ไฟฟ้าจากถ่านหินดีที่สุดในโลก
  AREA แถลง ฉบับที่ 524/2563: วันอังคารที่ 01 กันยายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุด ก่อมลพิษน้อยมาก พิสูจน์มานักต่อนัก แต่สำหรับประเทศไทยได้รับการต่อต้านจากพวกเอ็นจีโอหยิบมือเดียว  เราจึงควรมาวิเคราะห์ให้ชัดเจนถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในฐานะอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง

            ผม (โสภณ พรโชคชัย) ในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีพลังงานให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ได้ไปร่วมงานสานเสวนาเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ โดยไปร่วมทั้งที่ชุมพร กระบี่และหาดใหญ่  ได้ฟังความเห็นของกลุ่มค้านและกลุ่มสนับสนุนถ่านหิน และได้ไปเยี่ยมชมพื้นที่โดยรอบด้วย

            ไฟฟ้าเป็นเรื่องของความมั่นคง โดยหากย้อนกลับไปเมื่อ 21 พฤษภาคม 2556 “ในช่วงเวลาใกล้ค่ำ 18.52 น. . .กระแสไฟฟ้าได้ดับเป็นวงกว้างครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้. . .การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะกู้สถานการณ์นำพาแสงสว่างกลับมาคืนสู่แต่ละพื้นที่ โดยใช้เวลาราว 20 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ซึ่งกว่าจะครบสมบูรณ์ ก็ปาเข้าไป 23.00 น. . .สร้างผลกระทบและความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจ ทั้งจากแหล่งท่องเที่ยวและในด้านต่างๆ ของภาคใต้ ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท. . .”

            ท่านเชื่อหรือไม่ ราคาค่าไฟฟ้าของมาเลเซียถูกกว่าไทยถึงราวครึ่งหนึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2562 ราคาค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนโดยเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 0.12 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ ในขณะที่ของมาเลเซียอยู่ที่ 0.06  ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ <2>  นี่แสดงว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยสูงมาก ยิ่งถ้าซื้อไฟฟ้าจากแสงแดด ลม ยิ่งแพงไปใหญ่ ไม่เสถียร ไม่พอใช้ ต้นทุนสูง ค่าเสื่อมสูง ฯลฯ ไฟฟ้าทางเลือกจึงไม่มีความเป็นไปได้เลยแม้แต่น้อย          หลายคนกลัวถ่านหินจน “ขี้ขึ้นสมอง” แต่มีผู้นำท้องถิ่นในกระบี่ ทดลองดื่มน้ำที่แช่ด้วยก้อนถ่านหินแล้ว ปรากฏว่าไม่เป็นไร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถ่านหินเป็น “หินชนิดหนึ่งที่เกิดจากการตกตะกอนสะสมของซากพืชในยุคดึกดำบรรพ์เป็นเวลายาวนานหลายล้านปี จนตะกอนนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปและมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นธาตุคาร์บอน. . .ถ่านหินที่มีจำนวนคาร์บอนสูงและมีธาตุอื่น ๆ ต่ำ เมื่อนำมาเผาจะให้ความร้อนมาก ถือว่าเป็นถ่านหินคุณภาพดี” <3> ดังนั้นไปแช่น้ำแล้วดื่มจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เพราะไม่ถูกความร้อนนั่นเอง

            ในมาเลเซียเริ่มมีการใช้ถ่านหินมากยิ่งๆ ขึ้น <4> เพราะต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าถูกกว่าแหล่งพลังงานชนิดอื่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แก๊สในอ่าวไทยก็จะหมดในเวลาสิบกว่าปีข้างหน้า ที่สำคัญเราเอาแก๊สไปใช้หุงต้มหรืออื่นใดจะเป็นประโยชน์มากกว่าเอามาผลิตไฟฟ้า  ส่วนน้ำมันก็สิ้นเปลืองเป็นอย่างมากหากนำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า  ถ่านหินจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด  ยิ่งกว่านั้นสต็อกของแก๊ส คงสามารถเก็บไว้ใช้ได้ล่วงหน้า 7-14 วัน แต่ถ่านหินสามารถกองเก็บไว้ใช้ได้ยาวนานในระหว่าง 2-6 เดือนเลย

            โรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซียมี ดังนี้ <5>:

            1. Jimah Power Station โรงงานนี้สร้างอยู่ริมทะเล ไม่ได้สร้างอยู่บนฝั่งเช่นโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่สำคัญอยู่ใกล้แหล่งรีสอร์ตขนาดใหญ่และสวยงาม และชุมชน เคยมีผู้ร้องว่าจะไม่ปลอดภัยต่อชุมชนเมื่อปี 2552 แต่จนบัดนี้ก็ไม่เคยมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เมื่อตรวจสอบจากความเห็นทั้งทางบวกและลบต่อรีสอร์ตใกล้โรงไฟฟ้า ก็ไม่มีใครบ่นเรื่องนี้แต่อย่างใด

            2. โรงไฟฟ้า Manjung ก็สร้างออกมานอกฝั่งเล็กน้อย อยู่ใกล้รีสอร์ตและชุมชน แต่ก็ไม่มีเสียงบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่แสดงให้เห็นชัดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้มีผลเสียอย่างเด่นชัดต่อชุมชนดังที่พวก NGOs พยายามสร้างภาพให้กลัว

            3. โรงไฟฟ้า KPAR ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์เพียง 56 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าใกล้มาก เช่นระยะทางจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (กม.0) ไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต (กม.42 จากดินแดง) ขนาดชาวกรุงกัวลาลัมเปอร์ยังไม่กลัว โรงงานก็สร้างก่อนไทยที่จะมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าเสียอีก

            4. โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tangjung Bin ของมาเลเซียนี้อยู่ติดชายแดนสิงคโปร์ ถ้ามีปัญหา สิงคโปร์ก็คงคงไม่ยอมเช่นกัน นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตีโต้ความเชื่อผิดๆ ของ NGOs

            โรงไฟฟ้าทุกโรงของมาเลเซีย อยู่ติดทะเลเลย อยู่ติดพื้นที่ชุ่มน้ำก็มี ไร้ปัญหา แม้แต่สิงคโปร์ก็เริ่มมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ในนครสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศอันดับหนึ่งของกัมพูชา ก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ลงทุนโดยนักลงทุนมาเลเซียโรงหนึ่ง และของจีนอีกด้วย  ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ของไทยที่ระยอง ก็อยู่กลางทะเล นี่ถือเป็นบทพิสูจน์ความปลอดภัยว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสมัยใหม่มีความปลอดภัย  ยิ่งกว่านั้นเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยยังทันสมัยกว่าของมาเลเซียเป็นอันมาก

            จะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนตามที่พวกต่อต้านพยายามสร้างความหวาดกลัวเลย ทั้งนี้เป็นผลการศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย มหาวิทยาลัยเคบังซาน ร่วมกับนักวิจัยอิสระซึ่งผลการศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรเชื่อคำพูดข่มขู่ให้ประชาชนหวาดกลัวแต่อย่างใด

            อาจมีคนทำวิจัยออกมาว่ามีผลเสียต่อสุขภาพบ้าง แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้มากกว่าผลวิจัยก็คือ หลังจากโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่มาหลายปี ก็ไม่มีเสียงบ่นดังๆ จากประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่ไปใช้บริการรีสอร์ต โรงแรมต่าง ๆ แต่อย่างใด การลวงคนด้วยการขายความกลัวนั้น ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ พวก NGOs คงไม่มาร่วมรับผิดชอบหากขาดแคลนพลังงานแต่อย่างใด  จะสังเกตได้ว่ากระบี่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์ตั้งแต่ปี 2509-2538 แต่รีสอร์ตต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่มีท่าทีเกรงกลัวโรงไฟฟ้า ดูท่าแล้วเราสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่น่าจะทำได้ครับ     

            ที่ประเทศจีนเมื่อปี 2562 มีข่าวว่าจีนจะยกเลิก โรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 103 โรงนั้น สาเหตุที่แท้จริงนั้น คือจีนวางแผนว่าเศรษฐกิจจะโต จึงวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก แต่เอาเข้าจริงเศรษฐกิจโลกไม่โตตามคาด  ทำให้ปัจจุบันจีนมีกำลังสำรองสูงถึงกว่า 60% ซึ่งของประเทศไทยกำลังผลิตสำรองจะอยู่ที่ 15% จากเดิมที่พยายามปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีเก่าให้ดีขึ้น ถ้าปรับไม่ได้ก็ใช้วิธีเลิกผลิต จีนจึงถือเอาเอาวิกฤตินี้เป็นโอกาสหยุดสร้าง เลยเป็นที่มาที่ไปว่าทำไมจีนยกเลิกถ่านหิน 103 โรง โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกยกเลิก เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในเขตทีมีโรงไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามากเกินไปนั่นเอง <6>

            ยิ่งกว่านั้นผลการศึกษาของ MIT ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลก ใช้นักวิจัยสหศาสตร์เป็นจำนวนมาก สำรวจมาแล้วว่า ถ่านหินเป็นสิ่งจำเป็นและทำให้กระบวนการสะอาด ปลอดภัยได้  มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา พม่า อินเดีย จีน ฯลฯ พิสูจน์มาให้เห็นแล้วว่า ถ่านหินบิทูมินัส ผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่า ประหยัดกว่า สะอาดกว่า และอย่าลืมว่าแต่เดิม พ.ศ.2509-2538 เราใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่กระบี่ โรงแรมรีสอร์ทต่าง ๆ ก็ยังเกิดเพิ่มขึ้นมากมาย แสดงว่าไม่สกปรก

            ถ้าไทยไม่อยากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ก็ซื้อไฟจากมาเลเซีย ลาว เมียนมาเสียเลยจะดีไหม ถูกกว่าอีก!

 

อ้างอิง

<1> ย้อนรอย 3 ปี วิกฤติไฟดับครั้งใหญ่แดนใต้ สู่บทเรียนที่ต้องแก้ไข. ไทยรัฐ 22 พฤษภาคม 2559.  www.thairath.co.th/content/623216

<2> Global Petro Prices. Electricity prices for households, December 2019. https://www.globalpetrolprices.com/electricity_prices/

<3> Wikipedia. ถ่านหิน. https://bit.ly/31avD0s

<4> IEA. In Malaysia, the share of gas in the power mix decreased from 67% in 2005 to 47% in 2015, led by policies to switch to coal in response to declining domestic gas production. The country holds a large share of Southeast Asia’s fossil fuel resources. https://www.iea.org/countries/malaysia

<5> โรงไฟฟ้าถ่านหิน นานาชาติเอาหรือไม่. AREA แถลง ฉบับที่ 267/2558: วันอังคารที่ 08 กันยายน 2558. https://bit.ly/1PwXNq4

<6> สาเหตุที่แท้จริง..จีนจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 103 โรง เพราะ!!!.  AREA แถลง ฉบับที่ 345/2562: วันพุธที่ 03 กรกฎาคม 2562. https://bit.ly/2XIf37s

<7> The Interdisciplinary MIT Study. The Future of Coal. http://web.mit.edu/coal

อ่าน 4,005 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved