แนวคิดผิด ๆ สร้างบ้านประชารัฐหลัง มธ.รังสิต
  AREA แถลง ฉบับที่ 383/2558: วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ ออกมาเตือนอีกแล้วว่าแค่คิดสร้างบ้านประชารัฐ (เอื้อาทรหรือบ้านคนจน) แห่งแรกที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ก็คิดผิดแล้วอย่างไรบ้าง

            ตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลโดยนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานธนาคารอาคารสงเคราะห์ แถลงว่าจะสร้างบ้านประชารัฐ (บ้านคนจน) ที่บริเวณที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตนั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง  จึงขอนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อทางราชการ ดังนี้:

            1. นายกฯ ท่านบอกจะสร้างบ้านประชารัฐตามแนวรถไฟฟ้า ประชาชนก็นึกถึงรถไฟฟ้าในเมือง แต่บริเวณที่จะตั้งนี้อยู่ห่างจากใจกลางเมือง (ธนาคารกรุงเทพ สีลม) ถึง 50 กิโลเมตร แสดงว่าการก่อสร้างนี้คงอาศัยว่าทางราชการมีที่ดิน แต่ไมได้พิจารณาความเป็นไปได้ทางการตลาดแต่อย่างใด
            2. บริเวณดังกล่าวและโดยรอบ (ทำเล A2 ที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส สำรวจไว้) ยังมีโครงการที่อยู่อาศัยขายอยู่ 31 โครงการ มีจำนวนหน่วยรวมกัน 6,641 หน่วย เหลือขายอยู่ 2,421 หน่วย โดยเฉพาะที่ขายในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาททั้งทาวน์เฮาส์และห้องชุด ก็ยังมี 3,230 หน่วย และเหลือขายอยู่ 875 หน่วย ไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย
            3. บริเวณนั้นมีหอพักอะพาร์ตเมนต์อยู่เป็นจำนวนมาก ที่ให้เช่าตั้งแต่ราคา 2,000 - 10,000 บาทต่อเดือน คาดว่ารวมแล้วน่าจะมีจำนวนเกินกว่า 10,000 หน่วย และไม่เคยมีการร้องเรียนว่าค่าเช่าแพง หรือราคาขายอาคารชุดและที่อยู่อาศัยแพงแต่อย่างไร และเชื่อว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าก็จะไม่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย
            4. การไปสร้างบ้านประชารัฐนี้จะทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) ที่ทำหอพัก อะพาร์ตเมนต์ บ้านจัดสรร ในบริเวณนั้น "เจ๊ง" หมด เพราะรัฐบาลเอาภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศอุดหนุนเพื่อทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น
            5. รัฐบาลก็คงไม่มีงบประมาณมหาศาลสร้างมหาศาลนับล้าน ๆ หน่วย แต่ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการซื้อบ้านประเภทนี้ในพื้นที่ทดลองนี้ ก็คงได้ประโยชน์เสมือน "ถูกหวย" แต่จะเป็นปรากฏการณ์ "ฝนตกไม่ทั่วฟ้า" ได้อยู่แค่จำนวนหนึ่งแล้วก็หมดไป
            6. ในทางการเงิน การที่จะสร้างห้องชุด 32 ตารางเมตร ตามมาตรฐานการเคหะแห่งชาติ ราคาตามท้องตลาดน่าจะเป็นเงิน 36,000 บาทต่อตารางเมตร หรือเป็นเงิน 1.125 ล้านบาท หากรัฐบาลจะขายเพียง 600,000 บาท ก็ต้องอุดหนุนหน่วยละ 525,000 บาท "ผู้โชคดี" ที่จองซื้อบ้านได้ ก็จะได้เงินภาษีของประชาชนไป เสมือนการ "ถูกหวย" นั่นเอง หากสร้าง 10,000 หน่วยในบริเวณนี้ รัฐบาลก็ต้องเสียเงินอุดหนุนถึง 5,250 ล้านบาทไปโดยไม่จำเป็น นำเงินไปพัฒนาประเทศทางอื่นคงจะคุ้มค่ากว่า
            7. ที่ดินของการถไฟแห่งประเทศไทยที่จะนำไปสร้างบ้านประชารัฐ หากนำไปให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ เช่นที่ดินขนาด 100 ไร่ ๆ ละ 10 ล้านบาท รวม 1,000 ล้านบาท หากให้เช่าปีละ 2% ของมูลค่าก็จะได้เงินปีละ 20 ล้านบาท หากให้เช่าระยะยาวเช่น 30 ปี ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ก็อาจได้เงินคาเช่าล่วงหน้าถึง 30% หรือ 300 ล้านบาท เงินเหล่านี้นำไปพัฒนาการรถไฟฯ หรือพัฒนาประเทศได้อีกมาก

            รัฐบาลไม่พึงจะสร้างผลงานด้วยการสร้างบ้านประชารัฐ ซึ่งนอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ยังอาจจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติอีกด้วย

ภาพที่ 1: โครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีอยู่ 31 โครงการและมีแนวโน้มเปิดอีกมาก

ภาพที่ 2: หอพัก-อะพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่มากมายอยู่แล้วโดยภาครัฐไม่ต้องเข้าไปก้าวก่าย

อ่าน 3,306 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved