อ่าน 903 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 49/2556: 9 พฤษภาคม 2556
16 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ในการผลักดันให้ประกาศใช้ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ได้มีข้ออ้างหลายประการ ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าผังเมืองนี้ดี และยังมีข้อสังเกตซึ่งแสดงถึงความไม่สมควรของร่างผังเมืองนี้อีกหลายประการ เช่น
          1. ร่างผังเมืองนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด ไม่มีมาตรการใดที่จะให้ประชาชนเชื่อใจได้ว่าหากเกิดน้ำท่วมอีก กรุงเทพมหานครจะป้องกันได้ ปัจจุบันนี้แม้แต่ฝนตกหนัก น้ำก็ยังท่วม ถ้าจะรับมือน้ำท่วมจริง ต้องร่วมกับทุกภาคส่วน ต้องมีการจัดทำถนนและเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีระบบการสูบน้ำออกจากเมือง มีระบบเปิดปิดน้ำ กันน้ำทะเลหนุน มีระบบคลองระบายน้ำใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้มีในผังเมือง
          2. ร่างผังเมืองนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร เพราะไม่ใช่แผนแม่บทในการพัฒนาสาธารณูปโภค หน่วยงานด้านถนน รถประจำทาง ทางด่วน ระบบขนส่งมวลชนต่างพัฒนาไปคนละทิศละทาง
          3. ร่างผังเมืองนี้ไม่ได้ช่วยส่งเสริมสาธารณูปโภคเลย เพราะกรุงเทพมหานครไม่ได้ประสานแผนงาน 5 ปีของการไฟฟ้า การประปา การโทรศัพท์ การไปรษณีย์ การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ฯลฯ เข้ากับผังเมืองนี้แต่อย่างใด
          4. ที่ว่าจะสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว (Green City) ไม่มีความชัดเจนเลย พื้นที่สีเขียวที่บอกว่ามีอยู่มากมาย แท้จริงไปนับพื้นที่เกาะกลางถนนบ้าง ริมทางบ้าง บ่อบึงบ้าง พื้นที่สวนในหมู่บ้านจัดสรรเอกชนบ้าง พื้นที่สีเขียวในค่ายทหารบ้าง ไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวเลย
          5. กรุงเทพมหานคร 'คุย' ว่าจะให้ประโยชน์ในการพัฒนาสร้างศูนย์การค้าแบบคอมมิวนิตี้มอลล์ใหม่นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะกำหนดขนาดถนนไว้กว้างจนหาถนนสร้างได้จริงไม่ได้ ที่สำคัญพื้นที่ที่ขีดเป็นสีพาณิชยกรรมหลายแห่ง ปัจจุบันมีสภาพเป็นหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งก็คงไม่มีใครรื้อบ้านมาทำศูนย์การค้าได้
          6. ถ้าร่างผังเมืองฉบับนี้ออกมา อาคารชุดสูง ๆ ในย่านสุขุมวิทก็หมดสิทธิ์เกิดทั้งหมด ปัญหาการสร้างตึกสูงสร้างความรำคาญก็ต้องแก้ที่การก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน การห้ามด้วยผังเมืองเท่ากับจำกัดสิทธิ์เจ้าของที่ดินโดยตรง
          7. ถ้าผังเมืองนี้ออกมาอะพาร์ตเมนตฺ์สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีขนาด 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปและมีอยู่ดกดื่นในเขตชั้นกลางของเมือง ก็จะสร้างไม่ได้อีกต่อไป เพราะเขากำหนดให้สร้างได้เฉพาะที่อยู่ติดถนนที่มีความกว้าง 30 เมตร ซึ่งไม่มีซอยไหนมีขนาดดังกล่าวเลย ก็คือห้ามสร้างนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นทาวน์เฮาส์สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางในเขตชานเมือง ซึ่งมีอยู่ดกดื่น ก็จะสร้างไม่ได้อีกต่อไป หรือสร้างได้ก็ต้องมีถนนกว้าง ๆ ซึ่งไม่มีถนนหนมีความกว้างเช่นดังอ้าง
          8. กรุงเทพมหานครวางแผนว่าจะตัดถนนกว้าง ๆ อีก 140 ถนน เพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ในความเป็นจริง ไม่มีงบประมาณ เป็นแค่การขีดเขียนไว้ในผังเมืองเท่านั้น ถนนหลายเส้นวางผังมาตั้งแต่ผังเมืองฉบับก่อน ก็ยังไม่ได้ทำเลย
          9. ร่างผังเมืองนี้ผลักดันคนกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผู้มีรายได้ปานกลางให้ระเห็จออกไปอยู่นอกกรุงเทพมหานคร เพราะเขาห้ามสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้สาธารณูปโภคต้องขยายตัวออกไปไม่สิ้นสุด สาธารณูปโภคก็ต้องสิ้นเปลืองขยายตัวออกไปเช่นกัน
          10. ที่กรุงเทพมหานครโฆษณาว่าจะพัฒนาศูนย์ธุรกิจชานเมือง เช่น มีนบุรีตามรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้มที่จะผ่านไปแถวนั้น เป็นการอ้างข้อดีของผังเมืองที่ไม่เป็นจริง เพราะยังไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าทั้งสองสายจะได้ก่อสร้างและแล้วเสร็จเมื่อไหร่ บางทีเมื่อผังเมืองหมดอายุลง ยังไม่รู้จะได้สร้างหรือไม่
          11. กรุงเทพมหานครมักโชว์ข้อดีว่าผังเมืองนี้ให้โบนัสพิเศษแก่ที่ดินที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการโอ่เกินจริง เพราะต้องเป็นสถานีที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่สถานีที่กำลังก่อสร้างด้วยซ้ำ แล้วใครจะไปขออนุญาตทัน ที่สำคัญโบนัสเหล่านั้นยังเป็นโบนัสที่รับไม่ได้ เช่น ให้เจ้าของที่ดินสร้างอาคารเพิ่มได้อีกนิดหน่อย หากจัดหาที่จอดรถให้ชาวบ้านที่ไปขึ้นรถไฟฟ้าได้จอดรถฟรี ลำพังที่จอดรถของอาคารก็ไม่พอแล้ว แล้วใครจะอยากได้โบนัสพิเศษแบบปลอม ๆ เช่นนี้
          12. ในวีดีโอแนะนำผังเมืองของสำนักผังเมืองยังอ้างว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีชาวต่างประเทศนิยมมาท่องเที่ยวเพราะมีผังเมืองดี ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น ผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครเริ่มมีครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 และไมได้มีบทบาทใดต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเลย ประชาชนยังไม่รู้เรื่องจริงเกี่ยวกับผังเมืองด้วยซ้ำไป
          13. ในการรับหลักการผังเมืองรวมฉบับนี้ มีเหตุผลว่า ผังเมืองรวมนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานคร "เป็นเมืองต้นแบบในด้านการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมไปถึงลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" แต่ในความเป็นจริงไม่มีมาตรการใดในร่างผังเมืองนี้ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิผลดังอ้างเลย
          14. ในการร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ สำนักผังเมืองอ้างว่าได้ฟังความเห็นของประชาชน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องด้วย ในการชี้แจงมักชี้แจงแต่ข้อดีซึ่งอาจไม่เป็นจริง สำนักผังเมืองอ้างว่าจะฟังเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ประชาชนก็ไม่ได้รับทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจึงไม่ได้คัดค้าน ที่ผ่านมามีเรื่องที่คนคัดค้านไปมากนับพัน ๆ เรื่อง ทางราชการควรมีความโปร่งใสโดยมีคำชี้แจงผ่านเว็บบอร์ดหรือติดประกาศ
          15. ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักผังเมืองก็ออกมาบอกว่า แม้ร่างผังเมืองนี้จะยังมีปัญหาข้อบกพร่อง แต่ให้รับไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขใหม่ (พูดเหมือนการให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ไข) แต่ในความเป็นจริง ทางราชการก็กำลังจะออกกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ให้มีอายุ 10 ปีต่ออายุได้อีก 10 ปี ซึ่งต่อไปใครจะแก้ไขผังเมือง ก็ต้องรอไปถึง 20 ปีเต็ม
          16. ในร่างผังเมืองระบุว่า ผู้ที่ขออนุญาตก่อนผังเมืองนี้ออก ก็ให้ยึดถือตามผังเมืองฉบับเดิม แต่ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ใครที่ไปขออนุญาตก่อสร้างอาคาร กรุงเทพมหานครจะไม่รับเรื่องการขออนุญาตดังกล่าว เพราะหากรับแล้วและหากพิจารณาตามกรอบผังเมืองเดิมก็จะสามารถสร้างได้ กรณีนี้ก็เท่ากับไม่ให้เกิดการก่อสร้างใด ๆ ตามผังเมืองเดิม ก่อนระยะเวลาที่ผังเมืองเดิมประกาศใช้เสียอีก
          โดยสรุปแล้ว ร่างผังเมืองนี้ เป็นการแก้ปัญหาเมืองแบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพราะแทนที่จะจัดระเบียบการใช้ที่ดินที่ดี กลับปัดปัญหาออกไปนอกเมือง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรของกรุงเทพมหานครลดลงในระยะหลายปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนไม่สามารถอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้ เพราะความพยายามทำเมืองให้หลวม กรุงเทพมหานครควรคิดใหม่ ทำเมืองให้หนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowded) แต่ปัจจุบันกลับทำในทางตรงกันข้าม
          ประเด็นหนึ่งที่กรุงเทพมหานครเองไม่สามารถจะแก้ปัญหาของเมืองและวางแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะขณะนี้ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครได้ขยายออกนอกเขตบริหารของกรุงเทพมหานครแล้ว ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครยังขาดการประสานแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ผังเมืองกับการขยายตัวของสถานศึกษา พื้นที่ปกครอง กิจการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ราคาประเมินของทางราชการ ก็ไม่ได้ยึดโยงกับผังเมือง
          ด้วยเหตุนี้กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการวางผังเมืองจึงควรเร่งทำผังภาคมหานคร ซึ่งรวมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันวางผังนี้ให้เป็นแผนแม่บทในด้านการปกครอง สาธารณูปโภคและอื่นๆ ในระหว่างนี้ให้ประกาศใช้ผังเมืองฉบับเดิมไปก่อน และให้มีกรอบเวลาการทำผังภาคมหานครให้แล้วเสร็จใน 2 ปี
          ผังเมืองที่ควรจะเป็นควรกำหนดให้ในพื้นที่เขตธุรกิจชั้นในของกรุงเทพมหานคร ควรอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และสูงพิเศษ แต่ให้เว้นพื้นที่ว่างให้มากเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษ เพราะกรุงเทพมหานครควรจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการก่อสร้างอาคารได้สูงหรือใหญ่พิเศษ เพื่อนำเงินไปเข้ากองทุนพัฒนาระบบคมนาคม เช่น รถไฟฟ้ามวลเบา ผ่านเข้าสู่ถนนสายต่างๆ เพื่อการระบายการจราจร และควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกิจการไฟฟ้า ประปา ทางหลวง รถไฟฟ้า ช่วยกันร่างผังเมืองนี้เป็นแผนแม่บทของหน่วยงานของตน ส่วนในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทจะห้ามก่อสร้างถนนหรือขยายไฟฟ้า ประปาไปบริเวณดังกล่าว
          นอกจากนี้ควรให้การเคหะแห่งชาติและหน่วยงานอื่นโดยควรใช้วิธีจัดรูปหรือเวนคืนที่ดินชานเมือง เช่น เขตหนองจอก ราว 10,000 – 20,000 ไร่ สร้างเมืองใหม่แบบปิดล้อมแต่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยตรง แล้วจัดสรรที่ดินที่มีสาธารณูปโภคครบ (serviced land) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์ธุรกิจ เป็นต้น ร่วมกรมธนารักษ์เพื่อนำที่ดินใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการรวมศูนย์ สาธารณูปโภคไม่ต้องขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยกันเองในพื้นที่ และร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสร้างนิคมให้โรงงานได้ใช้ในราคาถูกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพื่อห้ามการก่อสร้างโรงงานตามท้องนาหรือย่านชานเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
          อย่าปล่อยให้ผังเมืองออกมาทำลายการพัฒนาเมืองที่ควรจะเป็น ผังเมืองต้องรับใช้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved