จงใจสร้างความกลัวโควิด-19 เพื่อปั่นหัวคนไทย
  AREA แถลง ฉบับที่ 242/2563: วันอังคารที่ 28 เมษายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ยังจำได้ไหม ในเดือนมีนาคม หมอบางคนคาดว่าคนป่วยโควิดจะสูงถึง 3.5 แสน ตาย 7 พัน วันนี้ป่วยแค่ 2,854 คน อย่าบอกนะว่าสาธารณสุขไทยดีกว่าเพราะจำนวนเตียงต่อประชากรของไทยยังต่ำกว่าประเทศตะวันตกมาก ในทางตรงกันข้ามเมียนมา เขมร ลาว เวียดนามก็มีคนติดเชื้อน้อยกว่าไทยนับสิบเท่าตัว

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อตอนแรกของการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 นั้น มีบุคลากรทางการแพทย์บางท่านออกมาบอกว่าประเทศไทยอาจติดเชื้อ 3.5 แสนคน ตาย 7 พันคน ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง  นี่เป็นกระบวนการในการสร้างความกลัวหรือไม่ มาดูข่าวที่เคยเกิดขึ้น

            เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 มีข่าวว่า “ถ้ายังคุมไม่อยู่! หมอรามาฯ คาดคนไทยอาจติดเชื้อเพิ่มเป็น 3.5 แสนและตายถึง 7 พัน” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ในรายการโหนกระแสโดยพิธีกร “หนุ่ม-กรรชัย กําเนิดพลอย” ได้เชิญ 2 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยเกี่ยวกับสถิติการติดเชื้อ โควิด-19 COVID-19 ในประเทศไทย โดย รองศาสตราจารย์ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิติกส์ คณะแพทย์ศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากกราฟที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ตัวเลขเพิ่มขึ้น 33% ในประเทศไทย จึงเป็นไปได้เหลือเกินที่ภายใน 4 วันจะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มถึง 1,000 คน ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก <1>

            อีกข่าวหนึ่งคือ “สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เผยข้อมูลระบุว่า "ด้วยสมมติฐาน ประเทศไทยอยู่ในระยะที่คนติดเชื้อโควิด-19 1 คน แพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ 1.6 คน ดังนั้นในช่วงเดือนเมษายน 63 ถึง มีนาคม 2564 จะมีผู้ติดเชื้อในไทย 200,000 คน" สภาพอากาศยอดจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2563 และช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564” <2>

            อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 27 เมษายน 2563 จำนวนคน 2,854 คนเท่านั้น ต่างจากการคาดการณ์มหาศาล แสดงให้เห็นว่าการคาดการณ์ไม่ถูกต้อง  อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าการสาธารณสุขไทยไทยดีเยี่ยมเหนือชาติอื่น (แม้บุคลากรทางการแพทย์จะทำงานหนักมากขึ้นก็ตาม) ทั้งนี้ <3>

            1. มักมีการกล่าวอ้างว่าเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ประเทศไทยติดเชื้อน้อยกว่ามหาศาล ณ วันที่ 27 เมษายน 2563 ไทยติดเชื้อ 2,931 ราย ขณะที่มาเลเซียติดเชื้อมากกว่าเกือบเท่าตัวคือ 5,780 ราย และสิงคโปร์ติดเชื้อถึง 13,624 ราย  แต่ความจริงที่ไม่ค่อยมีคนรู้ก็คือ เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 มาเลเซียยังติดเชื้อน้อยกว่าไทย  แต่เนื่องจากมีการชุมนุมทางศาสนาที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดนับหมื่นคนในเดือนมีนาคม ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก  ส่วนสิงคโปร์นั้น 80% ของผู้ติดเชื้อก็คือคนงานต่างชาติในบ้านพักคนงานซึ่งมักเป็นห้องพักปรับอากาศ จึงทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

            2. ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจะ “คุย” ตามแนวนี้ ก็ต้องดูว่า กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนามมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่าเรามาก  แต่บางท่านก็อาจจะ “แก้ตัว” ว่าประเทศเหล่านี้ติดเชื้อน้อยกว่า แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะเวียดนามประเทศเดียว เขาตรวจหาเชื้อพอๆ กับเรา ไทยตรวจหาเชื้อประมาณ 2,551 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่เวียดนามตรวจอยู่ที่ 2,188 คน  แต่ปรากฏว่าเวียดนามมีผู้ติดเชื้อเพียง 270 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเลย

            3. ตัวชี้วัดประกันสุขภาพภาครัฐดูได้จากจำนวนเตียงคนไข้ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน สำนักข่าว HFocus กล่าวว่า “จำนวนเตียงใน รพ.ของไทย ยังห่างจากค่าเฉลี่ยสากล” ประเทศไทยที่มีจำนวนเตียงคนไข้เพียง 1.9 เตียงต่อประชากร 1,000 คน แสดงว่าเรายังต้องปรับปรุงอีกมาก  ดูอย่างญี่ปุ่นที่ติดเชื้อสูงถึง 13,441 คน แต่เขามีจำนวนเตียงถึง 13.21 สูงกว่าไทย 7 เท่าตัว  จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่าแทบทุกประเทศตะวันตกที่ติดเชื้อมากมายนั้น เขามีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพดี แต่ไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรจะนอนโรงพยาบาลสถานเดียว  แม้แต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี จีน ก็ล้วนมีจำนวนเตียงคนไข้มากกว่าไทยทั้งสิ้น

            4. ในทางตรงกันข้าม อินเดียที่มีอัตราการตายจากโควิด-19 เพียง 0.6 คนต่อล้านคน ต่ำกว่าไทยเสียอีก แต่มีเตียงคนไข้เพียง 0.53 คนต่อประชากร 1,000 คน ระบบสาธารณสุขของเขาแย่กว่าไทยมาก แต่ก็ยังมีอัตราการตายต่ำ  ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นไปตามสภาพภูมิอากาศ เพราะในประเทศยุโรปอากาศหนาวเย็นเพราะติดโรคมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยโดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว  ส่วนในกรณีประเทศไทยและประเทศในแถบร้อน การแพร่ของเชื้อโรคอาจอยู่ในวงจำกัดกว่า จะเห็นได้ว่าไม่ปรากฏข่าวคนเก็บขยะเทศบาล คนเร่ร่อน มอเตอร์ไซค์รับจ้างติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 เลย

            อย่าไปให้ใครขู่จนกลัวโควิด-19 จน “ขี้ขึ้นสมอง” ทุกวันนี้คนตายเพราะฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจ มากกว่าตายเพราะพิษโควิด-19 ด้วยซ้ำไป  ถ้าหากเสนอให้ข้าราชการทั้งหลายลดเงินเดือนลงสัก 10% ในช่วงล็อคดาวน์เพื่อช่วยเพื่อนร่วมชาติ อาจทำให้นักนโยบายทั้งหลายเลิกคิดล็อคดาวน์-ปิดเมืองก็ได้


อ้างอิง
<1> ถ้ายังคุมไม่อยู่ ! หมอรามาฯ คาดคนไทยอาจติดเชื้อเพิ่มเป็น 3.5 แสนและตายถึง 7 พัน. The Thaiger. 23 มีนาคม 2563. https://bit.ly/3aHXkPS
<2> 1ปีคนไทยติดเชื้อ 2 แสนคน เตรียม พ.ศ.พุ่งสูงถึง 4หมื่น เดลินิวส์ 19 มีนาคม 2563. https://www.dailynews.co.th/regional/763761
<3> หมอทำงานหนัก แต่อย่าคุยว่าสาธารณสุขไทยดีกว่าชาติอื่น. AREA แถลง ฉบับที่ 238/2563: วันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563. https://bit.ly/3aF9ARd

อ่าน 2,021 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved