เหล็กขึ้น 16% ใน 1 ไตรมาส ตลาดบ้านจะเป็นอย่างไร
  AREA แถลง ฉบับที่ 432/2564: วันพุธที่ 09 มิถุนายน 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

           ท่านทราบหรือไม่ ในช่วง 1 ไตรมาสที่ผ่านมา ราคาเหล็กเพิ่มขึ้นถึง 16% อันนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดบ้าน-อาคารชุดหรือไม่ ราคาบ้านจะขึ้นกระฉูดสวนกระแสเศรษฐกิจตกต่ำหรือไม่

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยว่า คณะทำงานประเมินราคาค่าก่อสร้างอาคาร ของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ที่ ดร.โสภณเป็นประธานก่อตั้ง ได้ศึกษาพบว่า ราคาเหล็กในไตรมาสที่ 1/2564 (มกราคม-มีนาคม 2564) เพิ่มขึ้นถึง 16% อันอาจส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยหรือไม่

            ในการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยโดยรวม สัดส่วนของค่าก่อสร้างขึ้นอยู่กับวัสดุต่างๆ ตามสัดส่วนราคาโดยสังเขป ดังนี้:

ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 7.04%
ซิเมนต์ 11.92%
ผลิตภัณฑ์คอนกรีต 15.68%
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 23.59%
กระเบื้อง 6.72%
วัสดุฉาบผิว 3.47%
สุขภัณฑ์ 2.00%
อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา 12.48%
วัสดุก่อสร้างอื่น ๆ 17.10%
รวม 100.00%

            ในราคาค่าก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ราคาวัสดุต่างๆ มีการปรับตัวในระหว่างไตรมาสที่ 4/2563 ถึง ไตรมาสที่ 1/2564 (3 เดือนล่าสุด) มีการเพิ่มขึ้นของวัสดุต่างๆ เฉลี่ย +4.48% โดยปัจจัยสำคัญก็คือ ไม้เพิ่มขึ้น + 1.9% ผลิตภัณฑ์คอนกรีตเพิ่มขึ้น +1.5% เหล็กเพิ่มขึ้น +16.0% อุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น +1.9% วัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้น +0.9% ส่วนวัสดุที่มีราคาคงที่ ได้แก่ กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ และส่วนวัสดุที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ ซีเมนต์ ลดลง -0.4% โดยมีรายละเอียดเป็นดังนี้:

ไม้ 1.90%
ซีเมนต์ -0.40%
ผลิตภัณฑ์คอนกรีต 1.50%
เหล็ก 16.00%
กระเบื้อง 0.00%
วัสดุฉาบผิว 0.00%
สุขภัณฑ์ 0.00%
อุปกรณ์ไฟฟ้า 1.90%
วัสดุก่อสร้างอื่นๆ  0.90%

            ดังนั้นจึงทำให้ดัชนีรวมปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4.48% จะเห็นได้ว่าเหล็กปรับขึ้นสูงสุดที่ 16% ในขณะที่ซีเมนต์ปรับลงไปเป็น -0.4% อย่างไรก็ตามรายการอื่นๆ แทบไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนมากนัก

           ค่าวัสดุข้างต้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ราคาค่าก่อสร้างยังประกอบด้วยค่าแรง และภาษีและค่าดำเนินการต่าง ๆ ดังนั้นค่าก่อสร้างที่แท้จริง เพิ่มขึ้น +2.89% ในไตรมาสที่ 1/2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้:          

1. ค่าวัสดุ 60% 4.48% 62.69%
2. ค่าแรง 20% 0.00% 20.00%
3. กำไร ภาษีและค่าดำเนินการ 20% 1.00% 20.20%
    100.00% 102.89%

            โดยสรุปแล้วการปรับราคาค่าก่อสร้าง โดยใช้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของทางราชการ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีผลออกมาเพิ่มขึ้นเพียง 2.89%

            ยิ่งกว่านั้นในราคาขายบ้านหลังหนึ่ง เช่น บ้านเดี่ยว ตัวอาคารอาจมีราคาเท่ากับหนึ่งในสาม และอีกสองในสามเป็นค่าที่ดิน  ถ้าค่าที่ดินไม่ขึ้น แต่ 33.3% ของค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.89%  ก็เท่ากับเพิ่มขึ้นเป็น 34.3% หรือเพิ่มขึ้น 1% เท่านั้น  การที่เหล็กขึ้นราคาไป 16% ทำให้ราคาบ้านที่เสนอขายเพิ่มขึ้นจริงเพียง 1% จึงไม่มีนัยสำคัญใดๆ  ยิ่งกว่านั้นในขณะนี้ ยังมีบ้านและห้องชุดรอขายในท้องตลาดถึง 226,645 หน่วยนั้นแสดงว่ายังมีอุปทานเหลือในตลาดอีกมากจนไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่มากนัก

            อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาเหล็กขึ้นราคานี้ก็คงจะยังคงอยู่ต่อไประยะหนึ่ง เพราะในขณะนี้ประเทศจีนฟื้นตัวอย่างมาก จนความต้องการใช้เหล็กมีมากขึ้น  นอกจากนั้นประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกา ก็ปรากฏว่าราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 12% ในรอบปีที่ผ่านมา ในยุโรปราคาที่อยู่อาศัยก็เพิ่มขึ้น (ต่างจากในประเทศไทยที่ทรงตัว) จึงคงยังมีความต้องการใช้เหล็กอยู่ไม่น้อยในทั่วโลกเช่นกัน

            ผลกระทบของการขึ้นราคาเหล็กอาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคในประเทศไทยมากกว่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ดร.โสภณ กล่าวสรุป

            สำหรับราคาค่าก่อสร้างอาคารประเภทต่างๆ ในรอบไตรมาสที่ 1/2564 ที่ผ่านมาเป็นดังนี้:

  • บ้านเดี่ยว 2-3 ชั้น ราคาปานกลางตารางเมตรละ 12,400 บาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่มีราคา 12,100 บาท
  • ทาวน์เฮาส์ 2-3 ชั้น ราคาปานกลางตารางเมตรละ 9,3000 บาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่มีราคา 9,000 บาท
  • ตึกแถว 4-5 ชั้น ราคาปานกลางตารางเมตรละ 8,000 บาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่มีราคา 7,800 บาท
  • อาคารพักอาศัยไม่เกิน 5 ชั้น ราคาปานกลางตารางเมตรละ 13,500 บาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่มีราคา 13,100 บาท
  • โกดัง-โรงงานทั่วไป ราคาปานกลางตารางเมตรละ 8,000 บาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่มีราคา 7,800 บาท

            ท่านผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2QCQVS7


ภาพโดย sandid จาก Pixabay 
อ่าน 1,924 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved