โครงการเลียบเจ้าพระยา คนคิดสร้างต้องบ้าแน่ ถ้ารู้ว่าจะลงเอยแบบนี้
  AREA แถลง ฉบับที่ 348/2559: วันพุธที่ 14 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            คนรับจ้างทำโครงการคุยว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการระดับโลก สงสัยจะเป็นความสูญเปล่าระดับโลกหรือไม่ ไม่กล้าแตะชุมชน แต่กล้าสร้างถนนรุกเข้าไปในแม่น้ำ รักสิ่งแวดล้อมประสาอะไร เห็นแก่ตัวกันชัด ๆ สร้างไปก็คงมีคนใช้สอยแค่วันละ 3,000 คน ด้วยงบประมาณ 14,600 ล้านบาท คิดแค่ดอกเบี้ยก็ ตกวันละ 667 บาทต่อคน จ่ายค่าฟิตเนสเฟิสต์ยังถูกกว่าแค่วันละ 74 บาท ถ้าไม่สร้าง ยังเอาเงินไปสร้างลู่จักรยานชานเมืองได้ 146 แห่ง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำได้ 3 แห่ง สร้างทางด่วนอุดรรัถยา-อยุธยา (42 กม.) ได้ครึ่งหนึ่ง สร้างถนนไร้ฝุ่นได้ยาว 1,700 กิโลเมตร อย่างนี้คนคิดสร้างไม่บ้า ก็คงเมา!!!

            มีการชี้แจงว่าโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้ จะเป็นโครงการโดดเด่นระดับโลก (http://bit.ly/2cEZ6bV) แท้จริงแล้วจะเป็นอย่างไรกันแน่ มาลองดูกันจากข้อมูลของทางรัฐบาลโดยตรง (http://bit.ly/2c9qFJx) ก็จะเห็นว่า เป็นโครงการที่อาจถือว่า "เหลวไหลไร้แก่นสาร" หรือไม่

โครงการทำลายแม่น้ำ

            จากวีดีทัศน์ของทางราชการ ก็จะเห็นได้ชัดว่า โครงการนี้แทบไม่ได้จัดการชุมชนที่ระเกะระกะริมน้ำ ที่อยู่มาชั่วนาตาปี เพียงแต่สร้างลู่วิ่งทางจักรยาน ล้ำเข้าไปในแม่น้ำ อย่างนี้จะถือเป็นการรักแม่น้ำจริงหรือ ชาวบ้านริมน้ำบางส่วนอาจเลิกค้านเพราะได้อยู่ "ชมวิว" ต่อ คนวางแผนกลับปล่อยให้มีการทำร้ายแม่น้ำได้ ตราบเท่าที่ตนเองจะไม่ได้รับผลกระทบ อย่างนี้สมควรหรือไม่

            ดูจากภาพจะเห็นได้ว่า แทบไม่กล้าแตะต้องชุมชน ทั้งนี้คงเพราะกลัวเสียงค้านจากประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ ทางคณะที่ปรึกษาและผู้สร้างก็คงคิดว่า ขอให้ตนได้สร้างตามที่อยากสร้าง ก็ยอมทุกอย่างแม้ต้องรุกเข้าไปในแม่น้ำ ในความเป็นจริง เราสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ โดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตเดิม คือให้อยู่ในบริเวณเดิม หรือใกล้ที่เดิม โดยจัดสร้างเป็นอาคารชุดแทนการอยู่แนวราบ ซึ่งจะสามารถรับผู้อยู่อาศัยได้มาก เว้นพื้นที่สีเขียวได้ด้วย

            สิ่งที่คณะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องการ "โชว์" ก็คือการก่อสร้างท่าเทียบเรือ หรืออาคารที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำแบบ "เท่ๆ" ให้อลังการสุด ๆ ล้ำเข้าไปในแม่น้ำมาก ๆ แต่ไม่กล้าแตะต้อง “เจ้าพ่อ” ริมน้ำใดๆ เลย ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยยอมแต่ที่จะลดขนาดของแม่น้ำเจ้าพระยาลง แล้วอย่างนี้จะมาคุยว่าเป็นโครงการระดับโลกได้อย่างไร

คิดอย่างไม่มีบูรณาการ

            มาดูตัวอย่างการการพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงริมน้ำบ้าง จะเห็นได้ตามภาพว่า รู้สึกทั้งน่ารัก ตลก แต่น่าสมเพชสิ้นดีหรือไม่ มีการเจาะทางตรงชั้น 1 ของตัวบ้าน เพื่อเปิดทาง นี่เป็นความเพ้อฝ้นหรืออย่างไร จริงๆ การทำตามภาพก็อาจทำได้  แต่ไม่ทราบว่าใช้กฎหมายฉบับไหน คงไม่ใช่การเวนคืน เป็นการเช่าชั้นล่างหรืออย่างไร เสาที่ยังปักไว้ (ส่งเดช) ไม่ฟาดหัวคนขี่จักรยานบ้างหรือ แนวคิดที่จนตรอกของการออกแบบก็คือ การไม่กล้าแม้แต่จะคิดสร้างเป็นอาคารชุด  ไม่กล้าแตะต้องชุมชน กลัวเสียงค้านจนลนลาน หวังจะตะบี้ตะวันทำโครงการนี้ให้ได้ (ตามที่รับหน้าที่มาศึกษา) ก็เท่านั้นหรืออย่างไร

            ผู้ที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำ ต้องได้รับการเวนคืน แต่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้สมน้ำสมเนื้อ การได้อยู่ดูวิวแม่น้ำมาชั่วนาตาปี ก็เป็นสิ่งที่พึงจ่ายค่าทดแทนเหมือนกัน แต่ถ้าจะบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอหน้ากัน ก็ควรที่จะให้คนอยู่ริมน้ำต้องไป  ต้องเอาริมน้ำมาทำถนน ทำเขื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งมหานคร ไม่ใช่เห็นแก่คนไม่กี่คนริมแม่น้ำ อย่าได้อ้างเรื่องศิลปวัฒนธรรมใด ๆ ดูอย่างคนจีน คนอินเดีย ย้ายไปทั่วโลก วัฒนธรรมก็ตามไปด้วย ไม่ได้หายไปไหน ศาลเจ้าซาไนเก็งที่ท่าดินแดง ก็ย้ายเมื่อมีการตัดถนนท่าดินแดง วัดวาอารามก็ย้ายกันมาแล้วในยามสร้างเขื่อน

คุ้มค่าหรือขาดทุนย่อยยับ

            งบประมาณ 14,600 ล้านบาท (http://bit.ly/1KgrOsH) ที่จะสร้างระยะแรกของโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยานี้ สร้างเสร็จจะมีคนใช้สักกี่คน สร้างให้พวกขี่จักรยานแพงๆ หรืออย่างไร โปรดทราบว่าสวนลุมพินี มีคนใช้วันละ 10,000 คน  สวนวชิรเบญจทัศ (รถไฟ-เหมาะกับจักรยาน) 5,000 คนต่อวัน และสวนเบญจกิติ (ยาสูบ - เหมาะกับจักรยาน) 2,000 คนต่อวัน (http://bit.ly/2cMpblp)

            ถ้าโครงการนี้มีคนใช้วันละ 3,000 คน จะมีต้นทุนคนละเท่าไหร่ โดยคิดจากเงิน 14,600 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ย 5% เท่ากับวันละ 2 ล้านบาท หรือคนละ 667 บาทต่อวันต่อคน ค่าสมาชิกสถานออกกำลังกายฟิตเนสเฟิสต์ยังตกเดือนละเพียง 2,000 บาทเศษ เช่นนี้แล้วคุ้มค่าหรือเสียหายย่อยยับกันแน่ ถือว่าแพงไปหรือไม่สำหรับการสร้างนี้

ทางเลือกอื่นที่ทำได้

            เงิน 14,600 ล้านบาท เอาไปทำอะไรอื่นได้บ้าง

            1. สามารถไปซื้อที่ดินชานเมืองไร่ละ 4 ล้านบาท สัก 20 ไร่ รวม 80 ล้านบาท และค่าพัฒนาอีก 20 ล้านบาท รวม 100 ล้านบาท เพื่อเป็นพื้นที่ขี่จักรยานได้ถึง 146 แห่ง

            2. สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ราว 3 แห่ง http://goo.gl/kMAjnX)

            3. ทางด่วนอุดรรัถยา-อยุธยา ระยะทาง 42 กิโลเมตรได้ครึ่งหนึ่ง http://bit.ly/1Ll1kq9)

            4. ถนนไร้ฝุ่นในชนบทได้ 1,750 กิโลเมตร http://goo.gl/D1pLsA)

            5. สร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อประชาชนนับแสน (http://bit.ly/1PoVhQh)

แนวทางการพัฒนาริมแม่น้ำที่แท้

            อันที่จริงการพัฒนาริมน้ำ สามารถทำเป็นทางเลือกได้ตั้งมากมาย แต่จะดันทุรังสร้างแบบนี้

            1. ริมแม่น้ำฮัน ณ กรุงโซล ทำเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เพิ่มพื้นที่จราจร และกลายเป็นเขื่อนกันน้ำท่วมอย่างดี (http://bit.ly/1PxdRZ3) อีกตัวอย่างหนึ่งที่คล้ายกันก็คือที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ เขาก็ยังไม่เกรง “หน้าอินทร์หน้าพรหม” ที่ไหน ทำสำเร็จเช่นกัน

            2. “ถนนแห่งดารา” ที่ฮ่องกง สร้างเฉพาะจุดชมวิว โดยไม่ต้องยาวถึง 14 กิโลเมตร (http://bit.ly/1UaOKf9)

            3. สะพานริมแม่น้ำนครแทมปา ฟลอริดา แม้จะสร้างล้ำเข้าไปในแม่น้ำ แต่ก็สร้างแบบ “พอเพียง” ไม่เน้นอลังการ ให้คนได้วิ่งเป็นหลัก ไม่ใช่ให้พวกขี่จักรยานมาโชว์ (http://bit.ly/2c7Loc2) ประเทศจน ๆ กลับนำเงินมาใช้อย่างไม่รู้จักคุณค่า ทำให้เกียรติภูมิชาติเสียหายด้วยซ้ำไป

            4. สร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวและเป็นระบบขนส่งมวลชนไปด้วย (http://bit.ly/20zZeb1) ใช้เงินน้อย ให้สัมปทาน แถมมีรายได้เข้าประเทศ เช่นเดียวกับที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษตามโครงการ the Emirates Air Line  ทั้งนี้ในกรณีกรุงเทพมหานคร เราสามารถสร้างกระเช้าได้ 2 เส้น เช่น จากวัดกัลยาณมิตรถึงตลาดน้อย และอีกเส้นจากตลาดน้อย-สาทร กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวและขนส่งมวลชน โดยใช้เป็นระบบสัมปทาน รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณเลย

            ช่วยกันคิดให้ดี ๆ เพื่อประเทศชาติของเรา อย่าใช้เงินภาษีประชาชนดั่งเบี้ยตามวิธีคิดแบบข้าราชการประจำ (จำนวนหนึ่ง)


 



 


 


 


 


 


 


 


 

 
 


 


 

อ่าน 4,007 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved