“ไผ่ ดาวดิน” (วันนี้) สู้ “ธีรยุทธ บุญมี” (วันก่อน) ไม่ได้
  AREA แถลง ฉบับที่ 158/2564: วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            ภาพ “ไผ่ ดาวดิน” อดีตผู้นำนักศึกษาและนักกิจกรรมเพื่อสังคม “แต่งหรู” อาจดูว่า “นิยมวัตถุ”  รักจะปฏิวัติสังคมต้องไม่นิยมของหรูจากเมืองนอก ต่างจาก “ธีรยุทธ บุญมี” เมื่อ 50 ปีก่อนที่เน้นการ “นิยมไทย”

            เมื่อเร็วๆ นี้มี “ฝ่ายตรงข้าม” กับ “ไผ่ ดาวดิน” นำภาพมาแสดงว่าไผ่นิยมของนอกราคาแพง กรณีนี้ถือเป็นการโจมตีทางการเมือง ก็คล้ายกับครั้งหนึ่ง “เฉลิม อยู่บำรุง” เคยกล่าวว่า “คุณหญิงหลุยส์” อดีตภริยาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น “ตู้ทองเคลื่อนที่” ภริยาของฮุนเซ็นก็เคยโดน “ข้อหา” นี้  อันที่จริงผู้นำฝ่ายตรงข้ามกับ “ไผ่ ดาวดิน” น่าจะแต่งหรู กินหรู อยู่หรู แถมอาจโกงกินภาษีประชาชนมาอีกต่างหาก  เรื่องแค่นี้ก็เอามาเป็นประเด็น 40,287 บาทที่ไผ่แต่งตัวนี่ยังไม่เท่าสายนาฬิกาของรัฐมนตรีเลย

            อย่างไรก็ตาม การนิยมของหรูของ “ไผ่ ดาวดิน” ก็แสดงให้เห็นถึงการ “นิยมวัตถุ” (ไม่ใช่ “วัตถุนิยม” หรือ Materialism อันเป็นแนวคิดทางการเมือง https://bit.ly/3aOWB2M) ชมขอบของหรูหราราคาแพงที่มีแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากพวก คสช. หรือเหล่าลูกหาบลูกหลานของ คสช.  แม้แต่ศรีภริยาของประธานาธิบดีจีนก็นิยมแฟชั่นหรูๆ อย่างสุดเหวี่ยงเหมือนกัน  คนหนุ่มสาวก็มักชอบแต่งเท่ แต่ถ้ากล้าสวนกระแส ไม่เอาหรูได้ ก็คงเป็นยอดคน

            ในแง่หนึ่งการนิยมของแพงนั้น ของพวกนี้ก็ยังมีประโยชน์สูงเพราะมักจะทนทานมากกว่าของราคาถูกๆ  มีภาษิตเนปาลที่ผมจำได้ติดปากว่า “ซื้อของถูก ร้องไห้หลายหน ซื้อของแพง ร้องไห้หนเดียว”  อย่างไรก็ตามของแพงๆ บางครั้งก็มีราคาสูงเกินมูลค่า คุณค่า เพราะมีค่าการตลาด ค่าการ “โฆษณาชวนเชื่อ” มากเกินจริง ทำให้ราคาสินค้าสูงเกินกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ  ผู้ครอบครองต้อง “เสียค่าโง่” ไปกับการซื้อสินค้านั้นๆ

            แต่ในอีกแง่หนึ่งของหรูๆ ก็ยังสามารถใช้เป็นอาภรณ์หรือ “เปลือก” ในการแสดงถึงการมีรสนิยมที่ดี ความทันสมัย และการมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี สูงส่งเหนือกว่าปุถุชนทั่วไปได้อีกต่างหาก  ของหรูๆ จึงเป็นเสมือน “เครื่องมือทำมาหากิน” “ใบเบิกทาง” เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ เช่น ในสมัยหนึ่ง เวลาจะไปกู้เงินธนาคารทำโครงการ ก็ต้องขี่รถเบนซ์ไป จะได้ดูน่าเชื่อถือสำหรับนายธนาคารในการพิจารณาปล่อยกู้ เป็นต้น

            อันที่จริงของหรูๆ ดูดีมีระดับและมีคุณภาพนั้น เป็นพัฒนาการขั้นสูงของสังคมที่ไม่ต้องใช้แรงงานหนัก  มีเวลาเหลือเฟือในการคิดค้นประดิดประดอยอะไรต่อมิอะไรให้มีคุณภาพ คุณค่าเหนือกว่าปกติ  แต่ของหรูก็มักทำจากเมืองนอก ทำให้ประเทศที่ยากจนกว่าเสียดุลการค้าให้แก่ประเทศจักรวรรดินิยม  แต่ในอีกแง่หนึ่งจีนที่เคยเป็นประเทศโลกที่ 3 ก็กลายเป็นประเทศจักรวรรดินิยมที่ไม่ใช่แค่ “ก็อปปี้” จากเมืองนอก แต่ยังสามารถสร้างแบรนด์เนมชื่อดังของตนเองได้เช่นกัน

            บทบาทของ “ธีรยุทธ บุญมี” ในสมัยหนุ่มๆ อายุยี่สิบปี เมื่อ 50 ปีก่อน ก็พอๆ กับ “ไผ่ ดาวดิน” ในวันนี้ในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทรราช  แต่ในวันนั้นธีรยุทธต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เพราะเห็นว่าสินค้าญี่ปุ่นทำให้ญี่ปุ่นมาครอบงำเศรษฐกิจไทยได้ ญี่ปุ่นกลายเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ไป  นักศึกษาในสมัยนั้นจึงพยายามใช้ของไทย เช่น ใส่เสื้อม่อฮ่อม เป็นต้น  แต่ไผ่ในวันนี้กลับนิยมของนอก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร และอาจมีคนให้หรือซื้อเองก็สุดแท้แต่

            เรื่องนี้ก็เป็นแค่เรื่องของรูปแบบภายนอก ว่ากันไม่ได้ เพราะในอนาคตสองคนนี้อาจต่างทรยศต่อทัศนะเรื่อง แบรนด์เนม ตอนเป็นคนหนุ่มสาวของตนเองก็เป็นได้

 

อ่าน 4,410 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved