แนวรถไฟฟ้าบีทีเอส: ทุจริตเชิงนโยบาย?
  AREA แถลง ฉบับที่ 351/2559: วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เราใช้กันอยู่นี้ เป็นรถไฟฟ้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เกิดขึ้นหลังจากการล้มไปของรถไฟฟ้าลาวาลินที่ผ่านเส้นทางที่ดีกว่า อย่างนี้ถือเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายหรือไม่ ใครได้ ใครเสีย

            เคยสังเกตไหม ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ทางราชการวางแผนไว้ ทำไมต้องผ่านถนนพหลโยธิน ซึ่งมีบ้านอยู่กันเบาบาง และพอมาถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ตรงไปตามถนนพญาไท ซึ่งก็มีประชากรอยู่เบาบาง ถ้าจะเลี้ยวไปถนนราชปรารภที่ผ่านประตูน้ำ ซึ่งมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นกว่ามากก็ทำได้ ทำไมไม่ทำ ที่สำคัญทำไมรถไฟฟ้าจึงผ่านถนนราชดำริซึ่งแทบไม่มีใครผ่านเลย และถนนสุขุมวิทที่มีประชากรเบาบางกว่าถนนพระรามที่ 4 การวางแผนนำพารถไฟฟ้าผ่านไปในที่ต่างๆ เช่นนี้ จึงมีผู้ได้ประโยชน์

            ที่ดินบริเวณสยามสแควร์ ณ สิ้นปี 2558 คาดว่าจะมีราคาตารางวาละ 1,900,000 ล้านบาทซึ่งเป็นบริเวณที่มีราคาแพงที่สุดจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในขณะที่ย่านสีลมมีราคา 1,600,000 บาทต่อตารางวา และราคา 1,300,000 บาทต่อตารางวาสำหรับย่านเยาวราช ทั้งที่ ณ สิ้นปี 2537 นั้น ที่ดินแถวนี้มีราคาเพียงตารางวาละ 400,000 บาท ขณะที่สีลมมีราคาแพงกว่าคือ 450,000 บาท และเยาวราชมีราคาสูงที่สุดคือ 700,000 บาท แต่จากการมีรถไฟฟ้า ทำให้ราคาที่ดินแถวสยามสแควร์ กลับมีราคาแพงที่สุด

            ในทำนองเดียวกัน บริเวณท้องฟ้าจำลอง เทียบกับบริเวณกล้วยน้ำไท ณ ปี พ.ศ.2537 นั้น ที่ดินบนถนนพระรามที่ 4 กล้วยน้ำไท มีราคาตารางวาละ 200,000 บาท ขณะที่ท้องฟ้าจำลอง ถนนสุขุมวิท มีราคา 220,000 บาทต่อตารางวา แต่ ณ พ.ศ.2558 ท้องฟ้าจำลองกลับมีราคาแพงกว่าคือ ราคา 1,100,000 บาทต่อตารางวา ในขณะที่ที่กล้วย น้ำไทยังมีราคาเพียง 400,000 บาท สาเหตุสำคัญก็คือ ไม่มีรถไฟฟ้าผ่านย่านถนนพระรามที่ 4 นั่นเอง การมีรถไฟฟ้า จึงสร้างศักยภาพอย่างสูงยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินนั่นเอง

            หันกลับมาดูแผนพัฒนารถไฟฟ้ายุคแรก ๆ ของไทยที่วางแผนกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2522 คือรถไฟฟ้าลาวาลินซึ่งเป็นบริษัทที่ได้สัมปทานจากประเทศแคนาดา  ปรากฏว่า ในปี พ.ศ.2534 บริษัทนี้ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างจากรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ แต่ปรากฏว่าในวันถัดมา ได้เกิดรัฐประหารโดยคณะ รสช. เสียก่อนในปีเดียวกันนั้นเอง และรัฐบาลที่ คมช. แต่งตั้งก็ได้ 'ทบทวน' {1} หรือล้มเลิกแผนการสร้างรถไฟฟ้าแต่เดิมไปเสีย

            เมื่อศึกษาดูแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นสายรถไฟฟ้าที่ส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครโดยแท้ โดยไม่ได้มุ่งผ่านย่านที่ดินของนายทุน ขุนศึก หรือพวกศักดินาใหญ่ เช่น

            1. เส้นทางสายสีแดง จะเริ่มตั้งแต่สถานีขนส่งหมอชิตเดิม ผ่านบางซื่อ เข้าสู่ถนนสามเสน ซึ่งมีประชาชนอยู่กันอย่างหนาแน่น แล้วเลี้ยวไปตามคลองผดุงกรุงเกษมมาถึงมหานาค หัวลำโพง และตรงไปตามถนนพระรามที่ 4 จนถึงสามแยกที่รวมกับถนนสุขุมวิท โดยมีปลายทางที่อ่อนนุช และจะต่อไปสำโรงในอนาคต

            2. สำหรับสายสีเขียววิ่งจากแยกลาดพร้าวตัดกับถนนรัชดาภิเษก ผ่านมาตามถนนรัชดาภิเษก ผ่านมักกะสัน และมาตามทางรถไฟเลียบทางด่วนขั้นที่ 1 ปัจจุบัน แล้วจรดกับเส้นสายสีแดงที่บ่อนไก่ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนสาทร (ไม่ใช่สีลมตามบีทีเอสปัจจุบัน) แล้วข้ามไปวงเวียนใหญ่ โดยมีโอกาสขยายไปถึงบางแค นอกจากนี้สายสีแดงและสายสีเขียวยังจะจรดกัน ณ แยกรัชโยธินในอนาคตอีกด้วย

            3. นอกจากนี้ยังมีสายสีน้ำเงิน จากแยกคลองตันพระโขนง ผ่านมาตามทางรถไฟสายตะวันออก มาจรดกับสายสีแดงตรงนางเลิ้ง ผ่านมาตามถนนนครสวรรค์ วรจักร จักรวรรดิ์ ข้ามสะพานพระปกเกล้าที่สร้างสะพานข้ามสำหรับรถไฟฟ้าไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2527 และมาตามถนนพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงดาวคะนอง และมีแผนการที่จะขยายไปถึงตลาดบางกะปิทางทิศเหนือ และถึงถนนสุขสวัสดิ์-แยกนครเขื่อนขันธ์ในอนาคต

            จะสังเกตได้ว่าระบบรถไฟฟ้านี้ มุ่งไปที่เส้นทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพราะมีประชาชนผู้ใช้มากกว่าระบบรถไฟฟ้าสายปัจจุบันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผ่านถนนสามเสน มหานาค พระรามที่ 4 พระโขนง ในสายสีแดง ผ่านลาดพร้าว ทางรถไฟสายท่าเรือ สาทร วงเวียนใหญ่ และบางแค ในสายสีเขียว และผ่านคลองตัน ถนนเพชรบุรีตามทางรถไฟสายตะวันออก นางเลิ้ง วรจักร และที่สำคัญถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงสุขสวัสดิ์

            ถ้ามีการก่อสร้างตามแผนปี พ.ศ.2522 (ซึ่งชะลอเรื่อยมาจนเกือบได้ดำเนินการในสมัยรัฐบาลชาติชาย และพับไปนั้น) พื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองเดิม รากเหง้าทางวัฒนธรรมก็จะถูกรักษาไว้ เช่น ในกรุงโตเกียว หรือนคร โอซากา ที่สร้างรถไฟฟ้าผ่านใกล้ย่านเมืองเก่า และส่งเสริมการก่อสร้างโดยไม่ต้องร่นหรือเว้นระยะมากมายเช่นเขตทั่วไป ทำให้เขตใจกลางเมืองเช่นบางลำพู พาหุรัด สำเพ็ง เยาวราช ไม่ถดถอยหรือสูญเสียไป ไม่ต้องไปก่อสร้างศูนย์ธุรกิจในบริเวณอื่น ๆ มากนัก เป็นต้น


ที่มา: http://2bangkok.com/2bangkok-masstransit-bangkokmasterplan.html

            ยิ่งได้เห็นแผนการสร้างรถไฟฟ้าเมื่อปี 2522 จนแล้วจนรอดมาจนเห็นเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า อาจมีอิทธิพลมาเปลี่ยนเส้นรถไฟฟ้าเสียใหม่ผ่านที่ดินซึ่งไม่ค่อยมีคนอยู่หนาแน่น แทนที่จะสร้างผ่านเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นเช่นที่กล่าวถึง ยิ่งหากพิจารณาว่า หากมีการก่อสร้างตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2522 การเดินทางของประชาชนส่วนใหญ่ก็คงใช้ระบบขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลงก็คงลดน้อยลง มลภาวะก็คงเกิดน้อยลงเช่นกัน

            จึงอาจกล่าวได้ว่าระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ผ่านเส้นทางที่เป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ดูคล้ายการ "คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" ซึ่งเกิดขึ้นก่อนยุคทักษิณเสียอีก แต่เรื่องแบบนี้คงจับมือใครดมไม่ได้

อ่าน 5,346 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved