ไร้ผล ไม่ต้องต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
  AREA แถลง ฉบับที่ 154/2559: วันพุธที่ 04 พฤษภาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ตามที่มีข่าวว่ามีคนไปโอนซื้อบ้านกันจนสำนักงานที่ดินต้องปิดทำการถึงเที่ยงคืนบ้าง หรือวันรุ่งขึ้นของวันที่หมดกำหนดโอนตามมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์บ้าง จนมีเสียงเรียกร้องให้ต่ออายุมาตรการนี้ ดร.โสภณ ไขข้อเท็จจริงให้ทราบว่ามาตรการนี้ไร้ผล ไม่จำเป็นต้องต่อ

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งลดค่าธรรมเนียมโอนการขายจากร้อยละ 2% เหลือร้อยละ 0.01 % และการจดทะเบียนจำนองจากร้อยละ 1% เหลือร้อยละ 0.01% ในช่วงวันที่ 29 ตุลาคม 2558 และสิ้นสุดในวันที่ 28 เมษายน 2559 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ว่า นโยบายนี้ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด จึงไม่ควรต่อมาตรการนี้ออกไปอีก
 

          จะเห็นได้ว่าจากยอดปริมาณงานทีมีการทำนิติกรรมของกรมที่ดินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2558 มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด ยกเว้นในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการใช้ราคาประเมินทางราชการเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ราคาของรอบใหม่ใช้ในปี 2559-2562)  และยิ่งหากพิจารณาถึงรายได้จากภาษี ค่าธรรมเนียมโอนและอื่น ๆ ของกรมที่ดิน จะพบว่า ยกเว้นเดือนธันวาคม 2558 รายได้ก็ไม่แตกต่างกันโดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน 2558, มกราคมและกุมภาพันธ์ 2559 รายได้ก็ไม่แตกต่างจากเดือนก่อน ๆ เลย (bit.ly/1TsvXJP) การที่มีผู้มาโอนในวันราชการวันสุดท้ายของเดือนเมษายน 2559 ที่หมดมาตรการกระตุ้นนั้น จึงเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น

          การที่มีผู้มาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ณ สำนักงานที่ดินในเดือนธันวาคม 2558 ไม่มากไปกว่าปกตินัก (ยกเว้นปรากฏการณ์ที่เห็นในวันสุดท้ายของการโอนที่แห่กันมาโอนจนถึงรุ่งสางของอีกวันหนึ่งในสำนักงานที่ดินบางแห่ง) แต่รายได้ที่กรมที่ดินจัดเก็บได้กลับพุ่งสูงขึ้นมากในเดือนดังกล่าวนั้น คงเป็นเพราะการมาโอนทรัพย์สินที่ดินแปลงใหญ่ ๆ มากกว่าการโอนที่อยู่อาศัยทั่วไป

          มาตรการดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะซื้อบ้านในช่วง 6 เดือนดังกล่าว ผู้ที่จองซื้อบ้านหรือห้องชุดในช่วง 6 เดือนนี้ แต่จะได้โอนบ้านในภายหลังก็ไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการนี้ มาตรการนี้จึงเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในช่วงนี้ได้ระบายสินค้าได้เร็วขึ้น เป็นการเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ลดความเสี่ยงในการถือครองทรัพย์ของผู้ประกอบการ ทำให้ไม่ประสบปัญหาทางธุรกิจ และมีความมั่นคงทาการเงินมากขึ้น

          ในรอบไตรมาสแรกของปี 2559 ก็ปรากฏว่าตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวลง (bit.ly/22nyOIR) และหากประมาณการทั้งนี้ ก็จะพบว่าตลาดหดตัวลงอย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 3% การส่งออกยังไม่กระเตื้อง ราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ และแม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลง เพราะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งทะลักเข้ามามากใช้จ่ายน้อยกว่านักท่องเที่ยวอื่น (bit.ly/1W1Q8TB) นั่นเอง

            ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ามาตรการกระตุ้นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง อารมณ์ความรู้สึกที่เห็นคนแห่มาโอนบ้านกันมากมายเฉพาะในวันสุดท้าย จึงไม่อาจนำมาตัดสินเชิงนโยบายได้ ที่สำคัญในภาวะขณะนี้เราจำเป็นต้องมีภาษีมาบำรุงประเทศอีกด้วย  ภาระภาษีนี้ก็ไม่ได้สูงเกินกว่าที่จะตัดสินใจทิ้งบ้างที่จองซื้อไว้แต่อย่างใด

อ่าน 2,683 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved