อ่าน 1,775 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 2/2557: 3 มกราคม 2557
หนทางสู่ปัญญาชนด้วยนิทานเซ็น

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          การจะเป็นปัญญาชนได้นั้น ไม่ใช่หมายถึงจบปริญญา บางคนยิ่งมีความรู้ ยิ่งถูกหลอก เช่น กรณีเปรตกู้ หรือคุณหญิงคุณนายหรือข้าราชการใหญ่โตไปหลงเชื่ออลัชชีอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นอาจารย์ ไม่ว่าอาจารย์ลงยันต์ หรือแม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัย
          ผมเองก็สอนหนังสืออยู่บ่อย ๆ ทั้งในระดับปริญญาเอกที่นิด้า หรือสถาบันการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งโรงเรียนนายร้อย จปร. หรือสถาบันพระปกเกล้า แต่ใช่ว่าคนเราจะพึงเชื่อถือใครตามฐานันดรเสมอไป เราต้องใช้วิจารณญาณกันตามสมควร

อย่าแสดงภูมิ
          ผมอยากบอกว่า ปัญญาชนต้องไม่อวดหรือแสดงภูมิ แต่ในสังคมกลับตรงกันข้าม แม้แต่อาจารย์ก็ยังชอบแสดงภูมิ ผมจำนิทานเรื่องหนึ่งที่ยายผมซึ่งเป็นคนจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่เล่าให้ฟังว่า มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์กับลูกศิษย์คู่หนึ่งเดินไปด้วยกันตามทาง ระหว่างทางลูกศิษย์เห็นกองอะไรดูคล้ายงูอยู่เบื้องหน้า จึงบอกอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ ข้างหน้ามีงู” อาจารย์รีบตอบสวนกลับมาว่า “มิน่าล่ะ อาจารย์จึงได้ยินเสียงมันเลื้อย”
          ต่อมาลูกศิษย์เดินไปดูใกล้ๆ และใช้ไม้เขี่ยดู เห็นไม่ไหวติง จึงตะโกนมาบอกอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ งูมันตายแล้ว” อาจารย์ก็หลับหูหลับตาตอบกลับมาว่า “มิน่าล่ะ อาจารย์ถึงได้กลิ่นอะไรเหม็นๆ”
          และเมื่อลูกศิษย์ได้ตรวจดูอย่างละเอียดกลับพบว่าเป็นแค่เชือกขดหนึ่ง จึงบอกความจริงแก่อาจารย์ อาจารย์กลับตอบหน้าตาเรียบเฉยว่า “อาจารย์ว่าแล้วไหมล่ะว่ามันไม่น่าจะมีเรื่องเช่นนี้ เธอ (ลูกศิษย์) เข้าใจผิดไปเอง”
          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อาจารย์หลายคนชอบทำตัว “แสนรู้” ให้สมฐานะอยู่เสมอๆ แต่ความจริงอาจารย์จำนวนมาก “กร่างแต่กลวง” ไม่รู้จริง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเราจะเป็นปัญญาชน เราพึงศึกษาให้กระจ่าง ยิ่งลูกศิษย์ศึกษาใกล้ชิดมากขึ้นก็จะรู้ความจริงว่าอะไรคืออะไร จะทึกทักเอาแบบอาจารย์ข้างต้นคงไม่ได้

อย่ามีฟอร์มมาก
          ยังมีนิทานอีกเรื่องหนึ่งเป็นของนิกายเซ็น เรื่องมีอยู่ว่า มีวัดแห่งหนึ่งเจ้าอาวาสเป็นคนเฉลียวฉลาด ส่วนพระลูกวัดซึ่งเป็นพี่ชายเจ้าอาวาสไม่ฉลาดและตาบอดข้างหนึ่ง
          ครั้งหนึ่งมีพระอาคันตุกะประสงค์จะมาค้างแรมในวัด แต่ธรรมเนียมในสมัยนั้นมีว่า ถ้าพระอาคันตุกะตอบปัญหาธรรมะไม่ได้ ก็จะไม่ได้นอน ต้องไปอยู่กลางป่า ข้อนี้ก็แปลกว่าทำไมต้องมีธรรมเนียมเช่นนี้ก็ไม่รู้
          ปกติเจ้าอาวาสมักออกงานเอง และไม่เคยมีพระอาคันตุกะไหนชนะท่านเลย แต่คราวนี้ท่านคงจะใจดีเลยส่งพระพี่ชายตาบอดไปแทน พระพี่ชายกับพระอาคันตุกะจึงเดินเข้าไปในห้องหนึ่ง โดยพระพี่ชายนั่งติดผนังด้านใน ส่วนพระอาคันตุกะนั่งติดทางออก
          พระอาคันตุกะก็ถามพระพี่ชายว่า “เราจะตอบปัญหาธรรมะแบบไหนดี” พระพี่ชายก็ตอบไปว่า “แบบไหนก็ได้” พระอาคันตุกะจึงบอกว่า “ถ้าเช่นนั้นเรามาใช้ภาษาท่าทางกัน”
          พระอาคันตุกะจึงชูนิ้วขึ้นมาหนึ่งนิ้ว พระพี่ชายเห็นเข้าจึงผายยิ้มและชูขึ้นมาสองนิ้ว พระอาคันตุกะจึงเบิกยิ้มกว้างและชูนิ้วขึ้นมาสามนิ้ว พระพี่ชายจึงทำหน้าขึงขังและชูกำปั้น เท่านั้นแหละครับพระอาคันตุกะทำหน้าซีดเผือดแล้วโค้งคำนับลาออกจากห้องมา
          พอออกมาพบเจ้าอาวาสในบริเวณลานวัดก็บอกว่าตนแพ้แล้ว เจ้าอาวาสงงว่าพระอาคันตุกะแพ้ได้อย่างไร ในใจเจ้าอาวาสคงคิดว่าตนส่ง “หมู” ไปให้แล้ว ไฉนท่านจึงแพ้อีก
          พระอาคันตุกะจึงเล่าให้ฟังว่า “พออาตมาเริ่มแข่งก็ชูนิ้วขึ้นมาหนึ่งนิ้วในความหมายว่าศาสนาพุทธของเรามีพระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง พระพี่ชายท่านก็ชูขึ้นมาสองนิ้ว แปลว่ามีพระพุทธก็ต้องมีพระธรรมคู่กัน อาตมาจึงชูสามนิ้ว แปลว่า ต้องมีพระสงฆ์ด้วย อาตมาเชื่อว่าชนะแน่แล้ว แต่พระพี่ชายของท่านเก่งมากเลยครับ ท่านชูกำปั้น ซึ่งตีความได้ว่า ทั้งสามสิ่งรวมกันเป็นพระรัตนตรัย อาตมาจึงจนด้วยเกล้าแล้วล่ะครับ”
          เจ้าอาวาสฟังได้ด้งนี้จึงเข้าใจพร้อมกับรับคำลาของพระอาคันตุกะที่กำลังจากไป พร้อมกับเกาหัวแกรก ๆ ว่าทำไมวันนี้พระพี่ชายของตนจึงเก่งอย่างนี้ พอพระอาคันตุกะคล้อยหลังไปสักพักเดียว พระพี่ชายรีบวิ่งกระหืดกระหอบมาถามหาพระอาคันตุกะด้วยน้ำเสียงที่โกรธเกรี้ยว
          เจ้าอาวาสก็ยิ่งงงใหญ่ ถามพระพี่ชายว่า “พี่ชนะแล้ว พี่มีปัญหาอะไรหรือ” พระพี่ชายรีบตอบไปว่า “ชนะกะผีอะไร พวกเรายังไม่ทันแข่งกันเลย” เจ้าอาวาสเลยยิ่งงงไปใหญ่
          พระพี่ชายเล่าให้ฟังว่า “พอเข้าไปถึงในห้อง ยังไม่ทันไร พระนั่นก็ชูนิ้วขึ้นมาหนึ่งนิ้ว มันดูถูกว่าพี่มีตาเดียว พี่ก็ใจเย็น ยิ้มและชูสองนิ้วยินดีกับเขาที่มีสองตา มันยังไม่หนำใจ มันชูสามนิ้วอีกล้อเลียนต่อว่า แต่เราสองคนรวมกันมีสามตา”
          พระพี่ชายเล่าต่อด้วยความแค้นว่า “พี่เลยชูกำปั้นกะจะชกหน้ามัน แต่อารามรีบร้อนลุกเลยสะดุดจีวรหัวน็อกพื้นไปเสียก่อน พอหายมึนจึงรีบวิ่งออกมาหมายชำระแค้นมันสักหน่อย!”
          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าในวงการต่างๆ มักมีพิธีกรรมเฉพาะหรือมีคำพูดเฉพาะ (jargon) ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจทำให้ดูขลัง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ทำให้ห่างเร้นไปจากความเป็นจริง แข็งทื่อ โง่งม ดังนั้นปัญญาชนต้องฉุกคิด อย่าให้ใครจูงจมูกหรือชี้นิ้วให้เราเดินไปตามกรอบโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง การนี้จะทำให้เราไม่พัฒนา ขาดคุณสมบัติของปัญญาชนในที่สุด

กล้าคิดนอกกรอบ
          เพื่อสังคมอุดมปัญญา ปัญญาชนต้องกล้าคิดนอกกรอบทางความรู้และความคิด เพื่อใฝ่หาความรู้ใหม่ ไม่ย่ำอยู่กับที่ จึงจะเกิดปรากฏการณ์ “คลื่นลูกหลังไล่ทันคลื่นลูกหน้า”
          เพื่อให้เห็นภาพชัด ผมจึงขอเล่านิทานเซ็นอีกเรื่องให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งพระสองรูปเดินอยู่ รูปหนึ่งเป็นพระอาจารย์ อีกรูปเป็นพระลูกศิษย์หนุ่ม พอเดินไปได้สักพัก ก็พบหญิงสาวในชุดกิโมโนสวยงามยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ นางจะข้ามถนน แต่ข้ามไม่ได้เพราะถนนเป็นโคลนไปหมด ชุดของเธออาจเปรอะเปื้อนได้
          พระอาจารย์ก็เลยอาสาแบกนางข้ามไปส่งอีกฝั่งหนึ่ง แล้วก็เดินต่อไปอย่างหน้าตาเฉย พระลูกศิษย์อ้าปากค้าง แต่ไม่กล้าขัด (ลาภ) พระอาจารย์
          ทั้งสองเดินจนเกือบถึงวัดอยู่แล้ว พระลูกศิษย์อดรนทนต่อไปไม่ไหว จึงโพล่งถามพระอาจารย์ “อาจารย์แตะต้องตัวสตรีเช่นนี้ ไม่อาบัติหรือครับ”
          พระอาจารย์ตอบด้วยน้ำเสียงเรียบเฉยว่า “อาตมาวางนางลงไปตั้งนานแล้ว เจ้ายังไม่วางนางลงไปอีกหรือ” (ฮา)
          นิทานเซ็นเรื่องนี้ตีความได้ว่า ศีลนั้นมีไว้สำหรับคนที่ใจยังไม่บรรลุธรรม (แต่ก็ต้องระวัง ซาตานก็มักอ้างเช่นนี้) ถ้าใจเที่ยงก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกรอบ การคิดออกนอกกรอบจะทำให้เราเกิดปัญญาและเกิดการพัฒนาในที่สุด ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราถูกกรอกหู ถูกล้างสมองโดยพวกอาจารย์นานๆ เราก็จะกลายเป็นคนคิดไม่เป็น หรือปล่อยหน้าที่การคิดให้คนอื่น

ปัญญาชนที่แท้
          ความเป็นปัญญาชนไม่ได้อยู่ที่มีใบปริญญา แต่อยู่ที่วัตรปฏิบัติและวัดผลที่คุณภาพการคิด ปัญญาชนที่แท้ต้องเปิดใจกว้าง ยอมรับข้อมูลที่แตกต่าง นำมาวินิจฉัยและวิเคราะห์ให้ดี รู้จักฉุกคิด และคิดอย่างมีกลยุทธ คิดต่อเนื่อง ค้นหาข้อมูลและปะติดปะต่อให้เห็นความจริง นี่จึงเป็นการส่งเสริมสังคมอุดมปัญญาที่ให้เกียรติทุกคน
          อาจารย์จำนวนมาก มีแต่ฟอร์ม ยืมจมูกนักศึกษาหายใจ ขาดการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง ชอบทึกทักและชอบใช้อำนาจ ซึ่งกลายเป็นคนฉุดรั้งการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย
          เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจบัณฑิตหรือปัญญาชน ผมจึงขอจบด้วยกาลมสูตร 10 เพื่อให้ทุกท่านได้ฉุกคิดว่าอย่าปลงใจเชื่อ 1.ด้วยการฟังตามกันมา 2.ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา 3.ด้วยการเล่าลือ 4.ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ 5.ด้วยตรรก 6.ด้วยการอนุมาน 7.ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล 8.เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน 9.เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ และ 10.เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา เราจะเชื่อก็ต่อเมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญา
          ทุกคนต้องหัดคิดนอกกรอบ ไม่ถูกใครครอบงำทางความคิดโดยเฉพาะจากผู้ที่เราเคารพ  อาจารย์ที่แท้ต้องดีใจที่ลูกศิษย์ดีกว่าและสามารถส่งเสริมให้ลูกศิษย์คิดเป็น จึงเป็นครูที่แท้ ไม่ใช่สักแต่มาเสพสุขจากการมีอภิสิทธิ์ของการเป็นอาจารย์
          เราต้องช่วยกันสร้างปัญญาชนที่มีความคิดที่เป็นอิสระ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติของเราต่อไป เราต้องช่วยกันสร้างคุณต่อประเทศชาติ และถือตามพุทธสุภาษิตประจำโรงเรียนเทพศิรินทร์ของเราว่า “น สิยา โลกวฑฺฒโน” หรือ “ไม่ควรเป็นคนรกโลก” นั่นเอง


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved