อ่าน 842 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 5/2555: 11 มกราคม 2555
ทุ่งรับน้ำกับการเก็บภาษีและประกันภัยน้ำท่วม

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          มาตรการ “ทุ่งรับน้ำ” ของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน และอาจสร้างความสับสน AREA เสนอมาตรการเก็บภาษีและประกันภัยน้ำท่วม
          ตามที่มีข่าวว่า นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้กล่าวถึงมาตรการชดเชยแก่พื้นที่รับน้ำท่วมว่า “จะต้องมีการเจรจากับเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ เรื่องการจ่ายค่าชดเชยตามอัตราส่วนที่เกษตรกรพอใจ ระหว่างที่นำน้ำหลากไปพักไว้ในพื้นที่ เพราะแต่ละจังหวัดและแต่ละโซนอาจมีระยะเวลาไม่เท่ากัน เช่น ระหว่าง เดือนม.ค.-ก.พ. หรือช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. เป็นต้น” นั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ความเห็นว่าในทางปฏิบัติอาจมีความยากลำบากในการคำนวณ และอาจสิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็นเพราะปกติพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นพื้นที่รับน้ำตามปกติในฤดูน้ำหลาก (โดยรัฐไม่เคยต้องเสียค่าชดเชย) อยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุด อาจทำให้ราคาที่ดินในพื้นที่เหล่านี้ตกต่ำลง เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า ในพื้นที่เหล่านี้จะมีน้ำท่วมขังสูง 1-3 เมตรทุกปีเป็นเวลาปีละ 2-3 เดือน เป็นต้น
          สำหรับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นในความเป็นจริง คงไม่สามารถและไม่ควรที่จะย้าย เพราะมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและที่อยู่อาศัยลงทุนอยู่โดยรอบ ยิ่งกว่านั้นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็มีขนาดเล็กพอ ๆ กับหัวเข็มหมุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ของเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังนั้นโดยตัวของนิคมอุตสาหกรรมเองจึงไม่เป็นตัวกีดขวางการไหลของน้ำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากจะป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ คงต้องเน้นที่การสร้างแนวป้องกันโดยรอบเป็นสำคัญ และเจ้าของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตลอดจนบริษัทที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม จะต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายหลักในการป้องกัน ไม่ใช่ใช้แต่ภาษีจากประชาชนเป็นหลัก เพราเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง
          โดยหลักแล้ว พื้นที่ใดที่ถูกน้ำท่วมจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลสมควรที่จะช่วยเหลือบรรเทาภัย (Relief) และช่วยเหลือการบาดเจ็บหรือการสูญเสียชีวิตกันตามสมควร แต่ละชดเชยให้ทุกอย่างทั้งธุรกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพการงาน ฯลฯ เช่นเดียวกับการซื้อประกันภัย ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลก็คงไม่มีงบประมาณเพียงพอเช่นนั้น มาตรการพิเศษใด ๆ ในการป้องกันน้ำท่วมจึงอยู่ที่การเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อเป็นงบประมาณที่จำเป็นในการดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วม
          ในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ในทุกพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ในเขตเมืองจึงต้องป้องกันเป็นพิเศษจากการเก็บภาษีน้ำท่วม และเสริมด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนซื้อประกันภัยน้ำท่วม เพื่อให้ครอบคลุมความเสียหายได้ตามความเป็นจริง และหากประชาชนร่วมกันซื้อประกันภัยนี้มากเพียงพอ ก็จะสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนเจ้าของทรัพย์สินเอง
          ดร.โสภณ พรโชคชัย กล่าวว่า โดยสรุปแล้ว มาตรการที่สำคัญ 3 มาตรการในการป้องกันน้ำท่วมก็คือ ประการแรก การป้องกันพื้นที่ในเขตเมือง โดยเฉพาะใจกลางเมืองต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะในแต่ละเมืองภูมิภาค มีขนาดไม่กี่ตารางกิโลเมตร หากมีการเตรียมพร้อมที่ดี ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งมักมีน้ำท่วมนอกฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่แล้ว
          มาตรการที่สองก็คือการระบายน้ำ ซึ่งได้แก่การขุดคลองหรือแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่เพื่อการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยการนี้จำเป็นต้องมีการเวนคืนอย่างเร่งด่วนตามราคาตลาด แต่มาตรการนี้อาจใช้เวลาอีก 3-5 ปีจึงจะเป็นผลสำเร็จจริง แต่ก็เป็นมาตรการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับมาตรการสุดท้ายก็คือมาตรการสร้างเขื่อนกันน้ำทะเลหนุนในอ่าวไทย ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบายน้ำที่สูบออกสู่ทะเลได้โดยไม่มีอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาแนวเขื่อนนี้เป็นเมืองใหม่ เมืองท่องเที่ยวตากอากาศ หรือเมืองธุรกิจได้ในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตามมาตรการนี้อาจใช้เวลานับสิบปี
          นอกจากนี้มาตรการเสริมแม้ไม่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม แต่ช่วยเสริมศักยภาพของพื้นที่น้ำท่วมก็คือการก่อสร้างทางด่วน ซึ่งในพื้นที่น้ำท่วมหลายบริเวณจำเป็นต้องมีทางด่วนเพื่อการสัญจร เช่น บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ถนนเพชรเกษม ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนศรีนครินทร์ ถนนสุขุมวิทช่วงปากน้ำ ถนนพระรามที่ 2 ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี เป็นต้นการสร้างทางด่วนเช่นนี้จะทำให้ราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นปีละ 10% แทนที่จะเป็นปีละ 4-5% สำหรับที่ดินทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

หมายเหตุ:
กรุงเทพธุรกิจ. เปิดพื้นที่‘2ล้านไร่’รับน้ำ. 9 มกราคม 2555: http://daily.bangkokbiznews.com/detail/39777
และ ประชาชาติธุรกิจ. เปิด13พื้นที่รับน้ำภาคเหนือ-กลาง ครม.ไฟเขียวตั้ง2กองทุน4แสนล้าน. 29 ธันวาคม 2554: www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1325114196&grpid=00&catid=00

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved