เขาค้อ, ราคาที่ดินเพิ่ม 100 เท่าใน 30 ปี
  AREA แถลง ฉบับที่ 169/2564: วันอังคารที่ 02 มีนาคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ผมไปเที่ยวเขาค้อมาเลยคุยกับผู้รู้ในพื้นที่ทราบว่าราคาที่ดินที่เขาค้อขึ้นกระฉูดประมาณ 100 เท่าในเวลา 30 ปี อะไรจะขึ้นได้ขนาดนั้น มาดูกัน

            ผมได้พบคุณสุรัตน์ มารอด ผู้ดูแลรีสอร์ตแห่งหนึ่งในอำเภอเขาค้อ  คุณสุรัตน์บอกว่าตนเองเคยเป็น “อส.” หรืออาสาสมัครช่วยรบในสมรภูมิเขาค้อ ในช่วงปี 2523-24 ขณะนั้นอายุได้แค่ 15 ปี พอสงครามประชาชนสงบลง ทหารก็จัดสรรที่ดินให้ประชาชนคนละ 2 งาน (200 ตารางวา) ไว้ปลูกบ้าน และอีก 20 ไร่ ไว้ให้ทำกิน  ปรากฏว่าในหมู่บ้านของเขามีราว 50 ครัวเรือน และคงมีหลายหมู่บ้านบนเขาค้อแห่งนี้ นัยเพื่อเป็นการให้ประชาชนช่วยกันรักษาพื้นที่ไม่ให้พลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขึ้นมายึดเป็นฐานที่มั่นอีก

            ยังมีเพื่อนคนหนึ่งอีกคนหนึ่งชื่อคุณภัทร ธนนิลกุล ซึ่งเมื่อปี 2532-34 ได้เป็นพนักงานฝ่ายที่ดินของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่ขึ้นไปเป็นผู้รวบรวมจัดซื้อที่ดิน คุณภัทรขับรถขึ้นลงเขาค้อเจรจาซื้อขายที่ดินได้หลายต่อหลายแปลง โดยสนนราคาอยู่ที่ราวๆ 10,000 – 30,000 บาทเท่านั้น  แต่ในปัจจุบัน  ราคาที่ดินในลักษณะนี้อยู่ระหว่าง 1-4 ล้านบาท หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นประมาณ 100 เท่าเลยทีเดียว

            ที่ดินเพิ่ม 100 เท่าก็เท่ากับว่า ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16.7%

            = {(ราคาที่ดินปัจจุบัน / ราคาที่ดินเดิม) ถอดรูด 30 ปี} -1

            = {(1,000,000 / 10,000)^(1/30)} -1

            = 16.6% ต่อปี

            ในระหว่างที่ผมอยู่ที่เขาค้อ ยังพบกับหนุ่มใหญ่อีกราย ท่านเล่าให้ฟังว่าพ่อของตนก็ได้รับที่ดินจากทางราชการเช่นกัน แต่น่าจะได้มากกว่า 20 ไร่  เพราะที่ดินแถบนั้นทั้งเวิ้ง ก็เป็นของคุณพ่อของท่านที่ได้ครอบครองไว้ แต่ค่อยๆ แบ่งขายออกไปไร่ละ 3,000 – 5,000 บาท เมื่อราวปี 2530  จนสุดท้ายเหลือแต่พื้นที่ปลูกบ้านอยู่ส่วนหนึ่งเท่านั้น และชาวบ้านดั้งเดิมก็ทยอยขายที่ออกไปเกือบหมดแล้ว

            คุณสุรัตน์ก็เล่าว่าที่ดินของตนเองยังอยู่ ไม่ได้ขายไป แต่สำหรับคนอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ก็ขายที่ดินไปเป็นจำนวนมากแล้วถึงราว 40 รายจากทั้งหมด 50 รายที่ได้รับการจัดสรร  คนที่ขายไปก็ยังอยู่ในละแวกนี้ในพื้นที่ๆ ได้รับการจัดสรรให้อยู่อาศัยคนละ 2 งานดังกล่าวและทำงานในรีสอร์ตต่างๆ เป็นต้น  มีน้อยรายที่ย้ายออกจากเขาค้อไปเลย  และผมยังเชื่อว่าหลายคนคงไปบุกรุกป่าเขากันต่อไป   ว่ากันว่าป่าเขาของไทยนั้น ซื้อขายก็ไม่ได้ ให้เช่าก็ไม่ได้ แต่ถ้าบุกรุกไปสักระยะหนึ่งก็กลายเป็นของตนเองได้!

            การที่ป่าเขาโดยเฉพาะที่เขาค้อ ภูทับเบิกและเดี๋ยวนี้ลามไปทุกที่ในประเทศไทยก็ว่าได้ก็เป็นเพราะนโยบายที่ผิดๆ ของรัฐนั่นเอง  โดยรัฐจัดสรรที่ดินให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัย  นัยว่าเพื่อเป็นการรักษาฐานที่มั่น  คงหวังให้คนอยู่กับป่า ซึ่งเท่ากับเป็นการฝากปลาย่างไว้กับแมว  แมวก็เที่ยวแทะกินไปไม่หยุดหย่อน  ทุกอย่างก็ไม่เหลือหลอ  ถ้าเป็นป่าเขาธรรมดา ก็คงถูกถากถางทำพืชไร่ต่างๆ นานา  แต่ถ้าเป็นพื้นที่ๆ เหมาะสมกับการทำรีสอร์ต ก็คงมีการยึดไปทำรีสอร์ตมากมาย

            อีกประเด็นหนึ่งก็คือการขาดการตรวจสอบ ใครได้ที่ดินไปแล้ว ต้องไม่ยอมให้ขายต่อ แต่นี่กลับปล่อยละละเลยให้ขายต่อได้ เพราะคนที่ขึ้นไปทำรีสอร์ตยุคแรกๆ ก็คงเป็นคนมีสี คนใหญ่คนโต ข้าราชการชั้นผู้น้อยก็พูดอะไรไม่ถูก กลายเป็น “น้ำท่วมปาก” ในเมื่อการบุกรุกป่าเกิดขึ้นเพราะ “หัวมันส่าย หางจึงกระดิก” เพราะคนใหญ่คนโต  การปราบปรามก็จึงไม่มีประสิทธิผล ปัญหาการหดหายของป่าขนาดเท่ากรุงเทพมหานครจึงเกิดขึ้นทุกปี

            ตัวอย่างในทางตรงกันข้ามก็คือที่เขาใหญ่ เมื่อก่อนก็เคยมีชุมชนชาวบ้านอยู่ในย่านนั้นเช่นกัน  โดยแต่เดิมเป็นชุมโจรที่ผู้คนไปอยู่อาศัยบนนั้นเพื่อหลบหนีคดีจากรัฐ แต่ต่อมาก็กลายเป็นหมู่บ้านขนาดเขื่องๆ ไปเลย  แต่รัฐบาลในยุคนั้น สั่งให้ลงมาจากเขาใหญ่เสียให้หมด  ลองนึกดูว่าเกิดรัฐบาลในยุคนั้น “ดรามา” ยอมให้คนอยู่กับป่า  ป่าเขาใหญ่คงบรรลัยไปนานแล้ว  การให้คนอยู่กับป่าจึงเป็นการคิดผิดๆ ที่ปล่อยให้ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา”

            รัฐบาล คสช. ก็เคย (แสร้ง) เอาจริงกับการบุกรุกทำลายป่าบนเขาค้อเช่นกัน พ่อค้าขายส้มตำ-ไก่ย่างที่ผมไปอุดหนุนบนเขาค้อรายหนึ่งก็เคยเป็นกุ๊กอยู่ในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง  แต่ถูกทางราชการปิดเพราะข้อหาบุกรุกป่า  แต่ยังมีรีสอร์ตอีกนับร้อยนับพันแห่งที่น่าจะบุกรุกป่าแต่ไม่ได้ถูกกระทำเช่นนี้  การปราบปรามกลายเป็น “ปาหี่” และทำแบบ “ไฟไหม้ฟาง” คือทำๆ หยุดๆ ไม่จริงจัง หลายมาตรฐาน การแก้ไขปัญหาการรุกป่าจึงยังไม่หมดสิ้น

            สำหรับทางออกนั้น อันที่จริงรัฐบาลอาจให้ใครก็ตามที่อยากทำรีสอร์ตเช่าที่จากทางราชการเลย โดยเสียค่าเช่าที่ให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ไหว ก็ต้องคืนหลวง ไม่ใช่ให้เซ้งทำกันต่อไป  ยิ่งกว่านั้นในบริเวณไหนที่รัฐสงวนไปเป็นป่าสงวน หรืออะไรก็ตาม รัฐบาลประกาศไปเลยว่าบริเวณเหล่านั้นห้ามทำรีสอร์ต ใครทำก็รื้อ ถ้ามีชาวบ้านอยู่ ก็ให้อยู่อาศัย ไฟฟ้า-ถนนก็ไม่ราดยางหรือทำเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กให้ เพื่อไม่ให้เกิดการบุกรุกเพิ่มเติม

            ถ้ามีระบบตรวจสอบที่ดี ไม่มีการทุจริตกันทุกหย่อมหญ้าตั้งแต่เบอร์ 1 จนถึงเบอร์สุดท้ายของข้าราชการผู้เป็นใหญ่ในประเทศ  ปัญหาการบุกรุกทำเขาหัวโลนบนเขาใหญ่นี้ก็คงหมดไปอย่างแน่นอน

 

อ่าน 3,126 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved