อ่าน 1,274 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 76/2554: 31 สิงหาคม 2554
การศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ควรได้รับการควบคุม ตรวจสอบ และส่งเสริม อย่างไรก็ตามในกรณีประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพนี้ ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งในการดูแลวิชาชีพก็คือการจัดให้มีการศึกษาต่อเนื่อง (CPD: Continuing Professional Development Program) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้นักวิชาชีพได้มีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องเพื่อให้สามารถบริการแก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั่นเอง
          ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงขอเสนอกรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับไทย มาเป็นให้เห็นว่า CPD ของประเทศอื่นเป็นอย่างไรบ้าง สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศสิงคโปร์กำหนด CPD ไว้ดังนี้:
          1. การเข้าสัมมนา ดูงานที่เกี่ยวเนื่องกับการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์หรือที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเข้าร่วมหรือการไปนำเสนอผลการศึกษา-บรรยายก็ตาม เช่น การเข้าร่วมเสวนาวิชาการรายเดือนของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
          2. การประชุมสัมมนาในประเด็นทางด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เข้าประชุมซักซ้อมความเข้าใจในหลักเกณฑ์ใหม่ของการเป็นกรรมการผู้คัดเลือกสมาชิกผู้ประเมินใหม่ในประเทศไทย ของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย เป็นต้น
          3. การเข้ารับการอบรมด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ เช่น โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย สำนักธรรมนิติ สมาคมอื่น ๆ
          4. การทำวิจัยด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
          5. การเขียนบทความวิชาการตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์วิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
          เวลาที่ใช้ในกิจกรรมข้างต้นเหล่านี้ทุกชั่วโมงสามารถนำมานับเป็นชั่วโมงของ CPD โดยในกรณีสิงคโปร์ ในแต่ละปีต้องทำกิจกรรมข้างต้นอย่างน้อย 20 ชั่วโมงหรือภายใน 3 ปีต้องมีเวลา 60 ชั่วโมง นอกจากนี้ในกิจกรรมต่อไปนี้ สามารถนำมานับเวลาได้สองในสาม เช่น
          1. การเข้าศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของสถาบันการศึกษา เช่น การศึกษาในหลักสูตร RE-CU ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรประกาศนียบัตรการประเมินค่าทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรกระทรวงศึกษาธิการของโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้งนี้รวมทั้งการเรียนผ่านทางไกล เช่น หลักสูตรการบริหารทรัพย์สินของสมาคม Building Owners and Managers Institute ที่ร่วมกับโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยจัดขึ้น เป็นต้น
          2. การวิจัยส่วนบุคคลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การทบทวนวรรณกรรม การศึกษาเกี่ยวกับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามที่ได้รับมอบหมาย การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินในโครงการหนึ่ง ๆ
          อย่างไรก็ตามกิจกรรม 2 ข้อหลังนี้ หากใช้เวลา 30 ชั่งโมง ก็จะนับได้แค่สองในสามหรือ 20 ชั่วโมงนั่นเอง และเอามานับรวมกันได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงในเวลา 20 ชั่วโมงที่กำหนดใน 3 ปีนั่นเอง แต่สำหรับในฮ่องกง ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินประเภทธุรกิจ (Business Valuation) เวลา CPD ขั้นต่ำ เป็นเพียง 10 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ส่วนในออสเตรเลียกำหนดให้สามารถปฏิบัติ CPD ทำนองข้างต้น 20 ชั่วโมงต่อปี และทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเองอีก 20 ชั่วโมงต่อปี กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามนี้ ใบอนุญาตของการเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินก็จะถูกเพิกถอน
          สมาคมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทยจึงควรส่งเสริมให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินมีความรู้อย่างกว้างขวางโดยไม่จำกัดให้เฉพาะกิจกรรมที่สมาคมจัดเอง บทบาทของสมาคมคือการเป็นผู้แทนพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต่อสังคมภายนอก ไม่ใช่ไปแข่งขันกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
          ในประเทศที่เจริญกว่าไทยทั้งสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง CPD หรือการศึกษาต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต้องดำเนินการ และสามารถเข้าร่วมในราคาถูก เช่น การเข้าร่วมการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ การประชุมรายไตรมาสของสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร การเสวนาวิชาการรายเดือนของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งส่วนมากสมาชิกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ในราคาถูก เช่น 300-500 บาท หรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย เป็นต้น
          มาร่วมส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค เพื่อความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของวิชาชีพ

หมายเหตุ: โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมที่
กรณีสิงคโปร์: http://www.sisv.org.sg/Membership/CPD/CPD.htm
กรณีออสเตรเลีย: http://www.valuersinstitute.com.au/attachments/AVI__PSC_CPD_Policy.pdf
กรณีฮ่องกง (Business Valuation): http://www.hkbvf.org/cpd.shtml

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved