อ่าน 1,218 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 1/2557: 2 มกราคม 2557
ที่อยู่อาศัยเพื่อความสมานฉันท์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ความสมานฉันท์ของคนในชาติเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าบ้านเมืองแตกแยก ความวิบัติถดถอยก็มาเยือน ผมก็อยากเขียนเร่องความสมานฉันท์ แต่ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และเขียนในหน้าต่างประเทศ วันนี้จึงขออนุญาตเสนอเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อความสมานฉันท์
          ผมไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงจาการ์ตาอยู่เนืองๆ และไปเป็นที่ปรึกษาธนาคารโลก และกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย พบว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศถึง 86% และนับเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุด ดังนั้นจึงมีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรที่รับเฉพาะคนอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกันเท่านั้น ศาสนิกชนอื่นห้ามไปซื้ออยู่ปะปน
          ในทางตรงกันข้าม ผมไปบรรยายที่นครดาเนาประเทศฟิลิปปินส์ ก็พบอนุสาวรีย์ชาวคริสต์ที่เอาชนะขับไล่ชาวมุสลิมให้พ้นไปจากเมืองดังกล่าวได้ ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง อย่างนี้ก็ถือเป็นการตอกย้ำความร้าวฉานให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมได้ในอีกทางหนึ่งเหมือนกัน อย่างไรก็ตามในภายหลังการสู้รบกันระหว่างคนสองศาสนาในเกาะมินดาเนาที่นครดาเวาตั้งอยู่ก็ค่อย ๆ เพลาลงจนสงบเช่นทุกวันนี้
          ในประเทศสิงคโปร์ มีชาวพุทธ 43% มุสลิม 15% คริสต์ 15% และอื่น ๆ รัฐบาลชองสิงคโปร์จัดสรรที่อยู่อาศัยไว้อย่างชัดเจนเลยว่า จะให้คนศาสนาเดียวกัน หรือคนเชื้อชาติเดียวกันอยู่รวมกันไม่ได้ ต้องผสมผสานกันอย่างเคร่งครัด เพื่อความหลากหลายและสมานฉันท์ และจะได้ไม่มั่วสุมกันก่อการร้ายในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย เราจึงไม่พบชุมชนชาวจีน อินเดีย มาเลย์ ฯลฯ ยกเว้นในย่านการค้าเดิม เช่น China Town หรือ Little India เป็นต้น
          ข้อนี้ก็น่าคิด เช่น ในกรุงเทพมหานครใกล้มหาวิทยาลัยรามคำแหง อาจมีหนุ่มสาวชาวใต้ มาอยู่รวม ๆ กันเป็นจำนวนมาก การเกาะกลุ่มกันในลักษณะอย่างนี้อาจก่อให้เกิดลักษณะภูมิภาคนิยม หรือถ้าเป็นคนศาสนาเดียวกัน ก็อาจกลายเป็นการรวมตัวกัน ซึ่งหากเป็นการรวมตัวกันในเชิงสร้างสรรค์ก็ดี แต่หากเป็นในเชิงลบ ก็อาจสร้างปัญหาให้ได้ในระยะยาว
          ในมาเลเซีย การอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างชาวจีนกับชาวมุสลิม อยู่แบบบ้านข้างเรือนเคียงกันเลย เช่น ทาวนเฮาส์คูหาหนึ่งก็เป็นของคนจีน อีกคูหาหนึ่งก็เป็นของชาวมุสลิม เป็นต้น ภาพเช่นนี้เป็นภาพแห่งความกลมเกลียว การได้อยู่ร่วมกันแบบนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ได้เรียนรู้จากกันและกัน เพื่อความสมานฉันท์ร่วมกันให้เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย การเริ่มต้นอาจต้องมีการใช้กฎหมาย และป้องกันการทำผิดกฎหมายโดยยึดถือกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน และอาศัยความเข้าใจกันและกันประกอบด้วย
          ผมไปสำรวจที่อยู่อาศัยที่ยะลาเมื่อเร็ว ๆ นี้ หมู่บ้านจัดสรรบางแห่งก็มีลักษณะคล้ายอินโดนีเซีย คือ เน้นรับเฉพาะชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม เราก็ควรส่งเสริมให้มีการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนา ซึ่งเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่ดี อย่างไรก็ตามบางท่านอาจห่วงถึงกรณีการปฏิบัติศาสนกิจ ในกรณีนี้สิงคโปร์ได้จัดให้มีศาสนสถานของแต่ละศาสนาอยู่เป็นสัดเป็นส่วน และต่างคนต่างเคารพสิทธิของกันและกัน
          ดังนั้นอาจเป็นแนวคิดที่ดีที่จะจัดการอยู่อาศัยของประชาชนไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาใด เผ่าพันธุ์ใดให้อยู่แบบผสมผสาน อย่าให้เกิดการอยู่อาศัยแบบแยกเฉพาะกลุ่ม และส่งเสริมกิจกรรมเรียนรู้จากกันและกัน ความสามัคคีของคนในชาติก็จะเกิดขึ้นจริง ประเทศชาติก็จะก้าวเดินต่อไปได้  เชื่อว่าที่อยู่อาศัยแบบผสมผสานนี้จะเป็นที่นิยม มีราคาเพิ่มและเหมาะสมกับการอยู่อาศัยในระยะยาวกว่าประเภทอื่น
          สามัคคีคือพลัง (สร้างสรรค์)

รูปที่ 1: รูปแบบการอยู่อาศัยระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิมในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา

รูปที่ 2: รูปแบบการอยู่อาศัยระหว่างคนจีนกับคนมาเลย์ในเมืองใกล้ชายแดนไทยแห่งหนึ่งของประเทศมาเลเซีย

รูปที่ 3: การอยู่อาศัยแบบชุมชนดั้งเดิมของชาวมุสลิมในชุมชนแห่งหนึ่ง อำเภอเมืองยะลา

รูปที่ 4: การอยู่อาศัยแบบผสมผสานในสิงคโปร์


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved