เมือง มลพิษ กับเอ็นจีโอขายชาติ
  AREA แถลง ฉบับที่ 247/2558: วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่กับมลพิษที่กลัวกันจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ประเทศไทยของเราก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาบตาพุดแบบที่จะสร้างที่กระบี่ แถมตั้งอยู่ติดทะเล และไม่ได้ก่อมลพิษเสียด้วย ผมไปสำรวจที่แม่เมาะมา ชุมชนแถวนั้นก็ไม่ได้รับผลกระทบ ยกเว้นผู้ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าและไม่ได้ย้ายออกเป็นสำคัญ ส่วนคดีที่ให้ กฟผ. เสียค่าปรับ ก็เป็นคดีเก่า เรามาดูกันว่าพวกเอ็นจีโอส่งเสริมโรงไฟฟ้า 'สะอาด' ที่แสนสกปรก สู้ถ่านหินสกปรกที่แสนสะอาดไม่ได้อย่างไร

            ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า แม้ผมเองจะเป็น 'กูรู' ด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่มุมมองที่นำเสนอนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการทำกำไรนะครับ ผมเป็นนักวิจัยและผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ประเมินมาทั่วโลก แต่เพื่อความเป็นกลาง ผมจึงไม่ทำกิจการนายหน้า หรือไม่พัฒนาที่ดินหากำไรเอง แม้จะเป็นสัมมาอาชีวะ เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับการเป็นนักวิชาชีพและนักวิชาการ ดังนั้นจึงอย่าได้เข้าใจว่าผมมาหาผลประโยชน์ใดๆ นะครับ

มลพิษแม่เมาะที่ต้องเข้าใจใหม่
            เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการตัดสินของศาลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านใกล้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่กรณีนี้เกิดขึ้นนานแล้ว ปัจจุบันไม่ได้มีผลกระทบเช่นเดิมจนนำไปสู่การฟ้องร้องกันอีก และประเด็นสำคัญอยู่ที่ชาวบ้านเหล่านั้นยังไม่ได้โยกย้ายออกจากที่เดิมซึ่งอยู่ติดกับโรงไฟฟ้า จึงเกิดปัญหาขึ้น

            เมื่อเดือนเมษายน 2555 ตอนไปสอนนักศึกษาปริญญาโทที่ลำปาง ผมพานักศึกษาไปสำรวจในพื้นที่ (http://goo.gl/6etE51) ได้พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้เป็นทั้งในเขตเมืองลำปางและบริเวณรอบ ๆ เหมืองแม่เมาะ ในอดีตที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแม่เมาะเคยปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมามากเกินมาตรฐาน แต่หลังจากการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซดังกล่าวที่ปล่องแล้ว ปรากฏว่าการปล่อยก๊าซนี้ลดลงอย่างชัดเจน นับแต่ปี 2541-2553 ปริมาณก๊าซนี้ในอากาศในกรุงเทพมหานครกลับมีสูงกว่าในเหมืองแม่เมาะมาโดยตลอด

            ยิ่งกว่านั้น ผลการศึกษาที่ผ่านมายังพบว่ามลพิษหลักในเขตภาคเหนือเกิดจากการเผาป่ามากกว่า อย่างอื่น กรณีนี้ก็ควรนำเสนอเพื่อให้สังคมโดยรวมเข้าใจว่า กิจการไฟฟ้านี้มีคุณต่อประเทศชาติและไม่ได้เป็นตัวการหลักในการสร้างปัญหา ต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เว้นแต่ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมืองขุดถ่านหินหรือใกล้กับบริเวณทิ้งดินจากการ ขุดทำเหมือง เป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญและดูแลเป็นพิเศษเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนโดย รอบ นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมือง ยังมีเขตที่อยู่อาศัยถาวรของเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้อยู่อาศัยอีกด้วย

            สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ก็คือ ชาวบ้านประเมินว่าราคาบ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 11.8% และราคาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 11.1% แต่กรณีนี้ชาวบ้านอาจต้องการประเมินให้สูงเพื่อต้องการได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามสำหรับในตัวอำเภอแม่เมาะซึ่งห่างจากโรงงานประมาณ 10 กิโลเมตรนั้น อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ขนาดประมาณ 16 ตารางวา ขนาดอาคารประมาณ 80 ตารางเมตรมีราคาขายจริงเป็นเงิน 1.6 ล้านบาท ราคานี้สามารถหาซื้อได้ที่แถวถนนประชาอุทิศ ทุ่งครุ หรือเขตประเวศ ฝั่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น  อาจกล่าวได้ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในเขตตัวอำเภอแม่เมาะที่ไม่มีมลภาวะนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อนาถ ต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ลาว
            ตอนนี้ประเทศไทยเข้าทำนอง "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" คือโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถสร้างในประเทศไทยได้ ต้องไปสร้างที่ลาว อย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 1,878 เมกะวัตต์ โดยจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่ กฟผ. เป็นหลัก โดยมีการลงทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 3,700 ล้านดอลลาร์ นี่ถ้าโรงไฟฟ้านี้ไม่ปลอดภัยจริง ลาวคงไม่อนุญาตให้สร้าง แต่ประเทศไทย 'ดรามา' สร้างไม่ได้

            ตอนนี้บริษัทผลิตไฟฟ้าของไทยไปผลิตไฟฟ้าในเมียนมา และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ โครงการหนึ่งก็คือไปผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่มะริดเพื่อส่งไฟมาขายยังภาคใต้ของไทย (http://goo.gl/xsJzTH) แต่คนใต้ไม่ว่าจังหวัดใด ถูกเอ็นจีโอปั่นหัว ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าใด ๆ ในพื้นที่ของตนเอง ทั้งที่ภาคใต้ต้องการไฟฟ้าสูงมาก เพราะมีโรงแรม รีสอร์ตอยู่เป็นจำนวนมาก และการท่องเที่ยวรวมทั้งอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างมากมาย

มลพิษมาบตาพุดต้องเข้าใจใหม่แล้ว
            เมื่อปี 2552 ผมเคยพาคณะไปสำรวจมลพิษมาบตาพุดในนามของประธานมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยและนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (http://goo.gl/P2Nkh2) ได้พบว่าประชากรส่วนใหญ่ (65.3% หรือสองในสาม) ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป ต่างจากที่พวกเอ็นจีโอบอก สำหรับด้านมลพิษ กลุ่มที่เชื่อว่าป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพราะมลพิษ มีเพียง 0.69% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าจำนวนผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษมีไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อทั่วไปที่ว่ามลพิษได้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในบริเวณมาบตาพุด

            สาเหตุหลักของการตายของประชาชนในจังหวัดระยอง ในปี 2548 เป็นเพราะสาเหตุภายนอกการป่วยและการตาย (เช่น อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย) ถึง 15% อย่างไรก็ตามสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งและเนื้องอกในจังหวัดระยองกลับมีสัดส่วนต่ำกว่าระดับทั่วประเทศ การเปรียบเทียบจำนวนประชากรที่ป่วยหรือรู้สึกไม่สบายระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พ.ศ. 2550 ก็พบว่ามีสัดส่วนประชากรที่ป่วยในระดับทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 18.16%  ในขณะที่ในมาบตาพุด มีประชากรที่ “เจ็บป่วยเล็กน้อย” ในการอยู่อาศัยในพื้นที่เพียง 9.83%
            พวกเอ็นจีโอพยายามจะให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งฟังดูดี แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแหล่งอุตสาหกรรมหนัก หากไม่ตั้งที่ระยอง ก็คงไม่มีที่จังหวัดไหนให้ตั้งได้อีก แต่การตั้งที่ระยอง ทำให้เศรษฐกิจของชาวระยองและประชาชนโดยรวมดีขึ้น ชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่น ๆ ก็มาทำงานที่นี่เป็นอันมาก เศรษฐกิจพัฒนาก็เพราะการนี้ แต่เอ็นจีโอพยายามไม่พูดถึงเลย

            จากข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์ของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดระยองขยายตัวต่อเนื่อง  แม้ว่าในเขตใกล้ ๆ มาบตาพุดจะแทบไม่มีโครงการใหม่ แต่โครงการใหม่ ๆ เกิดอยู่แถวตัวเมืองระยอง บ้านฉาง บ้านเพ แกลง กร่ำ ซึ่งห่างจากนิคมมาบตาพุดเพียง 10 กิโลเมตร หากเวนคืนที่ดินชาวบ้านรอบๆ มาบตาพุด แล้วให้พวกเขาย้ายออกไปสัก 10-20 กิโลเมตร พวกเขาคงยินดีที่จะอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า แต่พวกเอ็นจีโอคงไม่ยอม!

โรงไฟฟ้าถ่านหินมาบตาพุด
            โรงไฟฟ้าถ่านหินบิทูมินัสของบีแอลซีพีที่จังหวัดระยองมีพื้นที่ทั้งหมด 602 ไร่ โดยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย ตัวโรงไฟฟ้า ท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน และลานกองถ่านหิน การขนส่งถ่านหินจำนวนมากก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับชุมชนใกล้เคียง โดยใช้การขนส่งทางเรือผ่านสายพานลำเลียงที่มีแผ่นกำบังลมปิดโดยรอบ โดยจะมีการสเปรย์น้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย

            การดำรงอยู่ของโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ ปลอดภัยแน่นอน พวกเอ็นจีโอพยายามหาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การจับปลาได้แต่ลดลงมาต้านโรงไฟฟ้า แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ชัดว่าโรงไฟฟ้านี้ดูแลสิ่งแวดล้อมนี้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเทียบกับกระบี่ที่แต่เดิมโรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่คุณภาพต่ำกว่า แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบ แม้พวกเอ็นจีโอจะหาเหตุร้องก็ตาม เพราะสังเกตได้ว่าโรงแรมรีสอร์ทต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในระหว่างที่ใช้ลิกไนต์ (พ.ศ.2509-2538) ดังนั้นจึงอย่าไปเชื่อการ 'แหกตา' ของพวกเอ็นจีโอ

            ยิ่งกว่านั้น บทพิสูจน์ยังมีให้เห็นที่มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา ที่โรงไฟฟ้าอยู่ใกล้ชุมชนและเมือง โดยที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ได้มีมลพิษดังที่พวกเอ็นจีโอพยายามสร้างภาพมลพิษสกปรก อย่าไปเชื่อพวกลวงโลก โรงไฟฟ้า Tanjung Bin อยู่จ่อคอหอยสิงคโปร์และอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำของมาเลเซีย มีกิจกรรมดูนก (มีนก=ปลอดภัย) ที่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน Kpar 50 กม.จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ และไปดูคนตกปลาใกล้โรงไฟฟ้า Jimah โดยไร้ปัญหามลพิษ โปรดดูที่ http://goo.gl/qnGq52

เอ็นจีโอขายชาติหรือไม่
            จะสังเกตได้ว่าในการใช้ไฟฟ้านั้น ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีสัดส่วนเพียง 5.6% เท่านั้น แต่พวกเอ็นจีโออ้างว่าสามารถใช้ได้แทบ 100% ในจังหวัดกระบี่ซึ่งไม่เป็นความจริง แถมราคาต่อหน่วยแพงกว่า คือหน่วยละ 5.38 บาท ในขณะที่จากถ่านหิน มีราคาไม่ถึง 2 บาท  แต่พวกเอ็นจีโอก็อ้างว่ามีค่าเสียหายจากการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในกรณีแม่เมาะที่นำเสนอไปแล้วว่า เป็นเพราะการที่ไม่ได้ย้ายชาวบ้านออกไปให้ทันท่วงที

            เอ็นจีโอพยายามนำเสนอว่าถ่านหินเป็นพลังงานสกปรก แต่ในความเป็นจริงถ่านหินเป็นพลังงานที่แสนสะอาด ราคาถูกและมีแนวโน้มเติบโต ไม่ใช่ว่าทั่วโลกปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างที่พวกเอ็นจีโอโพนทะนา  ผลการศึกษาของสถาบันระดับโลกคือ MIT ชี้ว่าพลังงานจากถ่านหินมีแต่จะขยายตัวในอนาคต  เพียงแต่ต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหามลภาวะที่อาจเกิดขึ้น (http://web.mit.edu/coal) นี่เองที่จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หันมาใช้ถ่านหิน ซึ่งอาจขัดประโยชน์ของพวกประเทศตะวันตกที่หวังขาย 'พลังงานสะอาด' ผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังพวกเอ็นจีโอ

            ประเทศเช่นนอรเวย์ที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและลมได้เพียงพอก็เพราะประชากรน้อย (คล้ายลาว) แต่อย่างสวีเดนที่มีประชากรมากกว่า ก็ไม่สามารถพึ่งแสงแดดและลมได้ การซื้อเทคโนโลยีสะอาดนั้นแสนจะสกปรก เพราะต้นทุนในการซื้อเทคโนโลยีนี้แสนแพงนักหนา ผลิตออกมาแล้ว รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มายังต้องจ่ายค่าชดเชยให้เสียอีก นี่แสดงว่าพลังงานสะอาดนี้ฟันกำไรแบบสกปรกมาตั้งแต่การจัดซื้อแล้ว เพราะจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีต้นทุนสูงแต่อย่างใด แต่มีค่าลิขสิทธิ์แสนแพง เราจึงต้องเสียเปรียบประเทศตะวันตกที่ขายของแพงเหล่านี้ พวกเขาโกงกันแบบแสน 'สกปรก' ตั้งแต่เริ่มตั้งโรงไฟฟ้า 'สะอาด' กันแล้ว

            เอ็นจีโอควรช่วยเหลือชาติ ไม่ใช่ช่วยเถือชาตินะครับ

การวัดมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่องที่แทบไม่พบมลพิษ

บ้านในชุมชนที่ควรย้ายออก ปลูกด้วยไม้มีค่า (คงไม่อยากย้าย)

โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์หงสา สร้างอยู่ชายแดนไทย-ลาว

ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาไม่ปลอดภัย ลาวคงไม่ให้สร้างแน่

ที่ตั้งโครงการที่อยู่อาศัย มีน้อยในเขตมาบตาพุด แต่รอบๆ ขึ้นกันใหญ่

โรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ระยอง บทพิสูจน์ความปลอดภัย

ค่าไฟจากพลังงานทดแทนแพงกว่า ถูกตะวันตกสูบเลือดเนื้อ

อ่าน 10,447 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved