อ่าน 893 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 66/2556: 4 มิถุนายน 2556
ผังเมือง กทม. ฉบับเพิ่มโลกร้อนและทำลายสิ่งแวดล้อม

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          แม้สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร จะพยายามออกแบบผังเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่เชื่อว่าความพยายามดังกล่าวนอกจากจะไม่บรรลุผลแล้ว ยังจะส่งผลในทางตรงกันข้าม
          ในพื้นที่ใจกลางเมือง ผังเมืองกำหนดให้สามารถก่อสร้างได้พื้นที่สูงสุดเพียง 10 เท่าของขนาดที่ดิน ซึ่งมีเพียงบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก่อสร้างได้ประมาณ 4-8 เท่า ๆ นั้น  หลายแห่งก็ไม่สามารถก่อสร้างที่อยู่อาศัยรวมได้หากถนนหน้าที่ดินกว้างน้อยกว่า 30 เมตร เป็นต้น ดังนั้นการพัฒนาต่าง ๆ ก็ต้องออกไปสู่นอกเมือง ก็เท่ากับว่าประชากรต้องเดินทางออกไปนอกเมือง การเดินทางเช่นนี้ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เวลาในการเดินทาง ความตึงเครียด ฯลฯ ให้เกิดกับบุคคล ครอบครัว และชุมชนโดยรวม
          นอกจากนี้การที่ประชากรย้ายออกนอกเมืองไกล ๆ ยังทำให้สาธารณูปโภคต่าง ๆ ต้องขยายออกไป เป็นการสูญเสียทรัพยากรของชาติ สิ้นเปลืองน้ำมันและพลังงานต่าง ๆ การขยายตัวของเมืองในแนวราบก็ไม่สิ้นสุด ก็เท่ากับความสิ้นเปลืองเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน การนำเข้าพลังงานจำนวนและมูลค่ามหาศาล ก็จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น และทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความมั่นคงที่ไม่อาจพึ่งพาตนเองได้ในด้านพลังงาน
          การเดินทางเข้าสู่เมืองมาก ๆ ยิ่งก่อให้เกิดมลภาวะอย่างไม่ต้องสงสัย เช่นนี้แล้ว ผังเมืองจะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร จะเร่งสร้างภาวะโลกร้อนจากการเผาผลาญพลังงานอีกต่างหาก มลภาวะในที่นี้ประกอบด้วยมลภาวะทางอากาศจากการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ยังรวมถึงมลภาวะทางเสียงอีกด้วย  การที่เมืองขยายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะผังเมืองไม่ยอมให้ก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร ย่อมทำให้เกิดมลภาวะด้านขยะกระจัดกระจายตัวมาก ทำให้ประสิทธิภาพการจัดเก็บต่ำลงไปอีก
          ในช่วงที่ผ่านมา ประชากรของกรุงเทพมหานครเองลดลงตามลำดับ แต่ประชากรในเวลากลางวันกลับเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนต้องเดินทางจากนอกเมืองในพื้นที่ปริมณฑล ที่เสมือนเป็นเมืองพักอาศัย (Bed City) เข้ามาในเมืองมากขึ้น ถ้าระบบขนส่งมวลชนขยายออกไป ก็จะขยายไม่สิ้นสุด แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน อย่างน้อยก็ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า มลภาวะต่าง ๆ ก็ยิ่งกระจายตัว
          พื้นที่สีเขียวในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานครถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ โดยที่กรุงเทพมหานครขาดการวางผังให้มีความหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) จึงทำให้พื้นที่บางนา ที่เคยปลูกข้าวได้ดีที่สุดของประเทศไทย สูญหายไปหมด ทำให้พื้นที่ปลูกส้มบางมด พื้นที่ปลูกทุเรียน นนทบุรี หดหายไป และยังรุกเข้าไปเรือกนาไร่สวนอื่น ๆ ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทสาคร นนทบุรี และนครปฐม
          การทำลายพื้นที่สีเขียวชานเมืองและนอกเมือง ก็เท่ากับเราส่งเสริมให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น ในระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา เขตชนบทของปริมณฑล ถูกทำลายไปหลายร้อยตารางกิโลเมตร หรือราว 200,000 ไร่ พื้นที่รับน้ำ พื้นที่แก้มลิง ก็หดหายไปหมด เมื่อเกิดอุทกภัย ก็ไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขอะไรได้ แม้แต่ปัจจุบันฝนตกลงมาพักใหญ่ น้ำก็ท่วมกรุงเทพมหานครแล้ว
          มาตรการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครล้วนไม่ได้ผลในการลดโลกร้อน เป็นเพียงมาตรการปลีกย่อย เช่น การกำหนดให้มีพื้นที่ส่วนโล่งของที่ดินมาก ๆ ถึงราวหนึ่งในสามของพื้นที่ดินทั้งหมด การกำหนดให้มีพื้นที่ที่น้ำซึมผ่านได้ น่าจะเป็นมาตรการกีดกันการพัฒนาในเขตเมืองมากกว่าจะส่งเสริมให้เกิดความหนาแน่นแต่ไม่แออัด ส่วนมาตรการที่ดูคล้ายการส่งเสริม เช่น การให้โบนัสพัฒนาที่ดินใจกลางเมือง หรือรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้า ก็ได้แค่ "น้ำจิ้ม" "ได้ไม่คุ้มเสีย" ในสายตาของนักพัฒนาที่ดิน  ส่วนมาตรการป้องกันน้ำท่วมอย่างขนานใหญ่และอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่ปรากฏชัดเจนในผังเมืองแต่อย่างใด
          การที่ทำให้กรุงเทพมหานครดูโล่ง ๆ ใจกลางเมืองก็เพื่อให้ลูกหลานเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ ที่จะเก็บที่ดินไว้ได้อีกนานเท่านาน เพราะประเทศไทยไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมา "จี้ก้น" ให้ทำการพัฒนาที่ดิน แต่การทำเช่นนี้ เป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพราะการที่มีการไปผุดโครงการนอกเขตกรุงเทพมหานคร ก็แสดงว่าประชาชนเจ้าของกรุงเทพมหานคร ต้องการที่อยู่อาศัย แต่ในเมืองถูกกีดกันไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ก็ต้องไปซื้อบ้านอยู่นอกเมือง และหากในอนาคตนนทบุรีและสมุทรปราการมีการควบคุมเช่น กรุงเทพมหานคร คนกรุงเทพมหานครคงต้องไปซื้อบ้านไกลถึงฉะเชิงเทรา อยุธยา สุพรรณบุรีหรืออำเภอรอบนอก ๆ ของนครปฐม
          การซุกปัญหาอยู่ใต้พรมเช่นนี้เป็นการขาดความรับผิดชอบในฐานะนักวิชาชีพ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การขีดเอาพื้นที่ของชาวบ้านในเขตรอบนอก เป็นพื้นที่สีเขียว จำกัดการพัฒนาที่ดินของพวกเขา ก็เป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบเช่นกัน ถ้าจะกีดกันไม่ให้เจ้าของที่ดินพัฒนา ปล่อยให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเขียว ๆ ไว้ ก็ควรเวนคืน หรือจ่ายค่าทดแทนการเสียสิทธิ แทนการใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามกฎหมายผังเมืองอย่างขาดความรับผิดชอบ เพราะพวกเขาไม่สามารถพัฒนาที่ดินได้ แต่หากข้ามไปฝั่งจังหวัดปริมณฑล กลับสามารถพัฒนาได้เต็มที่เพราะไม่ได้มีข้อห้ามไว้
          ช่วยกันคิดใหม่เดี๋ยวนี้ เพื่อผังเมืองที่ดีของประชาชน

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved