มาตรการที่เป็นภัยของรัฐ ช่วยอสังหาฯ แบบผิดๆ
  AREA แถลง ฉบับที่ 79/2564: วันพุธที่ 27 มกราคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มติ ครม. ออกมาตรการช่วยอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นภัยแบบผิดๆ ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ แต่จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชน  ดร.โสภณจี้นายกฯ ให้ทบทวน

            เมื่อวันอังคารที่ 26 มกราคม 2564 มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาในเรื่องมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย <1> โดยอ้างว่า “ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่มีความรุนแรงและครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน” แต่ในความเป็นจริง ไทยมีผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น  การกระทำเกินกว่าเหตุของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยกลับจะเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย <2> ทั้งที่ใช้เงินไปกับโควิด-19 มหาศาล <3>

            ในมติคณะรัฐมนตรีระบุว่า กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย แต่ปรากฏว่าให้ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ (1) ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ จากผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน  หรือ (2) ห้องชุดจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอาคารชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดย ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

            ในการนี้แสดงว่ารัฐบาลมุ่งช่วยผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ไม่ใช่ช่วยประชาชนทั่วไป เพราะการได้ส่วนลดนี้จะได้ก็ต่อเมื่อซื้อบ้านในโครงการจัดสรรหรือโครงการอาคารชุด (จากผู้จัดสรรที่ดินและผู้ประกอบการอาคารชุด) และระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ประมาณ 5,900 ล้านบาท  ทำให้ท้องถิ่นต้องพึ่งเงินส่วนกลางมากขึ้น ในยามปกติท้องถิ่นก็เก็บภาษีได้เพียงประมาณ 10% เท่านั้น กรณีนี้ยิ่งเท่ากับแทบไม่ได้เก็บภาษีอะไรเลย  ท้องถิ่นก็จะถูกรัฐบาลส่วนกลางครอบงำ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเสียหายอีกด้วย

            ในความเป็นจริง ทุกวันนี้ผู้ประกอบการก็ยินดีจะออกค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ 2% และค่าจดจำนอง 1% ของราคาจำนองให้กับลูกค้าฟรีอยู่แล้ว เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ารีบซื้อ รีบโอน ผู้ประกอบการจะได้ “ยกภูเขาออกจากอก” การที่รัฐบาลออกมาตรการอย่างนี้จึงเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้ประหยัดเงินได้โดยตรง เพียงแต่เอาประชาชนมาเป็นฃ้ออ้างเท่านั้น

            ที่เลวร้ายและไม่ได้ช่วยประชาชนอีกประการหนึ่งก็คือ หากประชาชนซื้อขายบ้านกันเอง ในลักษณะบ้านมือสอง ก็จะไม่ได้รับส่วนลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอน  กับประชาชนกลับไม่ส่งเสริม ไม่ช่วยเหลือ กลับไปช่วยเหลือแต่นายทุนผู้ประกอบการเป็นสำคัญ อย่างนี้เท่ากับช่วยผิดกลุ่มเป้าหมาย พอรัฐบาลท้องถิ่นไม่มีมีเงิน รัฐบาล่วนกลางก็ไปกู้เงินมาโปะให้ เท่ากับประชาชนทุกคนต้องช่วยกันแบกหนี้ในขณะที่ผู้ได้ประโยชน์เป็นแค่คนกลุ่มน้อย

            บริหารการคลังกันแบบนี้ประเทศชาติ ประชาชนและประชาธิปไตย คงย่ำแย่แน่นอน

ด่วน! มาตรการที่เป็นภัยของรัฐ ช่วยอสังหาแบบผิดๆ
FB Video: https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/695613954460580

 


อ้างอิง

<1> สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 26 มกราคม 2564 https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38617

<2> IMF Update. January 26, 2021. https://www.imf.org/-/media/Files/Publications/WEO/2021/Update/January/English/data/WEOJan2021update.ashx

<3> โควิด-19: ธนาคารโลกคาดสิ้นปีเศรษฐกิจไทยติดลบอย่างน้อย 8.3% ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน ด้าน ครม.มีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน. บีบีซี. 29 กันยายน 2563. https://bbc.in/2HVHeJH

อ่าน 2,230 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved