ต้องยึดบ้าน “ป้าปู” และ “ยายทอง” นักสะสมขยะมาขาย
  AREA แถลง ฉบับที่ 548/2563: วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            สังคมไทยจะจัดการกับ “ป้าปู” และ “ยายทอง” นักสะสมขยะที่เป็นข่าวในทุกวันนี้อย่างไร ทุกวันนี้ยังมีกรณี “เพี้ยนๆ” อย่างนี้อีกไม่น้อย

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะอดีตที่ปรึกษาสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นต่อกรณีที่มี “ป้าปู” และ “ยายทอง” นักสะสมขยะในทาวน์เฮาส์และอาคารชุด ซึ่งเป็นข่าวในขณะนี้อย่างไรดี  นิติบุคคลบ้านจัดสรร และนิติบุคคลอาคารชุด ควรมีอำนาจมากกว่านี้

            เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 มีรายงานข่าวว่า ณ บ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นหลังหนึ่งในหมู่บ้านมัณฑนา หมู่ 7 ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เจ้าของบ้านสะสมขยะจนส่งกลิ่นเหม็นมานานกว่าสิบปี ที่ผ่านมากรรมการหมู่บ้านก็เคยเตือนหลายครั้ง เคยออกค่าใช้จ่ายให้เทศบาลขนไปทิ้งแล้ว เจ้าตัวก็รับปากแล้ว แต่ก็ทำอีก  ส่วน “ป้าปู” เจ้าของบ้านบอกว่าตนเองเคยทำงานโรงแรม แต่ลาออกมาและทำอาชีพเก็บของเก่าขาย รายได้ไม่ถึง 100 บาทต่อวัน  สุดท้าย อบต.ก็มาเคลียร์ขยะหลายตันออกไป พร้อมมอบเงิน (ซื้อขยะ) ให้ 2,000 บาท <1>

            ส่วนกรณี “ยายทอง” วัย 97 สะสมขยะกว่า 300 กิโลกรัมนาน 10 ปี ประกาศขายแค่ 2 พัน เผยชีวิตสุดรันทด อยู่คอนโดไร้น้ำไฟมานาน 10 ปี อาศัยใช้น้ำที่ไหลจากรางน้ำมาประทังชีวิต ณ “ทองสถิตอาคารชุดคอนโดมิเนียม” ในซอยพหลโยธิน 52 แขวงคลองถนน เขตสายไหม โดยส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัย ทั้งเรื่องกีดขวางทางเดินและส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปทั่วบริเวณโดยรอบ ทั้งนี้นิติบุคคลขอซื้อขยะต่ออยู่หลายครั้งในราคา 300-500 บาท เพื่อนำไปทิ้ง แต่ถูกขนกลับเข้ามาใหม่  ห้องชุดนี้พี่สาวของ “ยายทอง” ซื้อไว้ แต่เสียชีวิตไปแล้ว ยายทองจึงอาศัยอยู่ผู้เดียว น้ำไฟก็ถูกตัดไปหมดแล้วเพราะไม่เสียค่าส่วนกลางและค่าใช้จ่ายใดๆ <2>

            กรณีทั้งสองมองได้ในหลายประเด็น เช่น

            1. สวัสดิการสังคมของผู้สูงวัย เพื่อให้สามารถครองชีพอยู่ได้ แม้เป็นคนยากจนก็ตาม

            2. การจ้างงานผู้สูงวัยทำงาน (กรณีป้าปู) ซึ่งในต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เขาเน้นการจ้างผู้สูงวัยทำงานเก็บกวาดในสนามบินหรือสถานที่ราชการต่างๆ

            3. การบริหารจัดการนิติบุคคลบ้านจัดสรรและอาคารชุดที่ควรมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม  เราควรแก้ไขกฎหมายนิติบุคคลบ้านจัดสรรและอาคารชุดให้มีอำนาจในการขายทอดตลาดทรัพย์สินได้ด้วย

            จะเห็นได้ว่าทั้งสองกรณีนี้ต่างอ้างว่าตนเองเป็นคนยากจนไม่มีเงิน  แต่บางคนอาจลืมไปว่าทั้งสองรายนี้มี “อสังหาริมทรัพย์” เป็นของตนเอง จากฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย  พบว่า

            1. กรณีหมู่บ้านมัณฑนาที่ “ป้าปู” อาศัยอยู่ ทาวน์เฮาส์หน่วยหนึ่งควรมีมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านบาท ในกรณีบ้านหลังนี้ที่เคยมีขยะและสภาพอาจทรุดโทรมกว่าเพื่อนอาจมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านบาท

            2. กรณี “ยายทอง” ที่อยู่อาศัยใน “ทองสถิตย์คอนโดมีเนียม” นั้น ห้องชุดหนึ่งๆ ควรมีราคาประมาณ 550,000 บาท แต่ในกรณีของ “ยายทอง” อาจต้องปรับปรุง จึงอาจมีมูลค่าประมาณ 500,000 บาท

            จะเห็นได้ว่าทั้งสองกรณีทั้ง “ป้าปู” และ “ยายทอง” มีทรัพย์เป็นของตนเอง ทั้งสองท่านไม่ใช่คน “สิ้นไร้ไม้ตอก” ยังสามารถนำบ้านไปขาย เอาเงินไปใช้ได้  ถ้าไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยเอง ก็ยังอาจอยู่บ้านคนไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือบ้านพักผู้สูงวัยของภาครัฐและภาคเอกชนอื่น โดยตนเองยังมีเงินสะสมเก็บไว้ราวครึ่งล้าน (ยายทอง) ถึงล้านครึ่ง (ป้าปู)

            เราไม่ควรอ้างความจนทั้งที่ไม่ได้จนจริงๆ

อ้างอิง

<1> กรณี “ป้าปู” โปรดดู: https://www.sanook.com/news/8248834 และ https://hilight.kapook.com/view/206136

<2> กรณี “ยายทอง” โปรดดู https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_4874352

อ่าน 3,042 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved