ด่วน! ระวัง ดร.สมคิดจะนำพาประเทศไปสู่หุบเหว
  AREA แถลง ฉบับที่ 294/2558: วันพุธที่ 30 กันยายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            นโยบายของดร.สมคิด อาจไม่ใช่ทางออกของประเทศ แต่อาจทำให้ประเทศไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะ การปล่อยกู้ในชนบทในภาวะที่การค้าฝืดเคือง จะได้ผลจริงหรือไม่ การผ่อนคลายกฎการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน อาจทำให้สถาบันการเงินพักอีกรอบเช่นปี 2540
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้วิพากษ์นโยบายและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติของรัฐบาลที่เสนอโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดังนี้:

การอำนวยสินเชื่อในชนบท
            การปล่อยกู้ 1.37 แสนล้านบาท ผ่าน 3 โครงการ เริ่มจากให้แบงก์รัฐปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านแบบไร้ดอกเบี้ย ใส่เงินลงไปตำบลละ 5 ล้านบาททั่วประเทศ รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็ก มุ่งหวังให้คนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย . . . (รวมทั้ง) ให้แบงก์รัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยเงินกู้แห่งละ 30,000 ล้านบาท รวม 60,000 ล้านบาท ให้กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เงินก้อนนี้ไปปล่อยกู้ต่อให้สมาชิก แบบไม่มีดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี" (http://bit.ly/1GfHvKR)

            ข้อนี้ ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า
            1. ในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ การลงทุนแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น หากมีการกู้เงินเกิดขึ้น เกรงจะเป็นการกู้ไปใช้หนี้แทน หรือไม่ก็กู้ไปใช้จ่ายโดยไม่ได้กลายเป็นทุน หดหายหมดไปอย่างสูญเปล่า สร้างหนี้สินจนต่อไปอาจยิ่งเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว กลายเป็นการสร้างปัญหาสังคม เท่ากับไม่นำพาแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
            2. การที่รัฐบาลมุ่ง "ปั้ม" ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นผลงานโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อชาตินี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง
            3. ยิ่งกว่านั้นการให้กู้เงินโดยไม่มีดอกเบี้ยจากธนาคารของรัฐ ก็ยิ่งทำให้ธนาคารเกิดความเสี่ยง ยิ่งต้องกันสำรองหนี้ไว้ ถึงแม้รัฐบาลจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสถาบันการเงินของรัฐ แต่ก็ควรมีความรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงิน มีมาตรการเตรียมไว้หากเสียหาย ทำให้ธนาคารได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงในอนาคต

การกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
            บ่อยครั้งที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยพยายามกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ แต่ปรากฏว่า
            1. เป็นการช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อให้ประชาชนผู้ซื้อบ้านตัดสินใจโอนบ้านโดยเร็วมากกว่า เพราะมาตรการส่วนมาก มุ่งเน้นการซื้อขายบ้านมือหนึ่งจากผู้ประกอบการที่ดิน ไม่ได้มุ่งช่วยให้ประชาชนทั่วไปได้ซื้อขายบ้านกันเอง ไม่เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบอย่างแท้จริง
            2. การลดค่าธรรมเนียมโอนต่าง ๆ นั้น แท้จริงเป็นภาระของผู้ขาย แต่ปกติผู้ขายก็จะผลักภาระให้กับผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง แต่ในการออกมาตรการช่วยเหลือ กลับพยายามบอกว่าเป็นภาระของผู้ซื้อ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องช่วย ซึ่งก็คือการช่วยผู้ขาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ
            3. รัฐบาลไม่เคยคิดที่จะแตะต้องสถาบันการเงินรายใหญ่ด้วยการเจรจาให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่จะพยายามลดดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่นำพาต่อช่องว่างความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก เท่ากับเกื้อธุรกิจยักษ์ใหญ่เป็นสำคัญหรือไม่
            4. ตั้งแต่ ดร.สมคิดมาเป็นรัฐมนตรี ก็ยังไม่เคยคิดที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศจากพวกเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ ที่ปล่อยที่ดินเปล่าทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้การพัฒนาที่ดินต้องออกไปนอกเมืองเรื่อย ๆ กลายเป็นภาระของรัฐในการสร้างถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และอื่น ๆ ออกไปนอกเมืองเรื่อย ๆ  ภาระภาษีนี้มีน้อยมาก ซ้ำยิ่งจ่ายยิ่งจะได้มูลค่าทรัพย์เพิ่มขึ้นจากความเจริญในท้องถิ่น แต่ ดร.สมคิดกลับไม่เคยกล่าวถึงเลย
            5. การกระตุ้นตลาดสำคัญก็คือการสร้างความมั่นใจกับผู้ซื้อว่า ซื้อแล้วได้บ้านแน่นอน จากการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านอย่างเป็นภาคบังคับ ทุกวันนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจอ้างชื่อเสียงที่ตนมี ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ซึ่งออกมาแบบอาสาสมัคร ไม่บังคับ รายเล็กก็ไม่คุ้มครองเพราะจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ทำให้เสียเปรียบรายใหญ่ ตกลงผู้บริโภคเลยไม่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ถ้าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ก็จะทำให้ตลาดบ้านได้รับการกระตุ้นมากกว่ามาตรการอื่น ๆ ที่ ดร.สมคิดเสนอเสียอีก
            นโยบายและมาตรการที่ ดร.สมคิดเสนอนั้น อาจใช้ได้ผลในยุคของนายกฯ ทักษิณ แต่อาจใช้ไม่ได้ผลในยุคนายกฯ ประยุทธ์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้โอกาสการลงทุนในชนบทมีจำกัดกว่าแต่ก่อนเสียอีก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงในการลงทุนในขณะนี้ ดังนั้นหากปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของ ดร.สมคิด เศรษฐกิจของชาติอาจพากันลงสู่หุบเหวจนยากจะกู้คืนอีกต่อไป

อ่าน 3,677 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved