อ่าน 838 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 49/2555: 23 เมษายน 2555
ต้องปราบการทำลายป่า เลิกส่งเสริมการปลูกป่า

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon

          ปัญหาหลักของมลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนเกิดจากการเผาป่ามากกว่าอย่างอื่น ทั้งนี้ประเด็นสำคัญก็คือชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า ซึ่งรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจัง และควรเลิกมาตรการส่งเสริมการปลูกป่าเพราะเท่ากับลวงให้สังคมเข้าใจว่านี่คือการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูกเพื่อซ่อนการทำลายป่า และเมื่อป่าถูกทำลายมากในอนาคตอาจมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับผู้ทำลายป่า
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปสำรวจเกี่ยวกับเรื่องมลพิษบริเวณอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และไปบรรยายวิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ณ ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ลำปาง พร้อมพาคณะนักศึกษาออกสำรวจความเห็นของประชาชน ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป
          จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า แม้แต่ในเหมืองถ่านหินลิกไนต์ แม่เมาะ ลำปาง ซึ่งเข้าใจว่าก่อมลภาวะนั้น แม้มลภาวะบางส่วนมาจากการนำดินที่ขุดจากเหมืองมาทิ้ง จนเกิดฝุ่นดินจริง โดยเฉพาะในบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง แต่ภาพรวมของมลพิษในแม่เมาะนั้น จากการศึกษาพบว่า เกิดจากการเผามวลชีวภาพ หรือการเผาป่าถึง 54% รองลงมาเป็นมลพิษจากรถยนต์ 35% ฝุ่นดินและถนน 1% นอกนั้นเป็นกรณีอื่น ๆ อีก 10% ดังนั้นการเผาป่าจึงเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดมลภาวะ แต่โดยที่ในท้องที่อำเภอแม่เมาะ เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน และเคยเกิดกรณีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอดีต จึงเป็นภาพลบที่ชาวบ้านเชื่อว่ามลพิษหลักยังเกิดจากโรงไฟฟ้านั่นเอง
          การที่มลพิษหลักมาจากการเผาป่าเกิดขึ้นเนื่องจากชาวบ้านต้องการหาของป่า สัตว์ป่า และพืชพันธุ์จากป่าส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าส่วนสำคัญมาจากการบุกรุกถากถางป่าเพื่อการขายต่อให้ ‘นายทุน’ โดยจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น จึงมีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมาก และ ‘นายทุน’ ทางภาคใต้หรือในพื้นที่ก็จะหาซื้อที่ดินที่ได้จากการบุกป่าเพื่อนำไปปลูกยาพาราต่อไป 
          ในโอกาสข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้ที่ทางราชการจะยกเลิกพื้นที่ป่าไม้ และออกเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแก่ผู้บุกรุก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดกฎหมาย เอาป่าซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือของคนไทยร่วมกันทุกคน มาแบ่งสันปันส่วนให้กับผู้ครอบครอง ปัญหาที่จะตามมาก็คือการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประชาชนที่อยู่ไกลทรัพยากรแผ่นดินกับประชาชนที่อยู่ใกล้ทรัพยากรแผ่นดินและถือเอาทรัพยากรเหล่านั้นเป็นของตนเองได้ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดปัญหาหมอกคัน อุทกภัย ฯลฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อมูลค่าของทรัพย์สินเป็นระยะ ๆ อีกด้วย
          ดังนั้นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษ และป่าไม้ก็คือ การปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างจริงจังโดยภาคราชการ ส่วนภาคเอกชนก็ควรส่งเสริมการมีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอแนวใหม่ที่มาสอดส่องการบุกรุกทำลายป่าเพื่อรายงานทางราชการหรือสื่อมวลชน เพื่อการป้องปรามในอีกทางหนึ่ง ส่วนการปลูกป่า ซึ่งเป็นการทำดีแบบฉาบฉวย ง่าย ๆ น่ารัก ๆ ควรหยุดหรือยกเลิกเป็นเสมือน ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ระหว่างเอ็นจีโอปลูกป่ากับอาชญากรทำลายป่า เพราะเท่ากับหลอกลวงสังคมให้เข้าใจผิดว่า ป่าจะรักษาไว้ได้และเกิดขึ้นใหม่จากการปลูกป่า เพื่อไม่ให้สังคมตระหนักและระดมสรรพกำลังในการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved