อ่าน 2,103 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 46/2555: 18 เมษายน 2555
อย่าห่วงภัยธรรมชาติ ราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ตกแน่

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon


http://en.wikipedia.org/wiki/File:Krakatoa_eruption_lithograph.jpg

          อย่าห่วงไป ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ยังเล็กมากเมื่อเทียบกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และที่สำคัญภัยธรรมชาติไม่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกแต่อย่างใด
          ช่วงนี้มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ วาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหวเกาะภูเก็ตแม้แต่หิมะตกที่เมืองตากอากาศซาปาของเวียดนาม บางคนก็หลงเข้าใจผิดว่าตกเป็นครั้งแรกหรือตกหนักที่สุด บางคนเข้าใจว่านี่คือสัญญาณเตือนว่าโลกใกล้แตก มีการโหมกระแสกลัวโลกแตกกันใหญ่ จนบางคนอาจตกเป็นเหยื่อของพวกอวิชชา หรือนักลัทธิอุบาทว์ซึ่งอาจทำลายชีวิตผู้คนไปมากกว่าภัยธรรมชาติก็เป็นได้
          ภัยพิบัติข้างต้นได้คร่าชีวิตผู้เป็นที่รัก และก่อให้เกิดการสูญเสียมากมายก็จริง แต่ยังไม่อาจเทียบกับภัยธรรมชาติในอดีตที่หากเกิดขึ้นในวันนี้ บางคนอาจถึงขั้นช็อคตาย หรือฆ่าตัวตายไปเลย ยกตัวอย่างเช่นภูเขาไฟกรากะตัว ซึ่งระเบิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2426 หรือ 128 ปีก่อนหน้านี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่สองในสามของเกาะหายไปจากแรงระเบิด เถ้าธุลีลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร (ปกติเครื่องบิน ๆ สูงราว 10 กิโลเมตร) ในรัศมี 240 กิโลเมตร ปกคลุมจนมองไม่เห็นแสงอาทิตย์จนคล้ายยามค่ำคืนเป็นเวลาถึง 3 เดือน
          แรงสั่นสะเทือนสามารถตรวจจับได้ถึงอังกฤษ เสียงระเบิดดังกึกก้องมากจนคนในกรุงจาการ์ตาที่อยู่ห่างไป 150 กิโลเมตรยังต้องเอามืออุดหู คนในกรุงเทพมหานครยังนึกว่าเป็นเสียงปืนใหญ่ แม้แต่คนบนเกาะโรดริเกซในหมู่เกาะมอริเชียส ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปถึง 4,776 กิโลเมตรก็ได้ยินเช่นกัน ที่สำคัญการระเบิดยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 30 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36,000 คน หากเป็นในสมัยปัจจุบันที่มีประชากรหนาแน่น คงสูญเสียชีวิตนับสิบ ๆ ล้านคน
          อย่างไรก็ตามยังมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงกว่านี้ จนกรากะตัวกลายเป็นเรื่องเล็ก นั่นก็คือการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบร่าซึ่งตั้งอยู่บนเกาะซุมบาวาใกล้เกาะบาหลี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2358 หรือเมื่อ 196 ปีที่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 2 ความรุนแรงนั้นเท่ากับการระเบิดของปรมาณู 60,000 ลูก หลังระเบิดเหลือสภาพเป็นหลุมกว้าง 6 กิโลเมตร ลึก 1 กิโลเมตรในปัจจุบัน เกิดฝุ่นละอองมากกว่าการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวถึง 7 เท่า ว่ากันว่าต้นไม้ล้มระเนระนาดคล้ายกับโลกทั้งโลกจะพังทลายลงในพริบตา
          พื้นผิวโลกได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์น้อยลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์เพราะ ชั้นบรรยากาศของโลกเต็มไปด้วยฝุ่นละอองจนอุณหภูมิของโลกลดลงอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์เคยพบว่าน้ำแข็งชั้นล่างบนเกาะกรีนแลนด์ในซีกโลกเหนือยังมีฝุ่นละอองจากภูเขาไฟนี้อยู่มากมาย ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือไม่มีเวลากลางวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพราะถูกฝุ่นละอองภูเขาไฟบดบังแสงอาทิตย์ไว้ และทำให้ไม่มีฤดูร้อนในปีนั้น
          ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นยังมีเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดรุนแรงเป็นชุด ๆ ทั่วโลก เช่น ภูเขาไฟลาซูฟรีในหมู่เกาะแคริเบียน และภูเขาไฟอะวูเหนือเกาะสุลาเวสี ในปี 2355 ภูเขาไฟสุวาโนเซจิมา ใกล้หมู่เกาะโอกินาวา ในปี 2356 และภูเขาไฟมายอนในฟิลิปปินส์ ในปี 2357 ลองคิดดูว่าถ้าเกิดในวันนี้ ผู้คนคงสิ้นหวัง ฆ่าตัวตายไปมากมายนัก ยิ่งถ้ามีสื่อมวลชนเล่นข่าวเอามัน ก็คงยิ่งไปกันใหญ่
          ในโลกนี้ยังมีการระเบิดของสุดยอดภูเขาไฟ (Super Volcano) เช่นที่อุทยานแห่งชาติเยลโลสโตนในสหรัฐอเมริกา แต่ครั้งล่าสุดเกิดขี้นที่ภูเขาไฟโทบา ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราใกล้กับประเทศไทย เมื่อประมาณ 75,000 ปีที่ผ่านมา โดยลาวาพุ่งไปไกลกว่า 3,000 กิโลเมตรถึงภาคใต้ของอินเดีย อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกลดต่ำลงกว่า 5 องศา เหตุการณ์นี้ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง หลังจากการปล่อยเถ้าถ่าน 2,800 ลูกบาศก์กิโลเมตร พื้นที่ของภูเขาไฟโทบาได้กลายเป็นทะเลสาบที่ใหญ่และสวยงามมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์ แต่การระเบิดระดับสุดยอดภูเขาไฟนี้ก็ไม่ได้ทำให้มนุษยชาติถึงขนาดสูญพันธุ์ แม้มีความเสี่ยงอยู่


สุดยอดภูเขาไฟโทบาในรอบ 2 ล้านปี http://en.wikipedia.org/wiki/File:Tobaeruption.png

          ปรากฏการณ์น้ำท่วมหนักเช่นที่เกิดขึ้น ณ เมืองนิวออลีนส์ จนต้องฟื้นฟูเมืองกันอย่างขนานใหญ่ ก็ไม่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกแต่อย่างใด ที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกก็มีบ้าง แต่ถือเป็นข้อยกเว้น เช่น กรณีภูเขาไฟวิสุเวียสถัดเถ้าถ่านถลมเมืองปอมเปอี จนทำให้เมืองจมหายไปทั้งเมือง หรือกรณีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดจนทำให้เมืองพริพะยาต (Pripyat) กลายเป็นเมืองร้างไปเพราะกัมมันตภาพรังสีจนถึงทุกวันนี้ แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้ก็ไม่ใช่สรณะ


ภูเขาไฟวิสุเวียสกับเมืองปอมเปอิ http://en.wikipedia.org/wiki/File:Pompeii_the_last_day_1.jpg

          ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ยังไม่ใช่สัญญาณล้างโลกหรือจะทำให้โลกแตกอย่างที่เล่าลือเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต คนเราจึงไม่พึงหวาดกลัวจนเกินไป แต่พึงมีสติ คาดว่าเหตุการณ์มหาประลัยจริง ๆ คงไม่เกิดในชีวิตนี้ แต่ถึงแม้เกิดเหตุร้าย จนต้องสิ้นชีวิต เราก็ไม่พึงเสียเวลากลัว เพราะไม่มีใครหนีพ้นความตายดังกล่าว


เมืองพริพะยาตร้างเพราะโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล: http://dyingdead.deviantart.com/art/Pripyat-101542164

          ความตายเป็นเรื่องธรรมดา สำคัญที่ว่าจะตายอย่างขนนก (เบาหวิวไร้ความหมายเพราะไม่เคยสร้างสรรค์อะไร แถมบางคนยังอาจทำลาย เอาดีใส่ตัว) หรือจะตายหนักแน่นดุจภูเขาเพราะตายมีเกียรติเพื่อประชาชนและประเทศชาติ

อ้างอิง
• การเกิดระเบิดของ Super Volcano http://www.vcharkarn.com/varticle/37495 และ
http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?pid=5730
• ภูเขาไฟกรากะตัว http://th.wikipedia.org/wiki/กรากะตัว
• Kratatoa. http://en.wikipedia.org/wiki/Krakatoa
• Mount Tambora http://en.wikipedia.org/wiki/Mount_Tambora
• Year Without A Summer. http://en.wikipedia.org/wiki/Year_Without_a_Summer
• Chernobye Disaster http://en.wikipedia.org/wiki/Chernobyl_disaster
• เมืองปอมเปอิ http://en.wikipedia.org/wiki/Pompeii

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved