เครือข่ายสลัม 4 ภาค: กฎหมู่?
  AREA แถลง ฉบับที่ 301/2558: วันจันทร์ที่ 05 ตุลาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          เมื่อเช้าวันนี้ "ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ร้องขอให้นายกฯช่วยเรื่องที่อยู่อาศัยคนจน เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก" (http://bit.ly/1hkuedr) ซึ่งเป็นดั่งกิจกรรม "เชงเม้ง" ที่จัดแบบนี้กันทุกปี แต่ข้อเรียกร้องต่างๆ อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รัฐบาลพึงไตร่ตรองให้รอบคอบเพื่อไม่สร้างความอยุติธรรมในสังคม


รูปการชุมนุมหน้าทำเนียบเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ตุลาคม 2557


รูปการชุมนุมหน้าทำเนียบเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ตุลาคม 2558 (ปีนี้ใช้เด็กมาสร้างสีสันด้วย)

          ข้อเรียกร้องของเครือข่ายนี้ ก็เป็นเช่นทุกปี โดยในปีนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค บอกว่า "ในประเทศไทยมีชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ไล่รื้อจำนวน 86 ชุมชน 6,100 ครอบครัว 34,000 คน อันมีสาเหตุมาจากโครงการก่อสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน . . . (ชุมชนชนบทก็) ประสบปัญหาจากแผนพัฒนาของรัฐ เช่นแผนแม่บทป่าไม้ - ที่ดิน การให้สัมปทานเหมืองแร่ การสร้างโรงไฟฟ้า ที่ต้องทำให้คนในชนบทสูญเสีย . . ."

          ข้างต้นเป็นการตีขลุมเป็นอย่างยิ่ง เพราะโครงการคมนาคมส่วนมากยังไม่ได้ดำเนินการ ในชนบทก็มีชุมชนบุกรุกป่าอยู่ไม่กี่แห่ง ส่วนการให้สัมปทานเหมืองแร่ การสร้างโรงไฟฟ้า ก็แทบไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินแต่อย่างใด เว้นแต่การจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ เฉพาะหน้าคงมีไม่ถึง 20 แห่ง ซึ่งถือว่าปัญหาเฉพาะจุดที่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย ไม่ได้เป็นกระแสใหญ่ดังที่ทางเครือข่ายพยายามนำเสนอ

          ในการเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น แม้แต่บ้านเรือนของผู้มีรายได้สูง-รายได้ปานกลาง ก็ยังต้องย้ายออก จะอ้างว่าเป็นคนจนแล้วไม่ยินดีย้ายไม่ได้ โดยเฉพาะหากรัฐบาลมีการจัดหาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ส่วนมากชาวชุมชนแออัดที่เช่าที่ปลูกบ้านก็ยินดีย้ายเมื่อเจ้าของที่ร้องขอ แต่ชาวชุมชนแออัดบุกรุกกลับไม่ยอมย้าย ปกติแล้วแม้แต่ชาวชุมชนแออัดเอง ก็ใช่อยากจะอยู่ในชุมชนตลอดไป ก็ต้องการที่จะมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเพื่อลูกหลาน

          เครือข่ายเสนอให้ก่อสร้างบ้านมั่นคง โดยยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับชาวชุมชนแออัด โดยเฉพาะที่บุกรุกผิดกฎหมายมายาวนาน กรณีนี้ถือเป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ชาวชุมชนแออัดที่ได้ที่ดินในโครงการ Land Sharing ก็พร้อมใจกัน "เบี้ยว" ไม่ผ่อนชำระ เท่ากับเป็นการเอาเปรียบสังคมโดยแท้ เพราะประชาชนทั่วไปกว่าจะเก็บหอมรอมริบมีที่อยู่อาศัยของตนเองได้ ก็ต้องไปไกลอยู่ชานเมือง แต่ผู้บุกรุกในเมืองกลับแทบจะได้ที่อยู่อาศัยฟรี ๆ ทั้งที่ผิดกฎหมายมานับสิบ ๆ ปี

อ่าน 2,718 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved