แบงค์จะเจ๊งเพราะสนิมเหล็กไหม
  AREA แถลง ฉบับที่ 511/2561: วันพุธที่ 24 ตุลาคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            แบงค์ไทยเป็นลักษณะ "ผูกขาด" ทำกำไรแบบ "ปิดประตูตีแมว" นี่ขยับมาถึงขั้นแม้แต่ประเมินค่าทรัพย์สินเองเพื่อปล่อยกู้ก็ยังทำเองได้ และนี่แหละคือ "สนิมเหล็ก" ที่จะทำให้แบงค์ "เจ๊ง" ได้

            เร็วๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนเรื่องฟองสบู่อสังหาฯ (https://bit.ly/2DrumIT) ผมในฐานะศูนย์ข้อมูลที่สำรวจข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ขอชี้ให้เห็นถึงกลุ่มที่อยู่อาศัยที่น่าจะมีปัญหาในการขายในปัจจุบันนี้ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ:

            1. ทาวน์เฮาส์: ระดับราคาที่มีโอกาสเสี่ยงสูงสุดคือทาวน์เฮ้าส์ราคา 5-10 ล้านบาท ที่รอขายอยู่จำนวน 1,410 หน่วย เพราะกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาขายอีกถึง 44 เดือนซึ่งค่อนข้างยาวนานมากเพราะเป็นกลุ่มที่ตั้งราคาไว้ค่อนข้างสูง

            2. ห้องชุดพักอาศัย: กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดมีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทซึ่งเหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยแต่โดยที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำสุดขีด จึงทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีกำลังซื้อจำกัดดังนั้นสินค้าที่เหลือขายอยู่ในตลาดจึงต้องใช้เวลาดูดซับอีกนานถึงประมาณ 35 เดือน

          ทุกวันนี้ ธปท. ห่วงใยเรื่อง NPLs ของธนาคารเพราะทุกวันนี้เงินดาวน์ต่ำมาก คนกู้อาจหนีได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ธปท. ก็อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินเองได้ ถ้าทรัพย์ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท นัยว่าธนาคารแบกรับค่าจ้างประเมินไม่ไหวในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงการใช้ผู้ประเมิน in house มีต้นทุนแพงกว่าต่างหาก เหตุผลที่อ้างเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการ Outsourcing ให้บริษัทประเมินภายนอกทำ อย่างไรก็ถูกกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบพนักงานอะไรมาก แต่น่าแปลก ธปท. กลับยอมทำตามที่ธนาคารเสนอโดยดุษฎีได้อย่างไร

          ธนาคารพาณิชย์มีอำนาจมากขึ้น โดย ธปท.กำหนดชัดเจนว่า

          1.   ทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้าน สามารถใช้ผู้ประเมินภายในแบงค์ได้เลย

          2.   กรณีที่จะเลือกใช้ผู้ประเมินนอกหรือผู้ประเมินภายในแบงค์ ให้แบงค์พิจารณาจากผลจากการจัดระดับความเสี่ยงรวม และผลจากการจัดการจัดระดับความเสี่ยด้านเครดิตของแบงค์ จากรายงานการตรวจสอบล่าสุดที่ได้รับจาก ธปท.

          2.1 ​กรณีแบงค์มีผลจัดระดับความเสี่ยงรวมอยู่ในระดับ 1 หรือ 2 และมีผลการจัดระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ค่อนข้างต่ำ ปานกลาง และได้รับความเห็นชอบระบบงานประเมินราคาจาก ธปท. ให้แบงค์ สามารถกำหนดแนวทางการเลือกใช้ผู้ประเมินนอกหรือผู้ประเมินราคาภายในธนาคารฯ ได้เองโดยทำหนังสือขอความเห็นชอบมายัง ธปท. ทั้งนี้ทาง ธปท.จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง

          2.2 ​กรณีแบงค์ไม่เข้าข่ายตามข้อ 2.1 แต่มีผลการจัดระดับความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับต่ำ ค่อนข้างต่ำ ปานกลาง แบงค์ สามารถทำการประเมินราคาโดยเลือกใช้ผู้ประเมินนอกหรือผู้ประเมินราคาภายในธนาคารฯ เองก็ได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ แบงค์ต้องใช้ผู้ประเมินราคาภายนอก

          2.2.1 สำหรับสถาบันที่มีกองทุนน้อยกว่า 8,000 ล้านบาท ให้ใช้ผู้ประเมินราคาภายนอกสำหรับการประเมินมูลค่าหลักประกันของลูกหนี้ที่มีราคาตามบัญชีสูงกว่า 50 ล้านบาท

          2.2.2 สำหรับสถาบันที่มีกองทุนตั้งแต่ 8,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้ผู้ประเมินราคาภายนอกสำหรับการประเมินมูลค่าหลักประกันของลูกหนี้ที่มีราคาตามบัญชีสูงกว่า 100 ล้านบาท

          สรุปถ้าทรัพย์สินที่ประเมินไม่เกิน 10 ล้านบาท แบงค์ใช้ผู้ประเมินราคาภายในหรือจะใช้ผู้ประเมินภายนอกได้แต่ถ้าเกินจากนี้ต้องดูเงื่อนไขจากข้อที่ 2.1 และ 2.2

          การกระทำอย่างนี้ธนาคารก็กินรวบ สิ่งที่เกิดขึ้น ก็เท่ากับธนาคารประเมินกันเองได้ แล้วอย่างนี้ ความเป็นกลางไปอยู่ที่ไหน ธนาคารต่างๆ จึงพยายาม "ดูด" ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวจะประเมินค่าทรัพย์สินเอง ประมาณว่าแต่ละธนาคารใหญ่ๆ มีผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเอง ดังนี้

          1. ธนาคารกรุงเทพ 80 คน

          2. ธนาคารกรุงไทย 100 คน

          3. ธนาคารทหารไทย 120 คน

          4. ธนาคารไทยพาณิชย์ 200 คน (เมื่อก่อนใช้ ‘nominee’ คือ บจก.สยามพิธิพัฒน์ เดี๋ยวนี้ประเมินเองแล้ว)

          5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 170 คน

          6. ธนาคารยูโอยี 50 คน

          7. ธนาคารกสิกรไทย 400 คน(เมื่อก่อนใช้ ‘nominee’ คือ บจก.โปรเกรส’ เดี๋ยวนี้ประเมินเองแล้ว)

          8. ธนาคารธนชาต 20 คน (ใช้หัวแปลนเอสเตท)

          ถ้าต่อไปแทบทุกธนาคารทำเอง แล้วบริษัทประเมินจะอยู่รอดได้อย่างไร ความเป็นธรรมจะมีไหมในการอำนวยสินเชื่อ. ข้อครหาว่า เมื่อใดธนาคารจะปล่อยกู้ ก็จะประเมินต่ำๆ เมื่อจะขายทรัพย์สิน ก็จะประเมินราคาไว้สูงลิ่ว และอาจจะเข้าอีหรอบเดิม คือถ้าปล่อยกู้ให้ญาติมิตร ก็อาจประเมินราคาไว้สูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งเคยทำให้ธนาคารเจ๊งมาแล้ว เป็นต้น นี่คือการขาดความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของแบงค์ในฐานะบริษัทมหาชนหรือไม่

          สมัยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารโลกได้มาศึกษาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและเสนอให้ไทยใช้บริการการประเมินค่าทรัพย์สินของภาคเอกชนที่เป็นอิสระ ไม่ใช่ให้ธนาคารประเมินกันเอง (https://bit.ly/2IfWXi6) ในอดีตที่ผ่านมาธนาคารบางแห่งอำนวยสินเชื่อไปโดยที่ฝ่ายประเมินของธนาคารเองยังอยู่ระหว่างเดินทางเพื่อไปประเมินทรัพย์สินแปลงนั้นอยู่เลย นี่คือสาเหตุที่ไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

            แต่ 20 ปีให้หลัง เรากลับกำลังจะก้าวไปสู่วิกฤติโดยแบงค์ทั้งหลายจะประเมินค่าทรัพย์สินเอง นี่คือ "สนิมเหล็กที่เกิดจากเนื้อในเหล็ก" อย่างนี้แบงก์ไทยจะเจ๊งอีกรอบหรือไม่ เป็นนิมิตหมายว่าต่อไปธนาคารต่าง ๆ จะประสบปัญหาเพราะความไม่โปร่งใสอีกหรือไม่

อ่าน 4,134 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved