เสียงเพรียกจากฝรั่งที่มีบ้านในประเทศไทย
  AREA แถลง ฉบับที่ 645/2563: วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ที่ผ่านมาผมต่อต้านการขายอสังหาริมทรัพย์ให้คนต่างชาติเพราะเรามีเงื่อนไขที่เสียเปรียบต่างๆ นานา แต่ในขณะเดียวกันฝรั่งที่อยู่ในไทยก็ควรได้รับการดูแลให้ดีเพื่อเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจทางหนึ่ง

            ที่ผมบอกว่าเราควรต่อต้านการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติเพราะเราเสียเปรียบหลายอย่าง สิ่งที่เราควรทำก่อนให้ต่างชาติซื้อบ้านก็คือ

  1. เราควรกำหนดราคาขั้นต่ำ ไม่ใช่ให้ซื้อในราคาถูกๆ เพราะจะทำให้ราคาบ้านขยับตัว ทำให้ประชาชนคนไทยเองหมดกำลังซื้อไป มาตรการข้อนี้ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ใช้กันอย่างชัดเจน เช่น กำหนดราคาบ้านไม่ต่ำกว่า 8-16 ล้านบาทที่จะซื้อ
  2. เรายังควรเก็บภาษีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ อย่างสิงคโปร์กำหนดไว้ที่ 20-25% ฮ่องกงกำหนดไว้ที่ 30% ของไทยเราอาจกำหนดไว้ที่ 15-20% ก็ได้ เพื่อให้มีเงินภาษีเข้าประเทศ พวกเขาไม่เคยทำคุณต่อชาติไทย แต่มาซื้อทรัพย์สิน ก็ควรที่จะเสียภาษีบ้าง ในทำนองเดียวกัน เราส่งลูกไปเรียนหนังสือในประเทศตะวันตก ค่าเทอมก็มักแพงกว่าเด็กท้องถิ่น เพราะเราไม่เคยเสียภาษีให้ชาติเขามาก่อนนั่นเอง
  3. เราเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 1% ของมูลค่าตลาด เพราะในต่างประเทศเขาเก็บกัน 1-3% ของราคาประเมินราชการที่ประเมินไว้ใกล้เคียงราคาตลาด  แต่ในประเทศไทย  เราเก็บน้อยมากหรือแทบไม่ได้เก็บและใช้บัญชีราคาประเมินของทางราชการซึ่งประเมินไว้ต่ำมากๆ (เพื่อช่วยคนรวยจัดๆ) ถ้าเราไม่มีการเก็บภาษีแบบนี้ ก็เท่ากับเรายกอสังหาริมทรัพย์ให้ต่างชาติแทบฟรีๆ
  4. ในทำนองเดียวกันเราก็ควรเก็บภาษีมรดก เช่นเดียวกับประเทศตะวันตก แต่ในไทยเราแทบไม่เก็บเลย เพื่อเปิดโอกาสให้คนรวยๆ ได้เลี่ยงภาษีนั่นเอง

 

            ควรมีมาตรการช่วยเหลือชาวต่างชาติที่มีที่อยู่อาศัยในไทยแล้ว ปรากฏว่าพวกเขาประสบปัญหาหลายประการก็ควรจะช่วยเหลือพวกเขาบ้าง เช่น

  1. ควรให้ต่างชาติรายงานตัวภายในกำหนเวลา 120 วันแทนที่จะเป็น 90 วันหลังจากมาพำนักในประเทศไทยแล้ว เพราะอำนวยความสะดวกแก่พวกเขาให้ไม่ต้องไปติดต่อราชการบ่อยๆ  ในไต้หวัน เขาก็กำหนดระยะเวลาการพำนักไม่เกิน 120 วัน แล้วต้องต่อวีซ่าใหม่
  2. ควรมีวีซ่าสำหรับผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยสามารถพำนักได้ในระยะยาวแบบเดียวกับโครงการ Malaysia My Second Home แต่ต้องกำหนดราคาที่ไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านริงกิต (8-16 ล้านบาท) ไม่ใช่มาซื้อห้องชุดราคา 3-5 ล้านบาทแล้วก็จะเอาแต่ได้นั้นไม่ได้
  3. การต่อวีซ่าหรือการติดต่อราชการ ควรใช้ระบบอีเล็กทรอนิกส์ เพื่อประหยัดเวลาแก่ทั้งชาวต่างชาติและส่วนราชการไทยเอง
  4. ควรอนุญาตให้คนต่างชาติเจ้าของบ้านหรือห้องชุดในประเทศไทยสามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยในช่วงนี้ได้ แต่ต้องถูกกักตัว 14 วันตามกฎหมายก่อน
  5. ในกรณีญาติของชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ควรอนุญาตให้เข้ามาเยี่ยมหรืออาศัยอยู่ด้วยได้ ที่ผ่านมาฝรั่งต้องกลับประเทศเป็นจำนวนมากเพราะญาติมาไม่ได้  อย่างไรก็ตามแต่ถ้าจะอนุญาตให้ญาติมาเยี่ยมหรือพำนักได้ ผมเห็นว่าต้องอยู่ในที่กักตัวตามสถานที่ที่ทางราชการจัดไว้ 14 วัน
  6. ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนอกจากซื้อประกันสุขภาพระหว่างประเทศแล้ว ควรต้องซื้อประกันในประเทศไทยด้วย
  7. ต้องกำจัดการทุจริตในการติดต่อราชการของคนต่างชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พวกเขา ให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจ  ที่ผ่านมาชาวต่างชาติบ่นมากในเรื่องการหาช่องทางการทุจริตต่างๆ ของข้าราชการไทยในกระบวนการติดต่อราชการหลายรายการ

            การทำให้ประเทศไทยปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับการพำนักในระยะยาวของชาวต่างชาตินั้น จะทำให้ประเทศไทยสร้างรายได้เพิ่มเติมในอนาคต เราจึงควรใส่ใจเป็นพิเศษต่อประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในยามยากนี้

ที่มา: thinkofliving.com/คู่มือซื้อขาย/รู้-เรื่องการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ-270336/

 

อ่าน 1,957 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved