อ่าน 1,318 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 11/2556: 17 มกราคม 2556
นครคุนหมิง: ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่ประเทศจีนวางยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการยกระดับฐานะของมณฑลยากจนนี้ให้กลายเป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค และเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของจีน
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานฯ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ไปร่วมศึกษาดูงานมณฑลยูนนานกับคณะทำงานนี้ในระหว่างวันที่ 12-16 มกราคม 2556 จึงได้สรุปสาระสำคัญบางประการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของนครคุนหมิง มานำเสนอ

ยูนนานและคุนหมิง
          มณฑลยูนนานเป็นมณฑลไกลโพ้นทางด้านใต้ของจีน มีขนาด 394,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณสามในสี่ของประเทศไทย มีประชากร 45.7 ล้านคน หรือประมาณ 68% ของประชากรไทย กล่าวได้ว่าเป็นประเทศไทยขนาดย่อม ๆ ก็ว่าได้ แม้มณฑลนี้จะมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน แต่ความหนาแน่นของประชากรต่อตารางเมตรก็มีสูงถึง 112 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าของไทยเพียงเล็กน้อย (131 คน)
          มณฑลนี้มีรายได้ค่อนข้างต่ำ คือ มีรายได้ประชาชาติประมาณ 4.167 ล้านล้านบาทต่อปี หรือตกเป็นเงินต่อประชากรหัวละประมาณ 69,810 บาทต่อปี ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติต่อหัวของจีนโดยรวมที่ 255,000 บาทต่อปี และของไทยที่ 285,000 บาทต่อปี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวและการค้า จึงจะพัฒนาให้มณฑลนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก
          สำหรับนครคุนหมิง ซึ่งเป็นนครหลวงของมณฑลยูนนานนั้น ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,900 เมตร มีขนาด 21,473 ตารางกิโลเมตร หรือ 13.7 เท่าของกรุงเทพมหานคร แต่เขตตัวเมืองมีขนาด 2,081 ตารางกิโลเมตรหรือใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร 33% มีประชากรรวม 6.4 ล้านคน แต่เป็นประชากรเมือง 3.06 ล้านคน นครแห่งนี้มีรายได้ประชาชาติประมาณ 0.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 22% ของทั้งมณฑลยูนนาน และหากคิดเป็นรายได้ประชาชาติต่อหัวก็ประมาณ 145,000 บาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งมณฑลเกินกว่าหนึ่งเท่าตัว

ระบบทางหลวง
          อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอันดับแรก ๆ ของจีนคือทางหลวง ซึ่งในจำนวนทางหลวงยาว 74,000 กิโลเมตร ในประเทศจีนนั้น ปรากฏว่า 95% เป็นระบบทางด่วนที่ผู้ใช้ต้องเสียค่าผ่านทาง ทางหลวง G5 สายสำคัญคือสายปักกิ่ง-คุนหมิง ยาว 2,380 กิโลเมตร สาย G85 สายฉงชิ่ง-คุนหมิง ยาว 838 กิโลเมตร สาย G78 ชานโถว-คุนหมิง ยาว 1,710 กิโลเมตร และสาย G80 สายกวางโจว-คุนหมิง ยาว 1,610 กิโลเมตร
          นครคุนหมิงมีระบบทางด่วนเป็นลักษณะถนนวงแหวนโดยมีรอบที่ 1, 2, 2.5 และ 3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามระบบทางด่วนรอบใน ๆ ก็ยังเผชิญปัญหาการจราจรติดขัด กลายเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ตก จึงทำให้มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงเชื่อมต่อนครหลวงของจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ระบบการขนส่งมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และทำให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเมืองมีความเกื้อหนุนกันยิ่งขึ้น

การพัฒนารถไฟความเร็วสูง
          รถไฟความเร็วสูง กำลังได้รับการพัฒนาอย่างขนานใหญ่ในประเทศจีน เส้นทางที่กำล้งจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2558 ก็คือ เส้นทางสายเซี่ยงไฮ้-คุนหมิง ซึ่งมีความยาว 2,066 กิโลเมตร มีความเร็วประมาณ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟฟ้านี้จะขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม และจะผ่านนครหางโจว และนครฉางชา โดยรวมแล้วจีนจะเป็นประเทศที่มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงยาวที่สุดถึงเกือบ 10,000 กิโลเมตร
          การพัฒนารถไฟความเร็วสูงนี้ จะทำให้มณฑลยูนนานที่เป็นมณฑลชายแดนห่างไกลไร้ทางออกทางทะเล กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางของเอเชียและยุโรป โดยนอกจากจะมีการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิง นครหลักในจีนแล้ว ยังมาสู่ลาว ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ยิ่งกว่านั้นยังจะพัฒนารถไฟความเร็วสูงต่อไปยังอินเดีย ปากีสถานและอิหร่าน ทำให้การขนส่งทางรางเกิดขึ้นได้จริง สนับสนุนการขนส่งทางอากาศ ทางเรือ หรือทางบกในแนวทางอื่น และส่งผลให้คุนหมิงมีความเจริญเติบโตต่อไปอย่างยาวนานในฐานะศูนย์กลางของการเชื่อมต่อกับยุโรปและเอเซีย

การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน
          ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของนครคุนหมิง ได้มีดำริก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2555 แต่ไม่แล้วเสร็จ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2557-2559 โดยมีระยะทางยาวรวมประมาณ 162 กิโลเมตร รวม 51 สถานี โดยแบ่งเป็น 3 เส้นทาง เส้นทางที่กำลังก่อสร้างคือทางไปท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ของนครคุนหมิง แต่สร้างได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น การทดลองวิ่งในช่วงเข้าเมือง ยังประสบปัญหา โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ทดลองวิ่ง ปรากฏว่ารถตกรางส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
          อาจกล่าวได้ว่ารถไฟฟ้าของนครคุนหมิง วิ่งใต้ดินเฉพาะที่ผ่านใจกลางเมือง ส่วนรอบนอกเป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งบนดินบางส่วน โดยวิ่งออกไปทางด้านเหนือ ด้านตะวันออก (ท่าอากาศยาน) ด้านใต้ ไปตามทะเลสาบ และด้านตะวันตก สำหรับในพื้นที่ใจกลางเมืองยังใช้ระบบรถไฟทั่วไป รถประจำทาง และทางด่วนเป็นสำคัญ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของนครคุนหมิงนี้ จะช่วยให้การคมนาคมของประชาชนที่ทำงานในนครคุนหมิงมีความสะดวกยิ่งขึ้น พื้นที่ต่าง ๆ ตามสถานีรถไฟฟ้า กำลังก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยใหม่ ๆ ขึ้นเป็นหย่อม ๆ โดยมีขึ้นเป็นจำนวนมาก

ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่
          ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ชื่อ คุนหมิง-ฉางซุย (Kunming Changshui International Airport: KMG/ZPPP) ตั้งอยู่ห่างจากนครคุนหมิงประมาณ 24.5 กิโลเมตร (พอ ๆ กับท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,100 เมตร และเริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 เท่านั้น และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับตัว เพราะกระบวนการขนส่งสัมภาระต่าง ๆ ยังล่าช้า ท่าอากาศยานแห่งใหมนี้มีทางขึ้นลงเครื่องบิน 2 ทาง และจะขยายตัวเป็น 4 ทางในอนาคต และคาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 38 ล้านคนในปี พ.ศ.2563
          อาคารผู้โดยสารมีขนาด 548,300 ตารางเมตร (เล็กกว่าสุวรรณภูมิที่มีขนาด 563,000 ตารางเมตร) ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศจีน ขณะนี้มีทางรถไฟฟ้าวิ่งเข้าเมือง แต่วิ่งเข้าได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในส่วนต่อเข้าเมืองยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและทดสอบระบบ นอกจากนั้นยังมีระบบทางด่วนเชื่อมเข้าเมือง โดยทางด่วนนี้มีระยะทาง 13 กิโลเมตร และต่อด้วยระบบถนนปกติในนครคุนหมิง
          สำหรับท่าอากาศยานเดิมของคุณหมิงชื่อ Kunming Wujiaba International Airport อยู่ห่างจากนครคุนหมิง เพียง 4 กิโลเมตร แต่โดยที่มีทางขึ้นลงเพียงทางเดียวและไม่สามารถขยายได้ จึงปิดทำการถาวรไปแล้ว และมีแผนที่จะรื้อถอนและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของนครคุนหมิง

          โดยสรุปแล้ว การพัฒนาอย่างขนานใหญ่ทั้งทางอากาศ ทางบกในหลาย ๆ รูปแบบของระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของนครคุนหมิงและมณฑลยูนนานโดยรวม ทำให้การพัฒนาเมืองมีระเบียบมากขึ้น แปลงเขตพื้นที่ชานแดนห่างไกลเป็นประตูสู่ภูมิภาค เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักแห่งหนึ่งในภูมิภาค และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีนและภูมิภาคนี้โดยรวม


หมายเหตุ
เรียบเรียงจากการสำรวจภาคสนามและมีแหล่งข้อมูลดังนี้
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved