โควิดไม่น่ากลัว ผลาญเงินอ้างโควิดน่ากลัวกว่า
  AREA แถลง ฉบับที่ 665/2563: วันศุกร์ที่ 06 พฤศจิกายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            หลายคนกลัวโควิด-19 มาก แต่ความจริงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดมากนัก มาดูกันจะได้ไม่กลัวจนเกินไป รักษาหายเป็นส่วนใหญ่แล้ว การผลาญเงินของรัฐบาลโดยอ้างโควิดน่ากลัวกว่ามาก

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่านับแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 พฤศจิกายน 2563 ทั่วโลกยังมีผู้เสียชีวิตเพราะสาเหตุอื่นมากกว่าโควิด-19 เช่น เสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ 1,430,210 ราย เสียชีวิตเพราะแอลกอฮอล์ 2,127,864 ราย เสียชีวิตเพราะบุหรี่ถึง 4,253,053ราย และเสียชีวิตเพราะมะเร็ง 6,987,613รายแล้ว โควิดไม่ใช่สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต

 

            ในประเทศไทย นับถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตเพราะโควิด-19 เพียง 60 ราย (ไม่มีใครอยากให้ใครเสียชีวิต) แต่มีสิ่งอื่นที่ทำให้เสียชีวิตมากกว่าโควิด-19 อีกมากมาย เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ มะเร็ง อุบัติเหตุทางรถยนต์ เบาหวาน วัณโรค เอดส์ ฆ่าตัวตาย จนถึงฆาตกรรม มีมากกว่าโควิด-19 มหาศาล เราจึงแทบไม่ต้องกลัวโควิด-19 เลย ก็ว่าได้

 

            แต่รัฐบาลใช้เงินไปถึง 13% ของ GDP เพื่อการนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยเราจนลงเป็นอย่างมาก ธนาคารโลกถือว่าไทยมีสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่มาตรการดังกล่าวจะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่านี้ ธนาคารโลกยังแนะให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว เช่น นโยบายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งพัฒนาทุนมนุษย์ (human capital) เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสร้างงานเพิ่มขึ้นและพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว <1> (ไม่ใช่แค่แจกเงินแบบชั่วคราวหรือทำโครงการที่ไม่ยั่งยืนอื่นๆ)

            ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะมีมากขึ้นในช่วงหลัง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ อย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดและประเทศในยุโรปตะวันตกที่มีผู้ติดเชื้อมาก แม้ในรอบหลังมานี้มีผู้ติดเชื้อมาก แต่ก็มีจำนวนคนเสียชีวิตลดลงมาก ประเทศส่วนใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากมักเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบสาธารณสุขที่ยังไม่ดีมากนัก

 

            ล่าสุด ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 แม้มีผู้ติดเชื้อรวม 49,056,664 คนเข้าไปแล้ว แต่ 35,001,624 คนก็หายแล้ว และไม่ได้มีรายงานว่าปอดพังเสียหายอย่างชัดเจน  ในจำนวน 12,815,049 คนที่กำลังป่วยอยู่นั้น มีเพียง 1% เท่านั้นที่อยู่ในอาการหนัก และในจำนวนรายที่ปิดไปแล้ว 36,241,615 ราย พบว่า 97% หาย ส่วน 3% เสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตเท่ากับประมาณ 159.1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน หรือเท่ากับ 0.016% เท่านั้น <2>

 

            ดร.โสภณกล่าวว่าไม่ต้องรอวัคซีนก็หายขาดได้ โดยไม่ได้มีอาการข้างเคียง เช่น ปอดพัง หรือ “ขึ้นสมอง” ยกเว้น “กลัวจน___ขึ้นสมอง” และถึงแม้มีวัคซีนก็คงคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่ตัวไข้หวัดใหญ่ก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตัววัคซีนเองก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ใช่ว่าฉีดยาแล้วจะไม่คิดโรคในระยะเวลาที่กำหนดแต่อย่างใด การเปิดประเทศอาจทำให้มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นวันละ 50-150 คน เช่นที่มัลดีฟส์ แต่จำนวนคนตายก็แค่วันละ 1-2 วัน และไม่ได้ตายทุกวัน <3> สงสัยว่าโลกคงต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกตราบนานเท่านาน เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ อย่าได้กลัว ความกลัวทำให้เสื่อม (นี่ก็เสื่อมไปมากแล้ว)

            ประเทศไทยอาจโชคดีที่มีคนติดโควิดและเสียชีวิตน้อย แต่เรากลับกู้เงินมาใช้อย่างไม่ยั้งโดยอาศัยความกลัวไวรัส หลายโครงการก็อาจไม่เข้าเป้า ไม่ยั่งยืน ไม่ได้พุ่งเป้าไปยังคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง เศรษฐกิจไทยจึงถดถอยสุดในอาเซียน นี่คือสิ่งที่น่ากลัวกว่าโควิดมาก

อ้างอิง

<1> โควิด-19: ธนาคารโลกคาดสิ้นปีเศรษฐกิจไทยติดลบอย่างน้อย 8.3% ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน ด้าน ครม.มีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน บีบีซีไทย.  29 กันยายน 2563. https://www.bbc.com/thai/thailand-54338090

<2> Worldometers. https://www.worldometers.info/coronavirus/

<3> Worldometers. https://www.worldometers.info/coronavirus/country/maldives/

 

อ่าน 7,190 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved