อ่าน 908 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 26/2555: 29 กุมภาพันธ์ 2555
การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon

          เชื่อว่าปัญหาผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหรือผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจะมีมากขึ้นในอนาคตหากไม่มีการดำเนินการที่ดี การจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวเป็นศูนย์พักพังสำหรับประชาชนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจึงเป็นสวัสดิการสังคมที่สมควรดำเนินการ
          ในวันนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัยในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอิสรชน ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสไร้ที่อยู่อาศัยหรืออีกนัยหนึ่งผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ได้จัดแถลงข่าวสถานการณ์ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จึงนำเสนอแนวคิดการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ดังนี้:
          1. ในปัจจุบันความรุนแรงของปัญหานี้อาจไม่มากนัก แต่ในอนาคตจำนวนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจะมีมากขึ้น โดยครัวเรือนของไทย 82.4% มีบ้านของตนเอง โดยเป็นในเขตเทศบาล 62.7% (สัมมโนประชากรและเคหะ 2543) นอกจากนี้กลไกตลาดสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง ณ สิ้นปี 2555 มีจำนวนที่อยู่อาศัยรอการขายอยู่ถึง 135,598 หน่วยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
          2. ครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครมีรายได้ 43,669 บาทต่อครัวเรือน (ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) หากสมมติให้รายได้ 1/3 ใช้เพื่อการผ่อนที่อยู่อาศัย หรือเป็นเงิน 14,556 บาท และหากผ่อนเป็นเวลา 20 ปี ณ อัตราดอกเบี้ย 8% โดยสมมติให้เงินกู้เท่ากับ 90% ของราคาบ้าน ก็แสดงว่า ครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถซื้อบ้านได้โดยเฉลี่ยหน่วยละ 1.93 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2554 มีที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ทั้งหมด 85,800 หน่วย เป็นที่อยู่อาศัยที่ขายในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทถึง 41,415 หน่วย หรือ 48% แสดงว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบ้านได้
          3. อย่างไรก็ตามปัญหาผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอาจเกิดขึ้นได้ทั่วไปทั้งผู้ที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว แต่ยากจนลงจนไร้ที่อยู่อาศัย เช่นในภาพยนตร์เรื่อง “ยิ้มไว้ก่อนพ่อสอนไว้” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า The Pursuit of Happyness ที่นำแสดงโดย Will Smith เมื่อปี 2549 ซึ่งปรากฏว่าครอบครัวล่มสลายจนต้องไปอยู่อาศัยในศูนย์พักพิง ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราว กึ่งถาวร หรือถาวร เช่น เด็กเร่ร่อน ผู้ที่มีความผิดปกติทางสมอง ผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ บุคคลเหล่านี้สมควรที่รัฐในฐานะที่เป็นรัฐสวัสดิการ ควรให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถประชาชนเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ และไม่เป็นปัญหาทั้งต่อตนเองและสังคมส่วนรวม
          4. ประสบการณ์ในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก มีการจัดหารที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราวให้กับบุคคลต่าง ๆ แยกตามกลุ่ม เช่น กลุ่มชาย กลุ่มหญิง กลุ่มเยาวชน กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้มีความผิดปกติทางร่างกายหรืออารมณ์ กลุ่มขายแรงงานทางเพศ (Sex Workers) เป็นต้น การจัดหาที่อยู่อาศัยอาจจะจัดหาให้เฉพาะเป็นรายช่วงของวัน หรือเฉพาะเวลากลางคืน และอาจเป็นในรูปแบบการให้อยู่เปล่า หรือการเช่าระยะสั้นและระยะยาว
          5. ในอนาคตกลุ่มที่จะมีโอกาสเป็นกลุ่มไร้ที่อยู่อาศัย (ชั่วคราว) เพิ่มขึ้นก็ได้แก่ผู้ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งอาจต้องการศูนย์พักพังหรือศูนย์อพยพในบางช่วงของเวลา แต่ประเด็นสำคัญในการจัดหาที่อยู่อาศัยเหล่านี้ก็คือการให้อยู่ชั่วคราวเพื่อให้สามารถเข้าสู่สังคมตามปกติสุขได้
          6. หน่วยงานที่จัดหาที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร หรือกรมกองในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การปล่อยให้ประชาชนต้องเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย เป็นการสร้างอันตรายและความเสี่ยงทั้งต่อประชาชนเหล่านี้และสังคมเอง อย่างไรก็ตามศูนย์พักพิงที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจมีจำกัด และเป็นการดำเนินการในเชิงรูปแบบเป็นสำคัญ ว่าได้ดำเนินการจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ได้ทั่วถึง ค่าใช้จ่ายในการนี้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หรือเรื่องไม่จำเป็นอื่น นับว่าแตกต่างกันมาก
          7. การให้มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มขอทานตามแหล่งต่าง ๆ อาจแสดงนัยถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบประการหนึ่ง จึงเกิดการปล่อยปละละเลยแบบ “หูไปนา ตาไปไร่” หรือเป็นการจัด “สัมปทาน” สถานที่ขอทาน ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมโดยรวม ดังนั้นสังคมจึงควรตรวจสอบในเรื่องนี้
          8. สถานที่ที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้แก่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ได้แก่ ที่วัด ที่เอกชน หรือที่ตาบอดที่เช่าจากเจ้าของที่ดินเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้ถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้ควรเป็นในย่านใจกลางเมืองที่สะดวกแก่การเดินทางและการตรวจตรารักษา การดูแลบุคคลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ดี ย่อมทำให้ชุมชนโดยรอบมีระเบียบ ความสงบสุข เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ช่วยเพิ่มพูนมูลค่าของทรัพย์สินในชุมชนหรือเมืองที่น่าอยู่นั้น ๆ ด้วย
          ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ทั้งหน่วยราชการที่ควรมีแผนแม่บทเพื่อการนี้ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ตลดจนพรรคการเมืองหรือนักการเมือง เพราะหากพรรคใดสามารถเสนอและมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือผู้ไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม อาจได้รับการต้อนรับที่ดีจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved