“ชัชชาติ” ควรเรียนรู้ผังเมืองต่างประเทศ
  AREA แถลง ฉบับที่ 012/2566: วันพฤหัสบดีที่ 05 มกราคม 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            เห็นผู้ว่าฯ ชัชชาติออกมาพูดเรื่องผังเมือง กลัวท่านออกทะเล จึงขออนุญาตนำเรื่องผังเมืองในต่างประเทศมานำเสนอ แต่ไม่รู้ท่านจะฟังไหมนะครับ เห็นท่านว่ามีนักผังเมืองเก่งๆ อยู่ในมือหลายสิบคน แต่ไม่รู้เป็นพวกกร่างแต่กลวงหรือเปล่า

            เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านผู้ว่าฯ ไปเสวนาเรื่องการย้ายกรุงเทพมหานคร ก็เห็นพูดกันไปสามวาสองศอก อันที่จริงท่านควรให้ความรู้ฟันธงไปเลยว่าเมืองหลวงนั้นคงย้ายไม่ได้หรอก ยกเว้นเกิดภัยพิบัติ ภัยสงคราม ผลัดแผ่นดิน จึงย้ายจากกรุงศรีอยุธยาไปกรุงธนบุรี เป็นต้น ดูอย่างเมืองปุตราจายาก็ไม่ประสบความสำเร็จ กรุงเนปิดอว์ก็แทบร้าง สิ้นเปลืองงบประมาณไปมหาศาล  เราอาจย้ายเมืองบริวารได้แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจย้ายไม่ได้ เช่น นครนิวยอร์กกับกรุงวอชิงตันดีซี นครเซาเปาโลกับกรุงบราซิเลีย นครซิดนีย์กับกรุงแคนเบอรา เป็นต้น

            ท่านก็คงทราบว่า บรรดามหานครต่างๆ หลายแห่งในยุโรปตะวันตก ก็ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล บางแห่งต่ำกว่านับสิบเมตร เขายังรักษาเมืองไว้ได้ เราอย่าไปคลั่งตามพวกกลัวโลกร้อนจนขี้ขึ้นสมอง ต่างก็กลัวคลื่นยักษ์ (Storm Surge) สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำทะเลท่วมกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ก็เคยมีผลการศึกษาว่าน้ำทะเลอ่าวไทยกลับลดลงด้วยซ้ำไป ทะเลยังเคยไปใกล้ถึงนครสวรรค์ แล้วตอนนี้เรามีกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฯลฯ อีกมากมาย  การที่ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะก็เพราะการตัดป่าไม้โกงกางต่างหาก แล้วที่ทะเลเกิดแผ่นดินเพิ่ม ก็กลับเพิกเฉยไม่พูดถึง

            ท่านผู้ว่าฯ ก็เคยบอกว่า “เมื่อวานตนยังได้ไปคุยกับนักวางผังเมืองของสิงคโปร์ เกี่ยวกับการพัฒนาผังเมือง เขาบอกว่าจริงๆ แล้วมันต้องมีสองส่วนคือ นักเศรษฐศาสตร์เมือง และ นักวางผังเมือง แต่ของเรามีนักวางผังเมือง แต่วางผังเมืองแบบไม่เข้าใจความต้องการ. . .” โถที่ไทยมีเรียนสาขานี้หรือ ผังเมืองเป็นการใช้สหศาสตร์ (Interdisciplinary Approach) ไม่ใช่ขาดคนที่จบวิชาอะไรมา ที่ผังเมืองไทยพิกลพิการมีหลายสาเหตุ เดี๋ยวมาดูกัน

            เร็วๆ นี้ ท่านผู้ว่าฯ ไปประชุมที่กรุงพนมเปญ ออกมาวิ่งตอนเช้าชมเปาะว่าที่สะอาดสะอ้านเหมือนกรุงเทพมหานครของเราเลย โถก็ท่านวิ่งอยู่ตรงบริเวณโรงแรมริมแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว เขาก็ต้องมีพนักงานกวาดเก็บกันแต่เช้ามืด ถ้าท่านไปตามถนนรนแคมทั่วไปจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่ง กรุงพนมเปญอาจเรียกว่าเป็นเมืองในฝุ่น เพราะมีการก่อสร้างมากมาย ที่ผ่านมามีโครงการบ้านจัดสรร อาคารชุด และอาคารเชิงพาณิชย์ต่างๆ ผุดขึ้นมามากมายนั่นเอง แต่ท่านคงไม่เห็นว่าผังเมืองของกรุงพนมเปญเป็นระเบียบเรียบร้อยมากซึ่งเกิดจากการวางผังที่ดีมาตั้งแต่แรก

            ยังมีข่าวว่า “‘ชัชชาติ’ สั่งรื้อผังกทม. ดึงที่ดินรัฐ-เอกชนปักหมุดเมืองใหม่ชานเมือง” ทั้งสามหรือไม่หรือที่ปรึกษาของท่านทราบหรือไม่ว่าการสร้างเมืองใหม่ในประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครไม่ได้ผล รังแต่จะทำให้เมืองขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่น การสร้างเมืองใหม่บางพลีเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นต้น ประเทศฟิลิปปินส์ก็สร้างเมืองเกซอนซิตี้ให้เป็นเมืองใหม่ แทนกรุงมะนิลา แต่สุดท้ายก็ผนวกรวมกันเป็นนครหลวงมะนิลา แหล่งรถติดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เราควรเรียนรู้การสร้างความหนาแน่น (High Density) ในเมืองโดยไม่สร้างความแออัด (Overcrowdedness) ต้องรู้จักแยกคำศัพท์ทั้งสองนี้ออกจากกัน

            มีข่าวอีกว่า “‘ชัชชาติ’ ชี้ผังเมืองใหม่เอื้อสาธารณะรักษาสิทธิ์ผู้มีรายได้น้อย” โดยกล่าวว่า “ปัจจุบันเมืองพัฒนาไปมาก แต่ละพื้นที่มีมูลค่าสูง กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากมีการก่อสร้างหลายโครงการ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้น ผู้มีรายได้น้อยจำเป็นต้องถอยร่นไปอยู่ในพื้นที่คุณภาพชีวิตต่ำกว่าเดิม ไม่สามารถอาศัยใกล้แหล่งงานได้ เพราะสู้ราคาค่าเช่าไม่ไหว จึงจำเป็นต้องทบทวนแนวทางผังเมือง และการก่อสร้างต่างๆ ไม่ให้ลิดรอนสิทธิ์ผู้มีรายได้น้อยในระยะยาว และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้เท่าเทียมกันมากขึ้น”

 

ผมก็ไม่แน่ใจว่าคำพูดสวยหรูนี้ แปลว่าอะไร

            1. อย่างชุมชนป้อมมหากาฬที่พวก “อยากจน” (ไม่ใช่ยากจน) แอบอ้างว่ามีโบราณสถาณต่างๆ แล้วฉวยโอกาสยึดครองมายาวนาน ทั้งที่เจ้าของเดิมเขาก็ต่างย้ายออกไปหมดแล้ว นี่เป็นการเห็นแก่ตัวอย่างชัดเจน และพิสูจน์ในวันนี้แล้วว่าการมีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬย่อมดีกว่าเห็นแก่พวกอยากจน 20 กว่าครัวเรือนนั้น

            2. ท่านผู้ว่าฯ ไม่ทราบว่าในใจกลางเมืองเช่นยานนาวา และเขตในใจกลางเมืองอื่นๆ ยังมีห้องเช่าถูกๆ เดือนละไม่ถึง 3,000 บาท ผู้ใช้แรงงานแทบทุกระดับยังสามารถอยู่ได้

            3. อย่างพวกบุกรุกที่คลองลาดพร้าว คลองถนน คลองเปรมประชากร บุกรุกอยู่กันมาหลายสิบปี รัฐบาลกลับไปสร้างที่อยู่อาศัยให้พวกเขาอยู่ถาวร ให้อภิสิทธิ์เหนือคนยากจนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ควรเอาพื้นที่เหล่านั้นมาสร้างถนนขยายการจราจรให้กับประชาชนส่วนรวมมากกว่า แล้วนำชาวบ้านบุกรุกไปอยู่ที่เอกชนด้านข้างโดยสร้างเป็นแฟลต 10 ถึง 20 ชั้น ซึ่งยังสามารถให้คนจนนอกชุมชนมาอยู่ได้อีกเป็นจำนวนมาก

 

            ดร.จรัสโรจน์ บถดำริห์ นักผังเมืองและอดีตที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำบอกผมว่าให้รู้ซึ้งอดีตอันยาวนานกว่า 50 ปีของการผังเมืองไทย ประเด็น การวางผังเมือง กทม. และเมืองต่างๆ ในประเทศไทย  ล่มสลายทั้งระบบนั้น สาเหตุเนื่องจาก

            1. รัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่มี พรบ. การผังเมือง พ.ศ. 2518 ไม่เคยให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจัง  ปล่อยปะละเลยการพัฒนาเมือง และจัดการแผนโครงสร้างพื้นฐานเมือง เปลี่ยนไปมาตามอำนาจของนักการเมืองและนายทุน เพื่อประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ของตนเอง ในจังหวะที่ได้เข้ามามีอำนาจในขณะนั้น งานผังเมือง ซึ่งต้องยึดถือเป็นแผนระยะยาวจึงจะเห็นผลสำเร็จสมบูรณ์ จึงล้มเหลวเสมือนไม่มีแผนกำกับชึ้นำการพัฒนาเมือง

            2. หลักคิด หลักการของงานผังเมือง หรือการวางแผนพัฒนาระบบชุมชน เมืองและชนบท รวมถึง แผนโครงสร้างพื้นฐาน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะถูกกำหนดไว้ ใน "รัฐธรรมนูญของประเทศ" ให้การวางแผนกายภาพเป็นหนึ่งเดียวประสานร่วมกัน ไม่ขัดแย้งกัน  ซึ่งประเทศไทย ทำตรงกันข้าม แยกกันคิด  แยกกันทำ ไม่ยอมร่วมมือกัน เพราะเอื้อให้เกิดผลประโยชน์กับหน่วยงานและกลุ่มของตนเอง

            3. องค์กรสูงสุดของประเทศในบริหาร กำกับการวางแผนและพัฒนาด้านกายภาพ มีแต่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีแต่นักเศรษฐศาตร์ แม้ว่าเคยมีการเสนอให้มีองค์กรวางแผนกายภาพระดับประเทศ ขึ้นสังกัดสำนักนายกฯ มาแล้ว 40 ปี ก็ถูกขัดขวางไม่สำเร็จ 2 ครั้ง

            4. อธิบดีของหน่วยงานนี้ เป็นที่หมายปองของนักปกครอง นักรัฐศาสตร์ มาบริหารงานอย่างพิศดารตามทักษะความถนัดของตนเอง จึงขาดการพัฒนาตามหลักวิชาการ

 

            เอาเป็นว่าพวกรู้จริงด้านผังเมือง ไม่ค่อยมีโอกาสทำงาน ไทยต่างจากสิงคโปร์ที่เป็นสวรรค์พวกผู้เชี่ยวชาญ คิดอะไรก็ได้ทำ แต่ไทยติดกับดักพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี

ที่มาภาพประกอบ: https://www.urbanstrategies.com/project/singapore/

อ่าน 1,112 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved