ป้อมมหากาฬอย่าอนุรักษ์แบบผิดๆ มาดูโลกภายนอกบ้าง
  AREA แถลง ฉบับที่ 374/2559: วันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            กรณีผู้บุกรุกอยู่อาศัยจำนวนหนึ่งไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานป้อมมหากาฬ โดยอ้างเหตุผลอนุรักษ์ วันนี้ ดร.โสภณ มาไขให้ฟังถึงการอนุรักษ์เชิงสร้างสรรค์

            ที่ผ่านมาผู้บุกรุกอยู่อาศัยหลายรายอ้างเหตุผลการบุกรุกที่เป็นเท็จต่าง ๆ นานา เช่น อ้างว่า ดร.ป๋วยเคยอยู่บ้านไม้หลังหนึ่ง ทั้งที่เจ้าของบ้านหลังดังกล่าวจะรื้อตามที่ได้รับค่าเวนคืนจาก กทม. แล้ว แต่ "คนพาล" ในพื้นที่กลับไม่ยอมให้รื้อ (http://bit.ly/2bQJAap) หรืออ้างว่ามีวิกลิเกโบราณทั้งที่ที่ตั้งแห่งแรกอยู่บ้านหม้อ ไม่ใช่ที่ดังกล่าว และบริเวณที่อ้างว่าเป็นที่ตั้งก็กลับมีบ้านสร้างอยู่ แสดงว่าคนในพื้นที่เองก็ไม่เคยตระหนักถึงเรื่องนี้ จนกว่าจะยกขึ้นมาอ้างเพื่อต่อต้านการรื้อย้ายที่เป็นธรรม (http://bit.ly/2cHoAAQ)

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขอยกตัวอย่างการอนุรักษ์ในต่างประเทศที่ไมได้กระทำอย่างมืดบอดเช่นในกรณีประเทศไทยดังนี้:

            1. อาคารโบราณใกล้พระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว อาคารนี้สร้างมานาน มีสถาปัตยกรรมในสมัยก่อน ถือได้ว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามโดยที่ที่ดินใจกลางเมืองมีราคาแพงมาก ดังนั้นจึงอนุรักษ์อาคารเดิมไว้ แต่สร้างอาคารใหม่คร่อมอยู่บนอาคารเดิม เพื่อที่จะใช้สอยที่ดินที่แสนแพงในใจกลางกรุงโตเกียวให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง


อาคารเก่าใจกลางเมืองถูกสร้างคร่อมโดยอาคารใหม่ ใจกลางกรุงโตเกียว
โปรดดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/1Xjfwnf

            2. สถานีรถไฟโอซากา นครโอซากา ในปัจจุบันรถไฟต่าง ๆ ลงใต้ดินกันแทบหมดแล้ว สถานีรถไฟบนดินขนาดใหญ่ใจกลางกรุงโอซากาจึงไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป ถ้าเป็นในประเทศไทย ก็คงมีเสียงเรียกร้องให้นำไปทำพื้นที่สีเขียว  แต่ในกรณีนี้ เขาจะพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ เพราะในใจกลางเมืองพื้นที่มีจำกัด จำเป็นต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะได้ไม่รุกออกนอกเมือง ส่วนใครจะได้พื้นที่สีเขียวก็สามารถไปสูดอากาศนอกเมือง หรือสร้างเป็นสวนเล็ก ๆ เป็นอาคารเขียว เพื่อลดมลภาวะ เป็นต้น


สถานีรถไฟโอซากาที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์
โปรดดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/1LBWMLS

          3. สร้างอาคารคร่อมอาคารเก่า นครโตรอนโต ปรากฏการณ์นี้ก็คล้ายกับที่ญี่ปุ่น เขาไม่ยอมให้ "คนตายขายคนเป็น" จึงสร้างอาคารคร่อมอาคารอนุรักษ์เดิมไว้ นอกจากนั้นภายในอาคารก็นำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ดูคล้ายเหลือแค่เปลือกภายนอกที่เหมือนเดิมไว้เท่านั้น ไม่เฉพาะอาคารที่แสดงนี้ ในนครโตรอนโต มีการสร้างอาคารใหม่คร่อมอาคารใหม่หลายหลังด้วยกัน


การอนุรักษ์อาคารเก่าด้วยการสร้างคร่อม ณ นครโตรอนโต
โปรดดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/1hMZUs8

            การอนุรักษ์อาคารใด ๆ นั้นไม่ควรอนุรักษ์อย่างมืดบอด ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงด้วย อย่างกรณีป้อมมหากาฬ หากให้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นสวนสาธารณะสำหรับการพักผ่อนและออกกำลังกาย น่าจะมีผู้มาใช้สอยวันละ 1,600 คน ค่าใช้จ่ายสุทธิคนละ 32 บาทต่อวัน ก็เท่ากับวันละ 51,200 บาท หรือปีละ 18.69 ล้านบาท หากถูกผู้บุกรุกครอบครองไปใช้อีก 10 ปี ณ อัตราดอกเบี้ย 5% ก็เท่ากับว่าส่วนรวมต้องสูญเงินไป 144.32 ล้านบาท ตามสูตร (1-(1/(1+i)n))/i โดยที่ i คืออัตราดอกเบี้ย 5% ส่วน n คือระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง

            การจะให้ใครมาครอบครอง อ้างโบราณสถาน (วิกลิเก) ที่ไม่มีอยู่จริง และอ้างบ้านไม้โบราณที่เจ้าของจะรื้อแต่พวกคนครอบครองไม่ให้รื้อเพื่อหาเหตุไม่ยอมย้ายนั้น เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลจริง ๆ และกลับทำให้สังคมต้องสูญเสียปีละเกือบ 20 ล้าน เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และพึงละอาย

อ่าน 3,260 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved