อ่าน 845 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 6/2556: 9 มกราคม 2556
ราคาบ้านในกรุงโซลตกหนัก

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ในขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยกำลังเติบโตต่อเนื่องในปี พ.ศ.2556 แต่ราคาห้องชุดในกรุงโซลกลับมีราคาตกต่ำลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชลอตัวลง
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้มีโอกาสไปเยือนกรุงโซลในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2555 และได้พบข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร
          ราคาห้องชุดในกรุงโซล ตกหนักถึง 4.1% ในรอบ 11 เดือนของปี พ.ศ.2555 ในขณะที่ของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 5%  การตกต่ำครั้งนี้ของราคาห้องชุดในกรุงโซล นับเป็นการตกต่ำมากที่สุดรองจากการตกต่ำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ซึ่งราคาตกต่ำลงถึง 14.6% ในกรณีประเทศไทย ราคาที่ดินลดลง 12.6% ในปี พ.ศ.2540 และลดลงอีก 10.6% ในปี พ.ศ.2541 จะเห็นได้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงโซล ตกต่ำภายหลังการตกต่ำของประเทศไทย แม้แต่ย่านกังนัมซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยราคาแพงในกรุงโซล ราคาก็ยังตกต่ำลงไม่แพ้กัน
          อย่างไรก็ตามการตกต่ำของตลาดห้องชุดในกรุงโซล สิ้นสุดลงในเวลาอันสั้น เพราะราคาห้องชุดกลับปรับตัวสูงขึ้นในปี พ.ศ.2542 ถึง 12.5% ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามในกรณีของประเทศไทย ห้องชุดพักอาศัยฟื้นตัวอีกครั้งในปี พ.ศ.2546 ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงเป็นอย่างมาก ประจวบกับช่วงดังกล่าวห้องชุดที่ว่างในย่านสุขุมวิท ได้ถูกดูดซับโดยความต้องการในปีถัด ๆ มาไปเป็นจำนวนมาก
          สาเหตุของการตกต่ำลงของห้องชุดพักอาศัยในกรุงโซลมาจากการที่ประชาชนจำนวนมากไปซื้อที่ห้องชุดในเมืองใหม่เซจอง (Sejong) ซึ่งถือเป็นเมืองนวตกรรม จนการซื้อห้องชุดในพื้นที่อื่นลดลง นอกจากนี้ประชากรกลุ่มวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอดีต ก็ถึงคราวเกษียณอายุ ความต้องการบ้านจึงลดน้อยลง รวมทั้งรัฐบาลได้สร้างบ้าน “เอื้ออาทร” เป็นจำนวนมากแข่งกับภาคเอกชน
          จากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์นับร้อยรายโดยหอการค้าประเทศเกาหลี เสียงส่วนใหญ่คาดว่า ในปี พ.ศ.2556 ราคาห้องชุดจะลดต่ำลงอีกประมาณ 2.9% โดยเฉลี่ย แสดงว่าปัญหาราคาบ้านตกต่ำในกรุงโซลอาจจะขยายตัวออกไปในระยะยาวได้ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการปัญหา หรือไม่ก็อาจ่ทำให้จำนวนนักพัฒนาที่ดินลดลงไปทำอาชีพอื่นแทน
          อนึ่งค่าเช่าห้องชุด 1 ห้องนอนใจกลางเมือง จะตกเป็นเงินหน่วยละ 25,778 บาทต่อเดือน แต่หากเป็นขนาด 3 ห้องนอนก็จะเป็นเงินหน่วยละ 71,605 บาท แต่หากในกรณีออกนอกเมือง ก็จะมีราคาลดลงเหลือเพียง 40,099 บาทต่อเดือนต่อหน่วย ในกรณีซื้อห้องชุด ราคาโดยเฉลี่ยในใจกลางกรุงโซลตกเป้นเงิน 245,117 บาทต่อตารางเมตร แต่หากเป็นเขตนอกเมือง ราคาจะลดลงเหลือเฉลี่ยเพียง 114,567 บาทต่อตารางเมตร ราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาห้องชุดในเขตใจกลางกรุงเทพมหานครที่สูงถึงประมาณ 100,000 บาท และบริเวณรอบนอกที่มีราคาราว 40,000 บาทต่อตารางเมตร
          อาจกล่าวได้ว่าอสังหาริมทรัพย์ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะนี้เศรษฐกิจของเกาหลีขึ้นอยู่กับการส่งออกไปสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งยังไม่หายจาก “ป่วยไข้” จึงทำให้อสังหาริมทรัพย์ยังตกต่ำลงในปี พ.ศ.2556 อย่างไรก็ตามในกรณีของไทย เศรษฐกิจในปี พ.ศ.2556 ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจึงทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยยังไม่ถึงรอบตกต่ำเช่นกรณีกรุงโซล

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved