แก้น้ำท่วม ทำไม่ยาก. . .ปลดชายหมู!?!
  AREA แถลง ฉบับที่ 216/2559: วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            วิธีแก้น้ำท่วม ทำไม่ยากเลย ขั้นแรกต้องปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกก่อน ขั้นที่สองก็คือการสำรวจและแก้ไขระบบป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมขังให้ประชนมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใส และขั้นที่สามระยะยาวคือการสร้างเขื่อนปากอ่าวไทย สร้างพนังกั้นน้ำเจ้าพระยาและโครงการใหญ่อื่นๆ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) เสนอว่าขั้นตอนแรกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็คือการปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะออกไปทันที เพราะ

            1. เป็นการชี้ให้เห็นว่าหากใครทำงานตามความรับผิดชอบไม่ได้ ก็ต้องไป

            2. ฝนตกทุกครั้ง น้ำก็ท่วม หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทุกอย่างก็แทบเหมือนเดิม

            3. ท่านอาจไม่ได้พูดความจริง อุโมงค์น้ำที่ว่าจะช่วยแก้น้ำท่วมก็ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ไหนบ้าง ทำงานได้จริงหรือ

            4. ระบบการป้องกันและแก้ไขก็ไม่ได้มีและไม่เป็นที่เปิดเผยแก่ประชาชน

            5. แทบไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ ออกมาทำอะไร ยกเว้นครั้งล่าสุด

            6. ท่านเน้นแต่ประดิษฐ์วาทกรรม เช่น "น้ำรอระบาย" "น้ำขัง" เพื่อจะได้บอกว่าไม่ใช่ "น้ำท่วม" หรือบอกให้ประชาชนไปอยู่บนดอยถ้าไม่อยากเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งทำให้ประชาชนเสียความรู้สึกมากขึ้น

            7. หากรักษาไว้ ก็จะเป็นผลเสียต่อผู้มีอำนาจ กลายเป็นการเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะเมื่อคราวมีการข่มขืนบนรถไฟ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสลด แต่เพียงประเด็นนี้ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ยังถูกปลดออก

            หลังปลดผู้ว่าฯ แล้ว ก็ควรกางแผนการป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำต่าง ๆ ที่มีอยู่ อุโมงค์น้ำที่ว่ามี (จริงหรือไม่) ให้ประชาชน สื่อ ได้รับทราบ จะได้ทราบว่าบริเวณไหนเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ประชาชนจะได้สามารถเตรียมตัวรับสถานการณ์ จะต้องใช้งบประมาณ เวลาและทรัพยากรเท่าใดในการแก้ไขปัญหา  หากประชาชนมีโอกาสรับรู้และมีส่วนร่วมคิดแก้ไขปัญหา ย่อมดีกว่าการปิดหูปิดตาประชาชน

            สำหรับโครงการระยะยาว ควรที่จะดำเนินการดังนี้:

            1. สร้างเขื่อนยักษ์ปากอ่าวไทย ควบคุมน้ำ และยังกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามจำเป็นได้ด้วย เช่นเดียวกับกรณีมารินาเบย์ของสิงคโปร์ แต่ให้มีขนาดใหญ่กว่า ครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการอ่างเก็บน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา Marina Bay สิงคโปร์

            2. สร้างถนนและเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในแต่ละฝั่งแม่น้ำ ให้มี 6 ช่องทางจราจรไปกลับ จะทำให้สามารถป้องกันน้ำเอ่อท่วมได้โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากหรือในปีที่มีอุทกภัยใหญ่ และเป็นการเพิ่มพื้นที่จราจรอีกด้วย ทั้งนี้สามารถดูตัวอย่างได้จากในกรณีแม่น้ำฮัน ในกรุงโซล เกาหลีใต้ และ ควรยกเลิกโครงการสร้างทางเดิน-จักรยานที่แสน "ดรามา" ได้แล้ว

รูปสะพานสองฝั่งแม่น้ำฮัน กรุงโซล เกาหลีใต้

            3. สร้างพนังกั้นน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยดูตัวอย่างกรุงลอนดอนซึ่งสร้างระหว่างสองฝั่งน้ำเทมส์ ณ ความกว้าง 520 เมตร และแบ่งแม่น้ำออกเป็น 5 ช่วง ๆ ละประมาณ 61 เมตร และอีก 2 ช่วง ณ ความกว้างประมาณ 30 เมตร มีประตูใหญ่ 4 ประตูสูง 20.1 เมตร กว้างราว 30 เมตร โดยมีน้ำหนักประตูละ 3,700 ตัน ไม่เพียงแต่มีผนังกั้นน้ำนี้ ยังมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมฝั่งน้ำระยะทางราว 17.7 กิโลเมตรไปจรดทะเล โครงการนี้สามารถใช้ป้องกันน้ำท่วมแล้วถึง 176 ครั้ง อายุขัยของสิ่งก่อสร้างนี้คาดว่าจะเป็นเวลา 100 ปี และขณะนี้กำลังวางแผนสร้างผนังที่ใหญ่โตกว่านี้ออกไปอีก (http://bit.ly/1qqqxaS)

พนังกันน้ำท่วมแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน ดูรายละะอียดที่ http://bit.ly/1qqqxaS

            4. สร้างแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ๆ เช่น ในร่างผังเมืองปี 2503 วางแผนให้มีการขุดแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ใกล้กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ทางด้านใต้ของปากคลองรังสิต ผ่านแจ้งวัฒนะแถวหลักสี่ ลงสะพานสูง ผ่านบริเวณใกล้สวนหลวง ร.9 ในปัจจุบัน และลงอ่าวไทยแถวบางปูสมุทรปราการ ส่วนอีกเส้นจะขุดจากคลองอ้อมนนท์ ผ่านคลองมหาสวัสดิ์ มาตามแนวคลองราชมนตรี ลงอ่าวไทยแถวบางขุนเทียน เป็นต้น แต่เสียดายที่กฏหมายผังเมืองในสมัย จอมพล. ป.ที่มีมาตั้งแต่ปี 2495 และผังเมืองที่เริ่มร่างในสมัย จอมพล. ป. กลับถูกทอดทิ้งไปในสมัย จอมพล ส. จนกรุงเทพมหานครมามีผังเมืองในปี 2535 หรือ 40 ปีให้หลัง สิ่งต่าง ๆ จึงเติบโตแบบไร้ขอบเขตแล้ว และไม่มีแผนอะไรในการชี้นำความเจริญอย่างมีประสิทธิผลเลย

แนวแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่งใหม่ตามร่างผังเมือง ปี 2503 ที่ไมได้สร้าง

            โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนยังอาจมีโครงการอื่น ๆ อีก ซึ่งอยู่ที่การระดมสมองจากประชาชน ไม่ใช่การสั่งการแบบบนลงล่าง (Top-Down) เช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

อ่าน 4,668 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved