อ่าน 1,564 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 42/2555: 2 เมษายน 2555
ต้องกำจัดโจรใต้ก่อการร้ายให้สิ้นซาก บทเรียนจากบาหลี

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon

          ปัญหาการก่อการร้ายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกรับไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวโดยศึกษาได้จากกรณีบาหลี ดินแดนภาคใต้ไม่ใช่ของชนชาติหรือศาสนาใด แต่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ไม่มีใครอ้างสิทธิได้ การกำจัดการก่อการร้ายไม่พึงคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเพราะการก่อการร้ายต่างจากปัญหาการเมืองทั่วไปเพราะมุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้บริสุทธิ์ จึงควรมีการตราพระราชบัญญัติพิเศษตั้งกองกำลังพิเศษ ศาลพิเศษ เรือนจำพิเศษ จัดการกับปัญหานี้ให้เด็ดขาด
          จากเหตุการณ์วินาศกรรมที่หน้าโรงแรมลีการ์เดน ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และที่ในเขตเทศบาลนครยะลาในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2555 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 12 ศพ และบาดเจ็บมากกว่า 400 คนนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ขอร่วมแสดงความเสียใจกับความสูญเสียของประชาชนและประเทศชาติในครั้งนี้
          ในโอกาสนี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงขอเสนอบทเรียนกรณีการระเบิดในเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยในครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2545 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 202 ศพ และบาดเจ็บอีก 240 ราย และครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีก 20 ศพ และบาดเจ็บอีก 100 ราย

          จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า วินาศกรรมครั้งใหญ่ในปี 2545 ส่งผลกระทบรุนแรงให้จำนวนนักท่องเที่ยวบาหลี หดหายไปถึง 22% ในปี 2546 เพราะเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด แต่ก็กลับฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในปีถัดมา ส่วนระเบิดครั้งใหญ่ในปี 2548 ก็ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหดหายไปอีก 9% ในปีถัดมา อย่างไรก็ตามนับแต่ปี 2548-2554 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึงราวหนึ่งเท่าตัว โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากนักท่องเที่ยวหันออกจากประเทศไทยนับแต่เหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ รัฐประหาร 2549 ความขัดแย้งทางการเมือง และอื่น ๆ ประเทศอินโดนีเซียที่เคยอ่อนแอกว่าไทย กลับจัดการกับการก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ในกรณีหาดใหญ่ การท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบในระยะหนึ่งปี แต่ก็คงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับเมืองหาดใหญ่อยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามวินาศกรรมในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในขอบเขตทั่วประเทศไปด้วย โดยเฉพาะภูเก็ต สมุยและอื่น ๆ ที่อยู่ในจังหวัดภาคใต้
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้นั้น ไม่ต้องไปสับสนกับประวัติศาสตร์ว่าดินแดนแห่งนี้เป็นของใครมาก่อน เพราะเป็นเรื่องอดีตที่ผลัดเปลี่ยนหมุนไปตามยุคสมัย ไม่ใช่ของชนชาติหรือศาสนาใดโดยเฉพาะ
          ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การก่อการร้ายสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินต่อผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่มนุษยชาติไม่อาจยอมรับได้ และประชาชนในพื้นที่ต่างยินดีที่จะเสียสิทธิมนุษยชนพื้นฐานบางอย่างเพื่อความสงบสุข ดังนั้นรัฐบาลจึงอาจเสนอรัฐสภาตราพระราชบัญญัติการปราบปรามการก่อการร้าย โดยให้สามารถจับกุม คุมขังผู้ต้องหาการก่อการร้ายได้ยาวนานกว่าปกติ ให้มีศาลตัดสินผู้ก่อการร้าย มีเรือนจำพิเศษสำหรับคุมขังผู้ก่อการร้าย 
          รัฐบาลไม่พึงกลัวว่าต่างประเทศจะเพ่งเล็งเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอื่น ๆ ต่างให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาการก่อการร้ายโดยไม่นำพาต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ใช้สำหรับคนทั่วไป ปัญหาการก่อการร้ายต่างจากปัญหาความเห็นต่างทางการเมือง เช่น กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง กรณีคอมมิวนิสต์ หรืออื่น ๆ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านั้นไม่เคยมุ่งทำลายชีวิตของผู้บริสุทธิ์
          ดังนั้นรัฐบาลจึงควรจัดการให้เด็ดขาดกับการออกกฎหมายพิเศษ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ ตุลาการ ราชทัณฑ์ โดยมีกองกำลังเฉพาะ มีเรือนจำพิเศษ มีศาล ฯลฯ เพื่อจัดการการก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็วและเด็ดขาด ส่วนการป้องกัน เยียวยา ให้อภัยโทษกับผู้กลับใจหรืออื่นใด ก็สามารถดำเนินการควบคู่กันไป เพราะในทางเศรษฐกิจปัจจุบัน มาเลเซียซึ่งเคยยากจนกว่าไทย กลับมีรายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่าไทยถึงเกือบหนึ่งเท่าตัว จึงทำให้คนไทยใจทาสบางส่วนต้องการแยกแผ่นดิน ผิดกับกรณีชาวพม่าที่บรรพบุรุษสามารถพิชิตไทยได้ ก็ยังยินดีมาขายแรงงานในประเทศไทย เพราะประเทศไทยร่ำรวยกว่านั่นเอง
          การอ่อนข้อให้กับการก่อการร้ายได้พิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นแต่ในกรณีการจัดฉากด้วยเล่ห์กลเพทุบายของผู้มีใจเห็นแก่อริราชศัตรูที่จะบ่อนทำลายอธิปไตยของไทยเท่านั้น

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved