CSR ของวิสาหกิจยักษ์ระดับโลก มาจากพื้นฐานของการปล้น
  AREA แถลง ฉบับที่ 126/2559: วันอังคารที่ 12 เมษายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ที่เห็นวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลกทำ CSR นั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่ละครฉากหนึ่ง แต่ความจริงคือวิสาหกิจเหล่านี้ปล้นมาทั่วโลกจนร่ำรวยแล้วโยนเศษเงินออกมาให้ตนดูดีต่างหาก

            ในฐานะที่ผมทำ CSR (Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอนต่อสังคมของวิสาหกิจ) สำเร็จกับวิสาหกิจของผมคือ AREA (www.area.co.th) มากับมือ และยังเขียนหนังสือ "CSR ที่แท้" ซึ่งผมใช้เป็นหนังสือประกอบการสอนในระดับปริญญาเอกของผม วันนี้ขออนุญาตเปิดโปง CSR ของวิสาหกิจยักษ์ระดับโลก ให้เห็นว่า ที่ทำกิจกรรม CSR แบบน่าทึ่ง น่ารัก และน่านับถือนั้น แท้จริง เขาทำได้เพราะไปเที่ยวปล้นสดมภ์มาทั่วโลกต่างหาก

            ยกตัวอย่างวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ระดับโลก ในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องหนึ่ง สมมติมีราคา 15,000 บาท ราคาตัวเครื่องจริงๆ แทบไม่มีราคาค่างวดเท่าไหร่ ส่วนมากเป็นค่าซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่มีราคา (แสน) แพง ถ้าไม่ซื้อซอฟแวร์เหล่านี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะมีสิทธิถูกจับ ถูกฟ้องร้องได้  การตั้งราคาซอฟแวร์ต่างๆ ไว้ในราคาสูงลิ่ว และผู้ซื้อถูกมัดมือชก ทำกำไรอย่างมหาศาลแก่วิสาหกิจคอมพิวเตอร์ข้ามชาติโดยทั่วโลกต้อง "ส่งส่วย" ให้  นี่คือการปล้นอย่างถูกกฎหมาย

            อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือวิสาหกิจมือถือชื่อดัง วิสาหกิจนี้กำไรมหาศาล ฐานะสินทรัพย์และมูลค่าของวิสาหกิจที่ยิ่งใหญ่เกินกว่างบประมาณแผ่นดินไทยหลายเท่านัก คือประจักษ์หลักฐานของการเที่ยวไปปล้นทรัพย์มากจากทั่วโลก  แทนที่จะขายในราคาแพง ก็กลับขูดรีดเพิ่มขึ้น นี่จึงเป็นภาวะไร้คุณธรรมในขั้นพื้นฐาน วัน ๆ ได้แต่เที่ยวคิดค้นออกรุ่นใหม่ๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า แม้แต่สายชาร์ตแบตเตอรี่ ก็เปลี่ยนรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อจะให้คนซื้อต้องตกเป็นทาส ซื้อแต่ของตนเองถ่ายเดียว ซ้ำยังมีราคาแสนแพงเมื่อเทียบกับของลอกเลียนแบบที่ผลิตออกมาลดภาระของคนซื้อใช้

            ความมั่งคั่งอย่างเหลือคณานับเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ฟ้องถึงการปล้นและการขูดรีดพลโลกอย่างน่าละอายใจ แต่พอมีกำไรมหาศาล ก็เลยสามารถโยนเศษเงินมาทำกิจกรรม ทำดี กลายเป็น "วิสาหกิจต้นแบบ" ไปเสียอีก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปเพื่อสังคม นับเป็นแค่กระผีกลิ้น คงไม่ถึง 0.1% หรือ หนึ่งในหมื่นของรายได้ที่ได้มาด้วยซ้ำไป ในขณะที่ประชาชนทั่วไป ใช้จ่ายเงินเพื่อการทำดีถึง 1/37 ของรายได้ของตนเองในแต่ละปี (http://bit.ly/1TCRaX3) ถ้าวิสาหกิจยักษ์ใหญ่

            ผู้บริหารวิสาหกิจยักษ์ระดับโลก ยังทำตัวเป็น "พ่อพระ" ปลิ้นปล้อนโฆษณาชวนเชื่อว่าจะบริจาคเงินให้ส่วนรวมแทบทั้งหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมันขูดรีดประชาชนจากทั่วโลกอยู่ทุกวัน ถ้าจะทำดีจริง ไม่ต้องมีเดี๋ยว ไม่ต้องรีรอ ลดราคาสินค้าให้มีกำไรสุทธิน้อยกว่านี้ก็ยังทำได้ ช่วยเหลือพลโลกได้มากหลาย ส่วนที่คุยโตว่าจะบริจาคหลังตายไปแล้วนั้น ก็พึงทราบไว้เลยว่า ที่ต้องบริจาคเพื่อจะได้ตายอย่างเท่ๆ หาไม่ก็ต้องเสียภาษีมรดกหรือถ้าไม่มีทายาทก็ถูกยึดเข้าหลวงในสหรัฐอเมริกาอยู่ดีนั่นแล

            การรวยด้วยการปล้นจึงไม่ยั่งยืน เพราะเป็นความไม่ชอบธรรม แทนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีแล้วต้นทุนถูกลง ทำให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีในราคาถูกลง แต่จำนวนมากขึ้น ก็ได้กำไรมหาศาลอยู่แล้ว แต่นี่กลับขูดรีด "ทุกเม็ด" จากประชาชนทั่วโลก จึงทำให้กลายเป็นวิสาหกิจที่ไม่โปร่งใส เกิดมีเงาของตนเองขึ้น คือเกิดการเลียนแบบสินค้าเป็นเงาตามตัว และประชาชนผู้บริโภคก็ยินดีจ่ายเพราะไม่สามารถซื้อสินค้าที่กำหนดไว้ในราคาแพงตามอำเภอใจของวิสาหกิจยักษ์ระดับโลกได้ วิสาหกิจเลียนแบบ ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นทาบรัศมี ทำให้วิสาหกิจยักษ์ระดับโลกค่อย ๆ เฉาไปในอนาคต การปล้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน

            อนึ่งผมเคยเขียนบทความเรื่อง "ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมสูงสุดคือธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุด" (http://bit.ly/1RMgjZK) เรื่องนี้เป็นเรื่องในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่มุ่งชี้ให้เห็นว่าวิสาหกิจเหล่านี้มีระบบการบริหารที่ดีที่สุดในเชิงเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น มี CEO ที่ดี มีทักษะที่ดี โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ศาสตร์และศิลปะของการทำธุรกิจที่ตรงไปตรงมา ไม่โกง หรือไม่ไปขูดรีดแรงงาน ที่สำคัญธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุดนั้น ย่อมเสียภาษีสูงสุด

            เราลองคิดดูว่า ธุรกิจที่เสียภาษี 10 ล้านบาท กับธุรกิจที่เสียภาษี 1 ล้านบาท ใครแสดงว่ามีความรับผิดชอบหรือเกื้อหนุนต่อประเทศชาติมากกว่ากัน หรือถ้าคิดให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นก็คือการเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจที่เสียภาษี 10 ล้าน แต่บริจาคเพียง 1 แสนบาท (1% ของกำไรซึ่งดูคล้ายตระหนี่) กับธุรกิจที่กำไร 1 ล้าน แต่ก็บริจาค 1 แสนบาท (10% ของกำไรซึ่งดูคล้ายใจกว้าง) ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมี CEO ที่บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะเสียภาษีถูกต้องและเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาพัฒนาประเทศแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่เป็นภาระให้รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีอากรมาโอบอุ้มอีกต่างหาก

            สำหรับวิสาหกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือวิสาหกิจระดับชาติที่มีการแข่งขันเสรี การมีกำไรสูงสุด เสียภาษีมากที่สุด จึงเป็นการช่วยเหลือสังคมและเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ส่วนวิสาหกิจยักษ์ระดับโลกที่ได้กำไรมหาศาลนั้น ได้มาจากการปล้นแบบกึ่งผูกขาด จึงเป็นสิ่งที่น่าละอายและสาธารณชนพึงรู้เท่าทัน


Download หนังสือ CSR ที่แท้ได้ฟรีที่ http://bit.ly/1MfpeQH

อ่าน 1,777 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved