โรงไฟฟ้า เมือง และรีสอร์ตอยู่ด้วยกันได้!?!
  AREA แถลง ฉบับที่ 238/2558: วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            พวกต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มักถามด้วยความโกรธเกรี้ยวว่า ถ้าใครอยากได้โรงไฟฟ้า กล้าเอาไปไว้หลังบ้านตนเองไหมล่ะ อันที่จริง เอามาไว้หลังบ้านผมก็ได้ครับ ไม่อันตรายจริงๆ แต่ตั้งโรงไฟฟ้าให้ชาวใต้อยู่กรุงเทพฯ แล้วส่งไปไปใต้ให้ชาวใต้ใช้ จะไม่ทำให้ชาวใต้ดูใจจืดใจดำไปหน่อยหรือครับ

            ผมเห็นพี่น้องชาวใต้กลุ่มหนึ่ง 'บังอาจ' ขัดคำสั่ง คสช. มาชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าจนท่านนายกฯ ชายชาติทหารของผม ต้องหลบออกจากทำเนียบทางประตูข้างมาแล้ว ผมสงสารท่านนายกฯ จับใจ และไม่รู้ว่าผู้ชุมนุมไปกินดีหมีมาจากไหน หรือมีความมั่นใจใจข้อมูลแค่กัน ผมในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง จึงขออนุญาตมองต่างมุมเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายนะครับ

โรงไฟฟ้าอยู่ใกล้เมืองได้ครับ
            ในเรื่องความปลอดภัย รับประกันได้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้ถ่านหินบิทูมินัสแบบเดียวกับไทยนั้น ในมาเลเซียมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 7 โรง เฉพาะที่แหลมมาลายูของไทยมี 4 โรง ถ้าไม่ดีจริง ก็คงไม่มีโรงไฟฟ้าหรอกครับ
            1. Jimah Power Station โรงงานนี้สร้างอยู่ริมทะเล ไม่ได้สร้างอยู่บนฝั่งเช่นโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่สำคัญอยู่ใกล้แหล่งรีสอร์ตขนาดใหญ่และสวยงาม และชุมชน เคยมีผู้ร้องว่าจะไม่ปลอดภัยต่อชุมชนเมื่อปี 2552 แต่จนบัดนี้ก็ไม่เคยมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เมื่อตรวจสอบจากความเห็นทั้งทางบวกและลบต่อรีสอร์ตใกล้โรงไฟฟ้า ก็ไม่มีใครบ่นเรื่องนี้แต่อย่างใด
            2. โรงไฟฟ้า Manjung ก็สร้างออกมานอกฝั่งเล็กน้อย อยู่ใกล้รีสอร์ตและชุมชน แต่ก็ไม่มีเสียงบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่แสดงให้เห็นชัดว่า โรงไฟฟ้าไม่ได้มีผลเสียอย่างเด่นชัดต่อชุมชนดังที่พวกเอ็นจีโอพยายามสร้างภาพให้น่ากลัว
            3. โรงไฟฟ้า KPAR ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์เพียง 56 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าใกล้มาก เช่นระยะทางจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (กม.0) ไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต (กม.42 จากดินแดง) ขนาดชาวกรุงกัวลาลัมเปอร์ยังไม่กลัว โรงงานก็สร้างก่อนไทยที่จะมีเทคโยโลยีที่ใหม่กว่าเสียอีก
            4. โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tangjung Bin ของมาเลเซียนี้อยู่ติดชายแดนสิงคโปร์ ถ้ามีปัญหา สิงคโปร์ก็คงคงไม่ยอมเช่นกัน นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตีโต้ความเชื่อผิดๆ ของ NGOs

            ในมาเลเซียผลการศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย และมหาวิทยาลัยเคบังซาน ร่วมกับนักวิจัยอิสระซึ่งผลการศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 (http://goo.gl/BHb6yb ) พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีผลต่อสุขภาพ ดังนั้นเราจึงไม่ควรเชื่อคำพูดข่มขู่ประชาชนด้วยความกลัวแต่อย่างใด เอาโรงไฟฟ้ามาสร้างแถวยานนาวาบ้านผมก็ยังได้ มาเลเซียทำสำเร็จมาแล้วครับ

พื้นที่ชุ่มน้ำก็ทำโรงไฟฟ้าได้
            พวกเอ็นจีโอยังบอกว่าบริเวณที่จะสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ต้องรักษาไว้ ห้ามสร้างโรงไฟฟ้า นี่คือการ "แหกตา" โดยแท้ ดูตัวอย่างได้ในมาเลเซีย เขาสร้างได้โดยไม่มีผลกระทบ ยิ่งไทยใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า อันตรายจึงแทบไม่มี ที่เอ็นจีโอพยายาม 'ชักแม่น้ำทั้งห้า' คงหวังจะใช้พลังงานสะอาดต่าง ๆ เช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังงานลม แต่แหล่งพลังงานเหล่านี้ก็คงไม่เพียงพอ หาไม่คงไม่ต้องขุดเจาะน้ำมันหรือถ่านหินมาใช้อย่างแน่นอน ต้นทุนจากแหล่งพลังงานอื่นแพงกว่าถ่านหินมาก ในขณะที่ถ่านหินก็ยังพิสูจน์การใช้อย่างปลอดภัยมาแล้วทั่วโลก

            บางทีเข้าใจราวกับว่าพื้นที่ชุ่มน้ำนี้แตะต้องอะไรไม่ได้เลย เป็นประหนึ่ง 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์' ที่หากแตะต้องแล้วจะทำให้สิ่งแวดล้อมพังภินท์ลงหรืออย่างไร นี่เป็นข้ออ้างที่ขาดเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง ในความเป็นจริง โรงไฟฟ้ากระบี่ผลิตไฟฟ้าถ่านหินลิกไนท์มาตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปี 2538 ในห้วงดังกล่าว โรงแรมรีสอร์ตต่าง ๆ เกิดขึ้นสวนทางเป็นดอกเห็ดในพื้นที่กระบี่ และตั้งแต่ปี 2547 ได้มีการปรับระบบเผาไหม้ให้ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติม http://goo.gl/RmHCeB) ยิ่งตัวโรงงานก็ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งอีกด้วย ดังนั้นข้ออ้างเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำจึงตกไป

ดูความกล้าหาญของมาเลเซีย
            ในมาเลเซีย มีพื้นที่ชุ่มน้ำแบบเดียวกับไทยอยู่หลายแห่ง แต่มีอยู่ 3 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า Tanjung Bin Power Station ซึ่งเปิดดำเนินการบางส่วนตั้งแต่ปี 2549 หรือ 9 ปีที่แล้ว โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กำลังจะเปิดอีกส่วนหนึ่ง และยังมีท่าเรือขนาดใหญ่มีลานขนถ่ายสินค้ายาว 4 กิโลเมตร (คลองเตยยาวเพียง 1 กิโลเมตร) และมีพื้นที่กว้างขวางกว่าท่าเรือคลองเตยนับสิบเท่า โดยเป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์โดยเฉพาะ

            ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนาดยักษ์อยู่ติดกับพื้นที่ชุ่มน้ำเลย ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรเลย แต่สำหรับในประเทศไทย พวกเอ็นจีโอนำพื้นที่ชุ่มน้ำมาอ้าง นี่คือการ 'แหกตา' หลอกลวงประชาชนไปหรือไม่ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพึงพิจารณา เพราะมีกรณีที่เกิดขึ้นจริงในมาเลเซียที่พื้นที่ชุ่มน้ำกับการพัฒนาโรงงานถ่านหินอยู่ติดกันเลย แถมสร้างอยู่ปากแม่น้ำอีกต่างหาก ในขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่สร้างบนบก และมีเพียงท่าเทียบเรือที่ยื่นลงไปในน้ำ

ประเทศอื่นก็ใช้ถ่านหินทั้งนั้น
            ทุกวันนี้ในประเทศเพื่อนบ้านเราต่างมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น ไทยเราเองก็มี 5 โรง ไม่มีข่าวร้ายเลย ยกเว้นแม่เมาะในสมัยก่อน อินเดียมี 139 โรง จีนมี 80 โรง ออสเตรเลียมี 32 โรง ญี่ปุ่น 31 โรง  อินโดนีเซีย 19 โรง  ฟิลิปปินส์ 9 โรง เวียดนาม 8 โรงและมาเลเซีย 7 โรง แม้แต่สิงคโปร์ก็เริ่มมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว เขาใช้ถ่านหินบิมูมินัส กันทั้งนั้น

            ในนครสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศอันดับหนึ่งของกัมพูชา ก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ลงทุนโดยนักลงทุนมาเลเซียโรงหนึ่ง และของจีนอีกด้วย  โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์หงสาในเขตประเทศลาว ก็ทำสำเร็จแล้ว โดยได้โยกย้ายประชาชนถึงราว 2,000 คน ในครั้งนั้นมี NGOs ออกไปยุยงปลุกปั่นชาวบ้านเช่นกัน แต่ในลาว พวก NGOs คงไม่สามารถกระทำตามอำเภอใจได้ ยิ่งกว่านั้นโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCPของไทยที่ระยอง ก็อยู่กลางทะเล นี่ถือเป็นบทพิสูจน์ความปลอดภัยว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสมัยใหม่มีความปลอดภัย

            ดูตัวอย่างนี้ จึงไม่พึงกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ไม่อันตรายแน่นอน เมื่อก่อนโรงนี้ใช้ลิกไนท์ที่อันตรายกว่ามาตั้งนานแล้ว ก็ไม่เกิดมลภาวะ รีสอร์ตยิ่งเกิดเพิ่มขึ้นกันใหญ่ โรงใหม่ที่จะสร้างจะใช้ถ่านหินบิทูมินัสที่ดีกว่าลิกไนท์มาก ชนิดเดียวกับที่ใช้ที่สิงคโปร์-มาเลย์ แต่ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ใหม่กว่าเพราะสร้างทีหลัง ยิ่งกว่านั้นมาเลย์สร้างในพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ไม่มีผล ใช้มา 9 ปีแล้ว ห่างจากสิงคโปร์แค่ 9 กม.เอง อย่าให้ใครมาปั่นหัวเราให้ตกอยู่ในความกลัว เขาพิสูจน์มาแล้ว

ถ่านหินสกปรกที่ไหน?
            ไม่มีถ่านที่ไหนสะอาด รวมทั้งถ่านหิน คำว่า 'ถ่านหินสกปรก' จึงเป็นการบิดเบือน แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าถ่านแล้วย่อมสกปรก แต่ทั่วโลกมีกระบวนการผลิตที่สะอาด แม้แต่ไฟฟ้าพลังลมยังส่งมลภาวะทางเสียงออกมา ประเด็นจึงอยู่ที่การจัดการมากกว่า ถ่านหินบิทูมินัสที่ใช้เป็นถ่านหินชั้นดีกว่าถ่านหินลิกไนต์และได้รับการพิสูจน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซียที่ตั้งอยู่ริมทะเล (กระบี่อยู่บนผืนดินห่างจากทะเล) หลายโรง อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ตลอดจนโรงแรมรีสอร์ตต่าง ๆ ก็ไม่ได้ก่อมลภาวะอะไร ผลการศึกษาที่ผ่านก็ชี้ว่าไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
            ถ่านหินมีหลายชนิด เรามาเรียนจากตำราสมัยมัธยมกัน (http://goo.gl/E3OMcs)
            1. ลิกไนต์  (Lignite) หรือถ่านหินสีน้ำตาล เป็นถ่านหินที่มีซากพืชเหลืออยู่เล็กน้อย ลักษณะเนื้อเหนียวและผิวด้าน มีปริมาณออกซิเจนและความชื้นต่ำ มีปริมาณคาร์บอนสูงกว่าพีต เมื่อติดไฟมีควันและเถ้าถ่านมาก
            2. ซับบิทูมินัส (Sub–bituminous) เป็นถ่านหินที่เกิดนานกว่าลิกไนต์ มีสีน้ำตาลจนถึงดำ ลักษณะมีทั้งผิวด้านและผิวมัน มีทั้งเนื้ออ่อนร่วนและแข็ง มีปริมาณออกซิเจนและความชื้นต่ำ
            3. บิทูมินัส (bituminous) เป็นถ่านหินที่เกิดนานกว่าซับบิทูมินัส มีเนื้อแน่นและแข็ง มีทั้งสีน้ำตาลจนถึงสีดำ มีปริมาณออกซิเจนและความชื้นต่ำ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการถลุงโลหะ
            4. แอนทราไซต์ (Anthracite) เป็นถ่านหินที่มีอายุการเกิดนานที่สุด มีสีดำ ลักษณะเนื้อแน่น แข็ง และเป็นมัน มีปริมาณออกซิเจนและความชื้นต่ำ มีควันน้อย ให้ความร้อนสูง
            โดยสรุปแล้ว ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จัดการได้ อยู่ในเมืองก็ยังได้ อย่าได้กลัวจนเกินเหตุ โดยเฉพาะถ่านหินบิทูมินัส

สรุปโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ใกล้เมืองได้
            ตอนตั้งโรงไฟฟ้าใกล้ย่านชุมชนในยุคแรก ชาวบ้านบางกลุ่มก็หวาดวิตกบ้างเช่นกัน แต่ขณะนี้ก็เงียบเสียงไปบ้างแล้ว แต่แน่นอนก็ย่อมมีเอ็นจีโอบางแห่งไปพิสูจน์ สัตว์บางชนิดหรืออะไรที่จะหาเรื่องให้เห็นว่าถ่านหินไม่ดีอยู่วันยังค่ำ แม้แต่ที่กระบี่ ก็ยังไปถามชาวบ้านตามคลองรอบ ๆ โรงไฟฟ้าว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งก็คงมีบ้างในยุคถ่านหินลิกไนต์ แต่ในยุคใหม่ที่ใช้ถ่านหินคุณภาพดี และกระบวนการผลิตที่ดี ปัญหาก็จะแก้ตกไปแบบมาเลเซีย สิงคโปร์และกัมพูชานั่นเอง

            ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยช่วยกันสนับสนุนรัฐบาลท่านสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ให้สำเร็จเถอะครับ นับจากโรงไฟฟ้าราชบุรีลงมาแล้ว ก็มีโรงไฟฟ้านี้แหละครับที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับชาวใต้ ภาคใต้  ไม่ใช่ต้องไปซื้อไฟจากเมียนมาหรือมาเลเซีย แล้วส่งไปให้ชาวใต้ใช้อยู่ร่ำไป อย่างนี้อนาคตคนใต้คงกลายเป็นอนางออย่างแน่นอน

            ใช้วิชชาสู้อวิชชาเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน  อย่าให้ใครใช้ความกลัวมาลวงเรานะครับ




อ่าน 3,737 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved