วิพากษ์นโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
  AREA แถลง ฉบับที่ 299/2558: วันศุกร์ที่ 02 ตุลาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ ประมาณการว่าการลดภาษีค่าโอน 1 ปี จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 12,542 ล้านบาท เสนอให้ลดภาษีค่าโอนเฉพาะบ้านมือสองเพื่อช่วยตรงถึงชาวบ้านที่ซื้อขายบ้านทั้งสองฝ่าย และรัฐบาลจะเอาไงก็เอากันให้ชัด ยืดเยื้อไปจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพราะชาวบ้านยื้อการโอน

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (http://www.area.co.th) แถลงว่า หากมาตรการลดค่าโอนและค่าจำนองของรัฐบาลมีผลถึงสิ้นปี 2559 จะพบว่าตัวเลขที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะสร้างเสร็จเฉพาะในปี 2559 จะมีอยู่จำนวน 139,360 หน่วย มาตรการนี้จะมีผลต่อกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ กันไป

จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2559
ประเภทที่อยู่อาศัย                  จำนวนหน่วย                     %
บ้านเดี่ยว                                      32,022                23%
บ้านแฝด                                        7,790                  6%
ทาวน์เฮาส์                                    43,144                31%
ตึกแถว                                          2,241                  2%
ห้องชุด                                         53,918                39%
ที่ดินจัดสรร                                       245                  0%
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

            ห้องชุดจะได้รับอานิสงส์มากที่สุดเพราะในปี 2559 จะมีห้องชุดแล้วเสร็จ 53,918 หน่วย หรือ 39% ของอุปทานที่จะแล้วเสร็จทั้งหมด รองลงมาคือทาวน์เฮาส์ 43,144 หน่วย หรือ 31% ตามมาด้วยบ้านเดี่ยวถึง 32,022 หน่วยหรือ 23% นอกนั้นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประกอบด้วยบ้านแฝด ตึกแถวและที่ดินจัดสรรในสัดส่วน 6% 2% และ 0% (7,790, 2,241 และ 245 หน่วย) ตามลำดับ

            ที่อยู่อาศัยหน่วยหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาทโดยเฉลี่ย ดังนั้นที่อยู่อาศัย 139,360 หน่วย ก็เป็นเงินรวม 418,080 ล้านบาท หากได้รับส่วนลดจากภาษีและค่าธรรมเนียมโอน 3% ก็เป็นเงินประมาณ 12,542.4 ล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถนำไปสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในราคาเฉลี่ย 4,000 ล้านบาทได้ถึง 3 สะพาน กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าการลดปลีกย่อยแบบนี้เสียอีก จะเห็นได้ว่าบริษัทมหาชนบางแห่งถึงขนาดลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอนให้ลูกค้าโดยไม่รอมาตรการของทางราชการ แสดงว่ามาตรการเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกทางนัก ยิ่งในกรณีบริษัทมหาชน ยิ่งเห็นได้ว่ามีกำไรมหาศาล

            หากรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือโดยเฉพาะช่วยผู้มีรายได้น้อย ดร.โสภณ เสนอว่ารัฐบาลควรจะเน้นการลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอนหรือไม่เก็บให้เสียเวลาไปเลย เฉพาะการซื้อขายบ้านมือสองในระหว่างประชาชนด้วยกันเอง มากกว่าจะไปช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ซึ่งส่วนมากเป็นรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ มีกำไร และสามารถช่วยเหลือตนเองได้

            อีกประการหนึ่ง ดร.โสภณ เสนอว่า จะออกมาตรการใด ๆ ก็ตาม รัฐบาลควรศึกษาให้รอบคอบในทางลับก่อน ที่จะประกาศใช้ไปเลย ไม่ใช่มาทำท่าแบบ "โยนหินถามทาง" "เป๋ไปเป๋มา" หรือ "ลมเพลมพัด"อย่างที่เป็นอยู่นี้ นายกฯ ก็มีบัญชาให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เห็นผลใน 3 เดือน แต่ทีมเศรษฐกิจใหม่ยังทำการไม่ได้ดังหวัง จนกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการ เพราะพอมีข่าวว่าจะลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอน ผู้ซื้อเลยขอชะลอการโอนเพื่อรอรับสิทธิประโยชน์ การนี้เท่ากับทีมเศรษฐกิจกำลังสร้างปัญหาให้กับธุรกิจที่อยู่อาศัยมากกว่าจะช่วยแก้ไข

            เวลา 3 เดือนของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลงวดเข้ามาแล้ว "Do Something" ดร.โสภณ กล่าว.

อ่าน 1,784 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved