บ้านประชารัฐ 'คนจน' ถูกเอามาอ้าง (อีกแล้ว)
  AREA แถลง ฉบับที่ 106/2559: วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ผ่านมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ตามโครงการบ้านประชารัฐ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯ จึงขอให้ความเห็นเพื่อการวางแผนเชิงนโยบายและการวางแผนการลงทุนของภาคประชาชน

            1. โครงการนี้อ้าง 'คนจน' ทั้งที่ 'คนจน' จริงๆ ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีอยู่ประมาณ 12.6% (http://1.usa.gov/1nk5eRW) ซึ่งไม่สามารถซื้อบ้านได้ ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อย ที่ไม่ได้อยู่ใต้เส้นความยากจน ก็อยู่ในภาวะ "หนี้ล้นพ้นตัว" มีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูงมากและคาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ในปี 2559 นี้ (http://bit.ly/1pIYGD9)

            2. การกระตุ้นโครงการนี้จึงเป็นการกระตุ้นยอดขายของโครงการพัฒนาที่ดินที่อยู่ในตลาดที่การขายช้า เป็นการลดความเสี่ยงของนักพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ และคงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แม้โครงการบ้านประชารัฐนี้จะบอกว่าไม่จำกัดเฉพาะบ้านใหม่ในตลาด แต่สำหรับบ้านมือสอง บ้านกรมบังคับคดี บ้านหลุดจำนองของธนาคาร หรือบ้านที่ชาวบ้านขายกันเอง ซึ่งเป็นเบี้ยหัวแตก คงเตรียมตัวไปขอกู้ได้ช้า ไม่ทันการขายของบ้านมือหนึ่งอย่างแน่นอน

            3. ที่ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในทางอื่น ก็คงได้กับบริษัทเหล็ก บริษัทปูนมากกว่า ที่จะสามารถขายสินค้ามาสร้างบ้านใหม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงคาดว่ายังมีสินค้าบ้านมือสองรอขายอยู่ในตลาดโดยไม่สร้างใหม่อีกนับแสนหน่วย (http://bit.ly/1XrGaJM) ส่วนที่จะได้จากการขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ หรือกิจการเกี่ยวเนื่องอื่น หากเป็นการซื้อบ้านมือสอง ก็จะได้ผลไม่แตกต่างกัน แถมบ้านมือสองราคาถูกกว่า ยังมีเงินเหลือไว้ฉลองซื้อบ้านใหม่กันอีก

            4. อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะส่งผลต่อระบบธนาคาร 2 ประการคือ การผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ไม่พร้อมกู้ได้กู้ ก็เป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับธนาคารโดยเฉพาะธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 แห่ง ทำให้เกิดการขาดวินัยทางการเงิน จะสังเกตได้ว่าธนาคารเอกชน (ไม่กล้า) เข้าร่วม ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการแทรกแซงระบบสถาบันการเงิน เพราะธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่อำนวยสินเชื่ออยู่ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย

            5. อย่างไรก็ตามแม้โครงการนี้จะไม่ได้ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ถือเป็นการกระทำที่เป็น "ผลงาน" ว่าได้ดำเนินการอะไรบางอย่างต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเหือดแห้งในขณะนี้

            ภาวะในขณะนี้ที่คาดว่าร้านสะดวกซื้อเช่นแม้แต่ 7-eleven เองโดยเฉพาะในจังหวัดภูมิภาคทั้งหลาย ก็อาจมียอดขายลดลงถึง 50% แม้จะมีคนเข้าร้านเช่นเดิม แต่มูลค่าการซื้อลดลง รายได้ประชาชนลดน้อยถอยลง ลำพังโครงการประเภทนี้ หรือแม้แต่โครงการแจกเงินข้าราชการ ก็เกาไม่ถูกที่คัน แต่เกรงจะเป็นการสร้างปัญหาแก่การคลังของประเทศในระยะยาวเสียอีก


รูปภาพ: http://thaipublica.org/wp-content/uploads/2015/12/หนี้ครัวเรือน.jpg

อ่าน 2,858 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved