อ่าน 974 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 34/2555: 16 มีนาคม 2555
ปราบทุจริตแบบออสเตรเลียที่ไทยพึงเอาเยี่ยงอย่าง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon

          ไทยควรขานรับตามออสเตรเลียที่ให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเอกชนรับช่วงไปดำเนินการประเมินค่าทรัพย์สินทั่วประเทศเพื่อการเสียภาษี เพราะค่าจ้างค่อนข้างถูก คุ้มค่า โดยมีค่าใช้จ่ายรวมเพียง 2.15% ของภาษีที่จัดเก็บได้เท่านั้น
          AREA แถลงฉบับนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่หากการทุจริตหมดไปในวงการต่าง ๆ รวมทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็จะทำให้ราคาทรัพย์สินไม่แพงจนเกินไป เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค สาระใน AREA แถลงฉบับนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้จากการแลกเปลี่ยนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยคนไทยผู้อยู่อาศัยในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลียมา 33 ปี ในระหว่างพาคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เดินทางไปดูงานที่นครซิดนีย์เมื่อเร็ว ๆ นี้
          ภาพสะท้อนความโปร่งใสในออสเตรเลียที่ไทยควรนำมาใช้เพื่อการปราบปรามการทุจริต ได้แก่
          1. การเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเป็นบ่อเกิดของการทุจริตและประพฤติมิชอบ เจ้าของที่ดินที่อยู่อาศัยทั้งหลายต้องเสียภาษีอย่างถ้วนหน้า แม้อัตราภาษีเท่ากันแต่ผู้ที่มีทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ก็ย่อมเสียภาษีในจำนวนที่มากกว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่สำคัญของพลเมือง การหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจะได้รับโทษที่หนักกว่าประโยชน์ที่ได้จากการหลบเลี่ยงภาษี
          2. การส่งเสริมความรับผิดชอบของบุคคลต่อสังคมโดยเคร่งครัด เช่นในกรณีใบขับขี่ ผู้ขอจะต้องฝึกฝนการขับขี่เป็นเวลา 240 ชั่วโมงในช่วงเวลาและอากาศที่แตกต่างกัน จากนั้นจึงจะสามารถขอสอบใบขับขี่ได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผู้ได้ใบขับขี่ชั่วคราวจะต้องแปะใบขับขี่ไว้ทั้งกระจกหน้าและหลังรถ สามารถขับรถได้ไม่เกิน 5 ทุ่มในช่วง 2 ปีแรก และมีผู้โดยสารนอกเหนือจากคนขับได้ไม่เกิน 1 คน ในระหว่างนี้ หากกระทำผิดกฎจราจร เช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่หยุดให้คนข้ามถนนก่อน ก็ต้องเริ่มต้นกระบวนการขอใบอนุญาตใหม่ เป็นต้น
          3. การบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เช่น หาก ‘สารวัตรนักเรียน’ พบเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไปเดินเตร็ดเตร่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าในเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น 1 ทุ่ม ผู้ปกครองจะต้องถูกลงโทษด้วยการจำคุก ด้วยเหตุนี้เด็ก ๆ จึงได้รับการดูแลจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด โอกาสที่จะเกิดปัญหานักเรียนตีกันเช่นในประเทศไทย จึงไม่เกิดขึ้น ผู้ที่จะเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนทุกคน ความเคร่งครัดเช่นนี้จึงเป็นการปิดโอกาสการติดสินบนเจ้าพนักงาน
          4. การส่งเสริมคุณธรรมให้ถูกทาง ไม่ใช่การเอา “ธรรมะเข้าข่ม” หรือ “อมพระมาพูด” แต่นักเรียนจะต้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 3 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 และต้องมีการสอบอย่างจริงจังก่อนจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย  ดังนั้นเด็ก ๆ จึงเติบโตเป็นพลเมืองดี ที่ตระหนักถึงหน้าที่การเสียภาษี การไม่ละเมิดต่อผู้อื่นในสังคม การรักษาสาธารณสมบัติ เป็นต้น
          5. การป้องกันการฟอกเงินด้วยการทำให้บ่อนการพนัน (Casino) เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องแอบเล่น จึงไม่มีข้าราชการมารีดไถ ส่งส่วยแบบประเทศไทย การทำให้บ่อนถูกกฎหมาย ยังเป็นการหาเงินเข้ารัฐได้ทางหนึ่งจากกิจการบ่อนและจากรายได้ของนักเล่นการพนันนั่นเอง
          6. การคุ้มครองผู้บริโภคโดยการให้อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องมีใบอนุญาต เพื่อควบคุมการประกอบอาชีพ และผู้ที่จะมีใบอนุญาตเช่นนี้ได้ จะต้องผ่านการตรวจโรคเป็นระยะ ๆ มีสุขภาพที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแก่ผู้บริโภค และที่สำคัญผู้ประกอบอาชีพนี้ก็ยังต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
          7. งานราชการต่าง ๆ ทยอยให้ภาคเอกชนดำเนินการ (Privatization) แม้แต่ระบบคุก ระบบการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษีของรัฐ ซึ่งก็คล้ายกันในหลายประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก การให้ภาครัฐดำเนินการเองตามระบบราชการ มักไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่การให้ภาคเอกชนดำเนินการบนพื้นฐานของความโปร่งใสและการแข่งขันอย่างเสรี สังคมย่อมได้บริการที่คุ้มค่ากว่า
          ดังนั้นการปราบปรามการทุจริตจึงไม่ใช่มุ่งไปที่การสอนให้คนเป็นคนดีตามหลักศาสนา เอาธรรมะเข้าข่ม ปุถุชนย่อมมีกิเลส และใช่ว่าทุกคนจะสามารถบรรลุโสดาบันหรือไปสู่นิพพานได้ การทำให้สังคมสงบสุข ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบจึงไม่ได้เน้นที่การ ‘ปลูกฝัง’ หรือสอนศีลธรรมจรรยา แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้พลเมืองทุกคนอยู่ในกรอบของกฎหมาย เช่นการมี ‘ศีล’ ที่มีการตรวจสอบ ป้อมปรามที่ดี
          แต่บางครั้ง แนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตก็เหมือน ‘พายเรือในอ่าง’ ในแง่หนึ่งการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะโทษน้อย แต่หากเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น ก็กลายเป็นช่องทางการติดสินบนเจ้าพนักงาน ดังนั้นการปราบปรามการทุจริตจึงต้องพุ่งเป้าไปที่ข้าราชการในหน่วยงานที่อ่อนไหวต่อการทุจริตก่อน และทำการปราบปรามอย่างจริงจัง เข้าทำนอง ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง จึงเป็นทางออกสำคัญ
          นอกจากนี้ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับความเป็นจริง กฎหมายในออสเตรเลียหรือประเทศที่เจริญแล้วอื่น ๆ สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว แต่ของไทยนั้นทำได้ยากและช้ามาก ภาษิตกฎหมายกล่าวไว้ว่า ความล่าช้าคือความไม่เป็นธรรม เป็นช่องทางการทุจริตและประพฤติมิชอบ
          กฎหมายที่ออกมาก็มุ่งปกป้องอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย ซึ่งก็เท่ากับเป็นการทุจริต เช่น กฎหมายผังเมืองกำหนดไว้ว่าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องสามารถออกผังเมืองรวมได้ แต่ถ้าจะออกผังเมืองเฉพาะไปบังคับการใช้ที่ดินซึ่งส่งผลกระทบต่อเจ้าที่ดินรายใหญ่ ๆ จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ผ่านสภา ซึ่งคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะทำได้สำเร็จ ดังนั้นประเทศไทยจึงไม่เคยมีผังเมืองเฉพาะบังคับกับที่ดินบริเวณใด
          หน่วยราชการต่าง ๆ ของไทยต่างยึดถือกฎหมายคนละฉบับ ต่างมีอำนาจอันจำกัด โอกาสที่จะเกิดบูรณาการจึงมีไม่มากนัก ผู้ว่าราชการจังหวัด ‘CEO’ ที่ดี หรือข้าราชการที่ประพฤติดี หรือประชาชนทั่วไป จึงได้แต่มองตาปริบ ๆ กับการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระบบราชการกลายเป็นระบบที่ฟักและชุบเลี้ยงโจรโดยคนดีๆ ไม่มีโอกาสทำอะไรได้มาช้านานแล้ว
          องคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตก็ขาดบูรณาการ ตั้งแต่ ศาล ตำรวจ อัยการ และองค์กรอิสระ เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. คดีความที่เข้าสู่การพิจารณาก็มีมากมายตั้งแต่เรื่องใหญ่จนเรื่องเล็ก กระทั่งทำให้เรื่องสำคัญหลาย ๆ เรื่องขาดอายุความไป การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปรามปรามการทุจริต จึงไม่ได้มีโอกาสปราบปรามอย่างจริงจัง แต่ให้ดำรงอยู่เพื่อให้เห็นว่ามีการดำเนินการ แต่ในความเป็นจริง การทุจริตกลับเติบโตอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า
          แต่ปัญหาคือใครหนอจะเป็นผู้ ‘เอากระพรวนไปผูกคอแมว’

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved