ระวังผังเมืองเละ ภาษีมรดกหาย โฉนดชุมชนจะบีฑาเรา
  AREA แถลง ฉบับที่ 269/2558: วันอังคารที่ 09 กันยายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            สัปดาห์นี้ผมขอรับใช้แฟนนานุแฟนของเดลินิวส์ด้วยเรื่อง "ฮอต" 3 เรื่องครับ คือตอนนี้ทางราชการกำลังวางผังเมืองให้ครบทุกจังหวัด จะส่งผลเสียจากความเละยังไง ผมจะแจงให้ฟัง ส่วนคนรวยๆ ก็ไม่ต้องกลัวภาษีมรดกอีกต่อไป เพราะมันกลายสภาพเป็น "ไม่มีตัวตน" หรือหายไปนั่นเอง ส่วนคนจนที่หวังได้รับความเท่าเทียมก็ฝันค้างไป และอีกเรื่องท่าทางไทยจะมีโฉนดชุมชน (คืออะไรอ่ะ) วันดีคืนร้ายชุมชนแออัดที่อยูแบบผิดกฎหมายข้างบ้านเรามานับสิบปี จะได้รับการรับรองสิทธิอยู่คู่เราไปชั่วกัลปาวสาน (บรื๋อ) มาลองดูกันครับ

ผังจังหวัดจะทำให้เราลำบาก
            ผมมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่เชียงใหม่ อยู่ในผังเมืองเขตพื้นที่สีเขียว แต่วันดีคืนร้ายเจ้าของที่ดินแปลงข้าง ๆ ก็ก่อสร้างอาคารโกดังสูงถึง 6 เมตร ชิดติดที่ดินแปลงเพื่อนของซึ่งสร้างเป็นเฉลียงไว้กินลมอยู่ข้าง ๆ ตกลงตอนนี้เลยได้แก่กินฝุ่น การบังคับใช้ผังเมืองที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงส่งผลกระทบต่อเราๆ ท่านๆ ได้เช่นกัน

            เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองจะจัดให้มีผังเมืองรวม 73 จังหวัดบังคับใช้ภายในปี 2558 โดยผังเมืองแบบใหม่นี้จะไม่มีวันหมดอายุ http://bit.ly/1X9AfuH) ข้อนี้ผมในฐานะประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เห็นว่า:
            1. ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ผมพบว่าผังเมืองทั้งหมดในประเทศไทยมี 215 ผัง หมดอายุไปแล้ว 94 ผัง หรือ 44% คงเหลือที่ยังไม่หมดอายุอีก 121 ผัง ในรายละเอียดพบว่าผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปมี 5 ผัง โดยผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 12 ปีแล้ว (2546) มีจำนวน 1 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 11 ปีแล้ว (2547) มีจำนวน 2 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 10 ปีแล้ว (2548) มีจำนวน 2 ผัง (http://bit.ly/1FeWyEa)
            2. การจัดทำผังเมืองรวมที่ไม่มีวันหมดอายุ แสดงว่าหากมีข้อผิดพลาดร้ายแรงก็จะไม่ได้รับการแก้ไข แม้ในทุกวันนี้ผังเมืองมีอายุเพียง 5 ปี แต่ก็แทบไม่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะสม อย่างกรณีพี้นที่สีเขียวทะแยงเขตลาดกระบัง ปรากฏว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจริงเพียง 28% (http://bit.ly/1fThrxM) สภาพที่แท้จริงเป็นอื่นแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขใด ๆ มานานแล้ว แม้จะได้รับการร้องเรียนเป็นอันมาก
            3. การจัดทำผังเมืองรวมที่ครอบคลุมพื้นที่ไม่ครบทั้งจังหวัด เป็นการ "ปล่อยผี" ให้กับพื้นที่นอกเขตผังเมืองรวม ทำให้การพัฒนายิ่งออกนอกบริเวณนอกเขตผังเมืองรวมเข้าไปใหญ่ กลายเป็นการกระจายความเจริญแบบเปรอะไปหมด ทำให้การพัฒนาขาดระบบระเบียบ เป็นการสร้างปัญหาในระยะยาว
            4. แต่หากทางราชการวางผังเมืองโดยวางทั้งจังหวัด ก็อาจกลายเป็นความผิดมหันต์ เพราะลำพังในพื้นที่ผังเมืองรวมที่ครอบคลุมเพียงบางส่วนของจังหวัด ยังวางผังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หากวางผังทั้งจังหวัด ก็คงยิ่งไม่ได้สำรวจหรือสำรวจไม่ครบถ้วน ยิ่งผิดพลาดซ้ำร้ายไปอีก เช่น จังหวัดนครราชสีมา มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครถึง 13 เท่า หรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครถึง 4 เท่า
            ผมจึงขอเสนอทางราชการว่าการจัดทำผังเมืองรวมควรให้ประชาชนมีโอกาสมีส่วนร่วม หาไม่ก็ถือเป็นการกระทำผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะอาจเป็นการวางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้นโดยที่ท้องถิ่นบังคับใช้ผังเมืองอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีการก่อสร้างอาคารผิดแผกไปจากที่มีการวางผังเมืองไว้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงสมควรมีหน่วยงานตรวจสอบการบังคับใช้ผังเมืองรวมของท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย

ภาษีมรดกที่มีแต่เหมือนไม่มี
            เพื่อนคนรวยๆ ของผมแทบจะกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะกลัวจะเสียภาษีมรดก แต่พอมีกฎหมายภาษีมรดกออกมา แต่ละคนก็เลิกโอดครวญ เพราะไม่ต้องกลัวอีกต่อไป กฎหมายนี้เป็นแค่เสือกระดาษ ไม่มีพิษสงอะไร ส่วนประชาชนที่หวังให้ภาษีมรดอกมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จะได้ไม่เกิดกรณีเส้นใหญ่ ขาใหญ่มาเบ่ง มาทำร้ายประชาชนคนเล็กคนน้อยอย่างที่เป็นข่าวบ่อย ๆ ก็คงสิ้นหวังไปตาม ๆ กัน เพราะภาษีนี้ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำใดเลย นี่แหละ "ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น"
            ภาษีมรดกของไทยคือภาษีที่เก็บจากกองมรดกหลังมรณกรรม โดยเก็บในอัตรา 10% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตรา 5% (พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 http://bit.ly/1i7HTWg) จำนวนเงินรวมสูงเกินไป อัตราภาษีที่จัดเก็บก็ต่ำเกินไป มีข้อน่าสังเกตว่า:
            1. ในกรณีประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้ผู้มีมรดกไม่เกิน 10 ล้านเยน (3 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก ต้องเสียภาษี 10% ไปจนถึงอัตราสูงสุดคือ 50% (https://goo.gl/QjyNfR)
            2. ในอังกฤษ ผู้ที่มีมรดกตั้งแต่ 350,000 ปอนด์ (18.15 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก โดยเสียสูงถึง 40% ของมูลค่า (https://goo.gl/4q43Fx)
            3. ในสหรัฐอเมริกา ราคาขั้นต่ำของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงินตั้งแต่ 2 ล้านดอลลาร์ (64.5 ล้านบาท) ขึ้นไปโดยเก็บในอัตราสูงสุด 20% (http://bit.ly/1JC2f4n)

            จะเห็นได้ว่าถ้าทอนด้วยค่าครองชีพ ทุกประเทศกำหนดขีดคั่นที่ต้องเสียภาษีไว้ต่ำกว่าไทยเสียอีก ยิ่งถ้าเรายกทรัพย์สินให้กับบุตรหลานในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นการให้ ตามกฎหมายระบุไว้ว่า “เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น" (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 40 พ.ศ. 2558 มาตรา 4 http://bit.ly/1KSloLY)
            ในทางปฏิบัติ หากผู้ใดคาดว่าจะมีกองมรดกไม่เกิน 100 ล้าน ก็รอให้ผู้นั้นถึงแก่กรรมเสียก่อน แล้วลูกหลานก็สามารถแบ่งกันได้โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีทรัพย์สินมาก ส่วนที่เกินก็ทยอยโอนให้ลูก ๆ คนละไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสียชีวิตกันไป ก็เท่ากับว่าผู้มีทรัพย์มากทั้งหลายก็ได้เลี่ยงภาษีได้ กฎหมายภาษีมรดกจึงเป็นกฎหมายที่มีแต่เหมือนไม่มี ไม่ได้มีผลบังคับกับคนรวย ๆ ที่รู้ช่องทางในการ "วางแผนภาษี" ได้อย่างมืออาชีพนั่นเอง

            อันที่จริงแนวคิดการเสียภาษีมรดกมาจากการลดความเหลื่อมล้ำและ สร้างความเท่าเทียมกัน อภิมหาเศรษฐีฝรั่งมีค่านิยมในการบริจาคเงินมหาศาลเพื่อสังคม เพราะเชื่อตามนายแอนดรูว์ คาร์เนกี อภิมหาเศรษฐีอเมริกันที่กล่าวว่า "คนที่ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างน่าอับอาย" (the man who dies thus rich dies disgraced) เขาบริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดให้การกุศลก่อนตาย เหลือไว้ให้ทายาทบางส่วน ซึ่งต่างจากคติไทยที่ยินดีตายอย่างร่ำรวย

โฉนดชุมชนกับกฎหมู่ชุมชนแออัด

            บางคนบอกว่าโฉนดชุมชนก็ดีเหมือนกัน จะได้ช่วยชาวบ้านที่ยากจนในชนบทมีที่ดินทำกิน แต่ในกรณีโฉนดชุมชนเมือง เขาจะออกให้ชุมชนแออัดโดยเฉพาะที่บุกรุกอยู่มาชั่วนาตาปี ท่านเชื่อหรือไม่ ชุมชนแออัดส่วนใหญ่ในกรุง เป็นพวกเช่าที่ปลูกบ้าน พอเจ้าของจะเอาที่ดินคืน พวกนี้เขาก็น้ำใจย้ายออก แต่ถ้าเป็นชุมชนบุกรุก พวกเขาจะดื้อแพ่ง อ้างความจน (ทั้งที่ไม่ได้จนจริงก็มีมาก) อย่างเพื่อนผมคนหนึ่งมีคอนโดหรูอยู่แถวทองหล่อ มีชุมชนแออัดอยู่ข้างๆ ขวางทางน้ำ แทนที่จะจัดระเบียบให้ดี กลับจะให้โฉนดชุมชนรับรองการอยู่อาศัยหน้าตาเฉย
            กรณีนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในหลักการเอกสารสิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง โดยมีเหตุผลดังนี้:
            1. การบุกรุกอยู่อาศัยอยู่อาศัยบนที่ดินของบุคคลอื่นหรือของทางราชการ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทางราชการจะออกมารับรองสิทธิให้ไม่ได้
            2. การบุกรุกอยู่อาศัยแบบผิดกฎหมายมาหลายสิบปี ถือว่าได้ “กำไรชีวิต” ไปแล้ว จะให้อยู่ต่อไปอย่างนี้โดยไม่มีที่สิ้นสุดย่อมเป็นไปไม่ได้ สมควรพอ พอเพียงเสียที
            3. การบุกรุกอยู่ในใจกลางเมืองอย่างผิดกฎหมายในลักษณะนี้ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนทั่วไปที่ต้องเก็บหอมรอมริบไปซื้อบ้านของตัวเอง อย่างถูกกฎหมายที่ตั้งอยู่นอกเมือง เดินทางออกจากบ้านก่อน 6 โมงเช้า และกว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำ เปลืองเงิน ไม่ปลอดภัยอีกต่างหาก แต่พวกนี้กลับอยู่สบาย ๆ
            4. ยิ่งในกรณีที่ดินริมคลอง การบุกรุกสร้างบ้านคร่อมคลอง กีดขวางทางน้ำ ทำให้ชุมชนและสังคมเดือดร้อน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะออกโฉนดชุมชนให้ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายร้ายแรง
            5. แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายแต่อยู่อาศัยริมคลอง ริมแม่น้ำ ทางราชการยังเวนคืนบ้านพักที่อยู่ริมคลองเหล่านี้เพื่อการสร้างถนนและเขื่อนป้อนกันน้ำท่วม การอยู่กีดขวางสร้างปัญหาต่อส่วนรวมเช่นนี้เป็นสิ่งพึงลด ละ เลิก และจะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
            ทางราชการพึงมีนโยบาย “รื้อแต่ไม่ไล่” สำหรับผู้บุกรุกริมคลองทั้งหลาย คือ เราจะปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะโดยหวังผลทางการเมืองในการลงคะแนนเสียงไม่ได้ ทางราชการไม่ควรช่วยเหลือพวกเขาแบบไม่ยั่งยืนไม่ได้  ยิ่งจะให้ใครมาบุกรุกอยู่อาศัยเอาเปรียบสังคมต่อไปยิ่งไม่ได้ และเพื่อการป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ในคลองหรือริมคลองไม่ควรมีบ้านโดยเฉพาะบ้านที่บุกรุกที่ดินบุคคลอื่นหรือทางราชการอยู่

สรุปว่า. . .
            ในเรื่องผังเมือง ต่อแต่นี้ ในแต่ละท้องถิ่นที่มีการวางผังเมือง ประชาชนเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องไปช่วยกันดู ช่วยกันคิด อย่าให้ใครมาวางผังเมืองแทนเราส่งเดชนะครับ ถ้าเราเสนอให้แก้ผังเมืองอะไรที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ต้องให้เขาตอบมาว่าทำไมไม่แก้ หาไม่อาจต้องพึ่งศาลปกครอง
            ในเรื่องภาษีมรดก สำหรับคนรวยก็สบายใจได้ ว่าไม่ "โดน" แน่นอน มีทางเลี่ยงได้ แต่สำหรับประเทศชาติโดยรวม ก็ไม่ได้อะไรจากภาษี "ปาหี่" นี้ เพราะไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำใด ๆ อย่างไรก็ตามกฎหมายมรดกที่เกลี่ยความมั่งคั่งจะเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง (ไม่ใช่แค่ในนาม) หรือประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินเช่นในประเทศตะวันตกเท่านั้น (ซึ่งไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อไหร่)
            ส่วนเรื่องโฉนดชุมชนที่ไม่มีในสารบบโฉนดของไทยและของนานาชาติ ก็อาจส่งผลให้เมืองมีชุมชนแออัดแปะไว้ไม่รื้อเปรอะไปหมด คนอยู่อาศัยในชุมชนเองก็คงไม่ได้สาธารณูปโภคที่ดี ส่วนประชาชนทั่วไปก็เสมือนถูกเอาเปรียบด้วยระบบโฉนดชุมชน เราไม่ควรให้เกิดอภิสิทธิ์แก่บุคคลเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะที่อ้างความจนนะครับ

ผังเมืองประจวบฯ ใหญ่กว่า กทม.ถึง 3 เท่า จะวางพลาดไหมนี่

ชุมชนแออัดนี้อยู่ฟรีมานาน แถมเช่าได้ด้วย จะได้โฉนดชุมชน!?!

อ่าน 3,363 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved