อ่าน 972 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 55/2556: 17 พฤษภาคม 2556
ผังเมือง กทม. ไม่ดีอย่างไร ทำไมต้องค้าน

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร ที่ กทม.จัดทำขึ้นนี้ไม่เหมาะสม จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนมากกว่าจะเป็นประโยชน์ ต้องแก้ไขโดยเร็ว

          เห็นกรุงเทพมหานครออกมาเปิดศูนย์ชี้แจงกับประชาชนเรื่องผังเมืองแล้ว ทำให้คิดได้ว่า ที่ผ่านมาผังเมืองแทบจะไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้เลย  จึงต้องเปิดศูนย์เช่นนี้ แล้วออกกฎมาแล้วค่อยมาชี้แจง จะไม่ช้าไปหรือ ยิ่งต่อไปจะแก้ไขกฎหมายผังเมืองให้ทำทีหนึ่งใช้ 10 ปี ต่ออายุได้อีก 10 ปี ถ้ายังแก้ไม่เสร็จก็ต่ออายุไปอีก 2 ปี 2 ครั้ง รวม 24 ปี ก็ยิ่งหมดหวังกับระบบการแก้ไขไปใหญ่

          แม้ก่อนมีผังเมืองรวม กทม. จะอ้างว่าได้ทำประชาพิจารณ์แล้ว แต่ผู้บริหารระดับสูงเองก็ยอมรับว่า ยังไม่ทั่วถึง และเป็นการชี้แจงข้อดี (ซึ่งไม่แน่นักว่าจะเป็นข้อดีจริง) ของผังเมืองมากกว่าที่จะให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น หรือแม้ได้แสดงความเห็นค้านไป ก็มักไม่ได้รับการบันทึกไว้ หรือไม่ได้มีคำตอบว่าจะแก้ไขหรือไม่อย่างไร และแล้วก็ยังใช้ร่างผังเมืองที่ร่างมา ซึ่งก็เท่ากับไม่ได้ฟังประชาชน หรือฟังไปก็ไม่ได้นำไปปรับปรุง หรือไม่ได้มีเหตุผลตอบกลับมาว่าทำไมไม่ทำตามคำขอของประชาชนที่มาร้องคัดค้าน ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้คัดค้านน้บพัน ๆ เรื่อง  การมาฟังประชาชนเมื่อประกาศใช้ผังเมืองแล้วจึงเป็นเรื่องตลก ลักลั่นชอบกล

          สิ่งที่ไม่เหมาะสมของผังเมือง ซึ่งผมได้เขียนค้านไปถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และกรมโยธาธิการและผังเมือง และ กทม. มาตั้งแต่ปีที่แล้วเดือนเมษายน 2555 ก็คือ ผังเมืองนี้ไม่สมบูรณ์ วางในขอบเขตเฉพาะกรุงเทพมหานคร ทั้งที่เขตเมืองของกรุงเทพมหานครขยายออกไปรอบนอกแล้ว จึงควรวางแผนภาคมหานคร ซึ่งผมได้เสนอให้กรมโยธาฯ เป็นเจ้าภาพแทนกรุงเทพมหานคร

          โดยที่ กทม. มีขอบเขตอำนาจจำกัด จึงวางแผนแบบตามมีตามเกิด ไม่ได้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ หรือถึงประสานก็ในเชิงรูปแบบ เพราะต่างเป็นอิสระ  แต่ถ้ากรมโยธาฯ เป็นศูนย์กลาง แล้วให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกันในรอบ 5 ปีที่จะถึงว่าจะพัฒนาไปทางไหนในขอบเขตมหานคร ผังเมืองที่เป็นเสมือนแผน 5 ปีของทุกหน่วยงานจึงจะเกิด โดยทุกหน่วยงานถือปฏิบัติอย่างสอดรับกัน

          การปล่อยให้ กทม. วางผังไปเอง จึงทำให้ขาดการประสานแผน สร้างความเสียหายให้กับการพัฒนาเมือง เช่น การพยายามกำหนดให้เขตรอบนอกของ กทม. เป็นพื้นที่สีเขียว ห้ามการก่อสร้างมากหลาย แต่พอข้ามไปผั่งสมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐมกลับสามารถสร้างได้ ถือเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน เมืองก็ขยายออกไปนอกเขตกรุงเทพมหานคร ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ตลอดจนสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอื่น ก็ต้องขยายตามออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีการวางแผน

          การขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศผิดทางเพราะขาดผังเมืองที่ดีนั้น ทำให้ประชากรของกรุงเทพมหานครลดลง เพราะต้องออกไปอยู่นอกเมือง ใจกลางเมือง และเขตต่าง ๆ พยายามห้ามสร้าง เพื่อให้กรุงเทพมหานครดูหลวม ๆ ไว้ ให้สวยงามเข้าไว้ อย่างไรก็ตามประชากรกลางวัน หรือประชากรที่พบเห็นในวันทำงานกลับมีมากขึ้น เพราะผู้คนที่ระเห็จไปอยู่นอกเมือง ต้องเข้ามาทำงานในเมืองอยู่ดี จราจร รถติด มลพิษ กลับจะยิ่งมีมากขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว ที่ กทม.ว่า ผังเมืองนี้จะช่วยลดมลพิษ ทำให้เป็นเมืองสีเขียว ตลอดจนลดโลกร้อน จึงเป็นเสมือนคำ โฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต่อไปคนกรุงเทพมหานครอาจต้องย้ายออกไปไกลถึงฉะเชิงเทรา เพราะข้อจำกัดการก่อสร้างต่าง ๆ

          การประสานงานนั้นสำคัญ เพราะแม้แต่ในหน่วยงานของ กทม. เองก็ยังอาจไม่มีการประสานงาน ถ้าสำนักผังเมืองวางผังไป แต่สำนักโยธา ก็ยังไม่สามารถสร้างถนนได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น กรณีผังเมืองวางแผนไว้ว่าจะสร้างถนน 140 ถนน แต่ก็แค่เป็นการวางแผน เพราะไม่มีงบประมาณ ยังไม่ได้เขียนแบบจริงจังก็มี ที่สำคัญหลายเส้นก็เป็นการปรับปรุง ไม่ใช่ถนนใหม่ และหลายเส้นก็เขียนไว้ในผังเมืองฉบับก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ได้ทำสักทีหนึ่ง

          ผมเชื่อว่าลึก ๆ แล้ว ข้าราชการที่ดีแต่ขาดวิสัยทัศน์บางคนอาจเข้าใจว่า พวกนักพัฒนาที่ดินเรียกร้องเพื่อเอาประโยชน์ใส่ตัวในเรื่องผังเมือง จึงไม่ยอมแก้ไขผังเมืองให้ดี ผมเองก็ไม่ใช่นักพัฒนาที่ดิน ไม่เป็นนายหน้า เป็นเพียงผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยที่เป็นกลาง และมั่นใจว่าไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของนายทุน ขุนศึก และศักดินาใด ๆ แต่การที่หากนักพัฒนาที่ดินสามารถพัฒนาในเมืองได้ และขายได้ ก็แสดงว่าเป็นความต้องการของผู้บริโภค เราจึงควรส่งเสริมให้คนอยู่ในเมือง จะได้ไม่ออกไปรุกที่ชนบท ทุกวันนี้บางนาที่ปลูกข้าวได้ดีกว่าที่ไหนในประเทศไทยก็ไม่มีเหลือแล้ว สวนส้มบางมด สวนทุเรียนเมืองนนทบุรี ก็ไม่เหลือ ต่อไปหมู่บ้านกล้วยไม้ฝั่งธนบุรี หมู่บ้านต้นไม้คลอง 16 ก็อาจไม่รอด เพราะเราจำกัดการพัฒนาจนเกินไป

          เราไม่พึงคิดสับสนปะปนกันจนอ้างเหตุผลแบบจับแพะชนแกะ กล่าวคือ ถ้านักพัฒนาที่ดินใด ก่อสร้างอาคารใหญ่แล้วไปสร้างความเสียหายให้กับเพื่อนบ้าน ก็ต้องจับ ปรับกันไป หรือเมื่อนักพัฒนาที่ดินรายใดโกงชาวบ้าน ก็ต้องจัดการไปตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมา เมื่อเงินพูด สัจจะก็เงียบ และคงเป็นเพราะเราเข้าใจธรรมะแบบผิด ๆ ตีความแบบดาด ๆ คือ จะเอาแต่แก้ปัญหาที่ต้นตอของ ทุกข์ ก็เลยเข้าใจว่านักพัฒนาที่ดินเลว ต้องห้ามไว้ก่อน เป็นต้น

          ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกรมโยธาฯ ออกมาเป็นเจ้าภาพจัดทำผังภาคมหานครใหม่ ให้เสร็จใน 1-2 ปีนี้ อย่าปล่อยให้ความปัญหาหมักหมมนานไปกว่านี้ แล้วประชาชนจะมีความสุขยิ่งขึ้นจากการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved