เมาะ หรือหากในอนาคตหากปิดกิจการนี้ อำเภอแม่เมาะก็คงเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ และไม่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้  
บทสรุป
            มลพิษโดยเฉพาะฝุ่นละอองยังมีปรากฏอยู่จริงในพื้นที่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ ใกล้เหมือง โดยเฉพาะหมู่บ้านดง ที่อยู่ทางด้านเหนือของเหมืองใกล้กับบริเวณที่ทิ้งดินที่ขุดขึ้นมาจากเหมือง นั่นเอง แต่ในหลาย ๆ บริเวณอื่นคยปรากฏเป็นข่าวนั้น อาจเกิดจากความเข้าใจผิด เพราะมลพิษฝุ่งละอองในอากาศ ส่วนใหญ่เกิดจากไฟไหม้ป่าเป็นสำคัญ คณะผู้ศึกษาเห็นว่าในกรณีจำเป็นก็อาจพิจารณาย้ายชุมชนออกไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

            อย่างไรก็ตามการดำรงอยู่ของเหมืองและโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะนี้มีคุณูปการต่อ การพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหามลพิษก็ได้ดำเนินการอย่างจริงจังโดยเฉพาะการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และทำให้อำเภอแม่เมาะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้การพัฒนาอยู่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง
{1} ข้อมูลระบบเตือนภัยมลพิษทางอากาศ จังหวัดลำปาง http://www.lampangceo.com/warn_air/reports/month.php?y=2012&m=4
{2} ข้อมูลจากตารางสถิติของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
{3} ปัญหามลพิษ http://infofile.pcd.go.th/air/Smoke_North.pdf?CFID=8348303&CFTOKEN=21251666 และโปรดดูกรณีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้ที่ http://www.publicconsultation.opm.go.th/rubfung67/doc38.pdf
{4} ข้อมูลที่นำเสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย http://www.egat.co.th/gis
{5} Inverse Funcion: http://en.wikipedia.org/wiki/Inverse_function

* คณะผู้ศึกษา ประกอบด้วย ดร.โสภณ พรโชคชัย และ พ.ต.ท.สมชาย กาวิเนตร พ.ต.ท.หญิง นวกร คำดี นายชัยวัฒน์ แสนภิบาล ร.ต.ท.เสรี เตียมวงค์ น.ส.น้ำอ้อย พันกับ พระนิติพจน์ ขุนพินิจ และนักศึกษาที่เข้าเรียนอีกจำนวนหนึ่ง
 

อ่าน 6,029 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved