ตอนนี้มีที่อยู่อาศัยในมือผู้ประกอบการอยู่เท่าไหร่
  AREA แถลง ฉบับที่ 580/2562: วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ท่านทราบหรือไม่ ในขณะนี้มีที่อยู่อาศัยในมือผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินที่รอขายอยู่  204,585 หน่วย (67% เป็นของบริษัทมหาชน) รวมมูลค่า 830,289 ล้านบาท (71% เป็นของบริษัทมหาชน) โดยเป็นสินค้าที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทมี 107,646 หน่วย รวมมูลค่า 215,274 ล้านบาท ในเวลา 1 ปีเศษ (ถึงสิ้นปี 2563) น่าจะระบายสินค้าได้เป็นเงิน 129,435 ล้านบาท  ถ้าประหยัดภาษีจาก 3% เหลือ 0.02% ก็จะเป็นเงิน 3,858 ล้านบาท  เงินจำนวนนี้ควรเก็บมาพัฒนาประเทศมากกว่านำมาแจก

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยว่า ณ กลางปี 2562 ยังมีที่อยู่อาศัยในมือของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินอีก 204,585 หน่วย  ทั้งนี้เป็นบ้านที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทซึ่งจะได้สิทธิในการโอน ณ อัตราภาษีที่ 0.02% อยู่ 107,646 หน่วย และส่วนใหญ่ของที่อยู่อาศัยกลุ่มนี้อยู่ในมือของบริษัทมหาชน 137,748 หน่วย หรือ 67% ที่เหลืออีกเพียง 66,837 หน่วย เป็นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์  ถ้าพิจารณาในแง่ของมูลค่าจะพบว่าสินค้าเหล่านี้มีมูลค่ารวมที่รอขายอยู่ 830,289 ล้านบาท เป็นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 593,076 ล้านบาท (71%) และเป็นของบริษัทนอกตลาดอยู่ 237,213 ล้านบาท (29%)

 

 

            ราคาที่อยู่อาศัยกลุ่มที่ราคาประมาณไม่เกิน 3 ล้านบาทนั้น เป็นเงินเฉลี่ยหน่วยละ 2.004 ล้านบาท มีจำนวน 107,646 หน่วย ซึ่งมีมูลค่ารวมกัน 215,274 ล้านบาท ในเวลา 1 ปีเศษ (ถึงสิ้นปี 2563) น่าจะระบายสินค้าเหล่านี้ได้ประมาณ 60% หรือเป็นเงิน 129,435 ล้านบาท  ถ้าต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมโอน 3% ก็จะเป็นเงิน 3,883 ล้านบาท  แต่เมื่อเสียค่าโอนเพียง 0.02% หรือเสียเพียง  25 ล้านบาท ก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ 3,858 ล้านบาทสำหรับบริษัทพัฒนาที่ดิน  ดังนั้นมาตรการของรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการนั้นเน้นผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นสำคัญ  อันที่จริงเงินภาษีที่สูญไป น่าจะให้ผู้ซื้อและผู้ขายรับผิดชอบกันตามปกติ

            ในจำนวนบ้านที่ยังรอขายอยู่ 204,585 หน่วยนี้ ไม่ใช่ว่าขายไม่ออก แต่ ณ วันที่สำรวจ ณ กลางปี 2562 ยังไม่ได้ขายซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นหน่วยขายใหม่ด้วยก็ได้  อาจกล่าวได้ว่าที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่ที่สุด 88,788 หน่วยเป็นห้องชุด โดยมีสัดส่วน 43% อย่างไรก็ตามในปีหนึ่งๆ ห้องชุดเปิดตัวประมาณ 60% ของสินค้าเปิดใหม่ทั้งหมด แต่เหลือขายในสัดส่วนเพียง 43% เท่านั้น  แสดงว่าห้องชุดขายดีกว่าสินค้าอื่น  นอกจากนั้นยังมีทาวน์เฮาส์ 30% บ้านเดี่ยว 17% และบ้านแฝด 7% นอกนั้นเป็นที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ

            อาจกล่าวได้ว่าในตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีที่อยู่อาศัยที่ขายในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทถึง 23% หรือหนึ่งในสี่ของทั้งตลาด  แต่โดยที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน จึงยกระดับราคาที่ให้ได้ประโยชน์ทางภาษีสูงขึ้นเป็นหน่วยละ 3 ล้านบาท โดยในขณะนี้มีบ้านที่ขายในราคา 2-3 ล้านบาท อยู่ถึง 58,502 หน่วย หรือ 29% ของทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการขายอยู่มากที่สุด

            สินค้าที่มีหน่วยเสนอขายมากที่สุดในกรณีบ้านเดี่ยว คือบ้านเดี่ยวราคา 5-10 ล้านบาทเป็นสำคัญ คือมีขายถึง 14,114 หน่วยจากทั้งหมด 34,537 หน่วย หรือราว 41% ของบ้านเดี่ยวทั้งหมด  ส่วนในกรณีบ้านแฝด ส่วนใหญ่ขายในราคา 3-5 ล้านบาท มี 9,995 หน่วยจากทั้งหมด 14,803 หน่วย (68%)  ในกรณีทาวนเฮาส์ กลุ่มใหญ่ที่สุดขายในราคา 2-3 ล้านบาท ี 28,988 หน่วยจากทั้งหมด 61,541 หน่วย (47%)  สำหรับกรณีห้องชุด 28% หรือ 24,680 หน่วยจาก 88,788 หน่วย ขายในราคา 2-3 ล้านบาท

            อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากราคาบ้านเฉลี่ยที่ 2.004 ล้านบาท สำหรับบ้านทั้งหมด 204,585 หน่วย ก็เป็นเงิน 409,992 ล้านบาท เงินภาษีที่ประหยัดได้ 3,858 ล้านบาทนี้ เป็นความสูญเสียของทางราชการและสังคมโดยรวม น่าจะให้ผู้ซื้อและผู้ขายรับผิดชอบกันตามปกติ แล้วนำเงินภาษีที่พึงไปมาพัฒนาประเทศโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการไปเอื้อต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่

อ่าน 1,889 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved