อ่าน 1,602 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 35/2557: 10 มีนาคม 2557
     ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา: ดัชนีชี้เศรษฐกิจโลก

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ท่านคงทราบกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว กลับเป็นดัชนีสำคัญต่อโลกทั้งใบ เพราะราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเป็นดัชนีที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในการชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะไปทางไหน และโดยที่ขนาดเศรษฐกิจของมหาอำนาจประเทศนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด จึงทำให้มีผลกระทบต่อตลาดโลก และประเทศไทยเช่นกัน
          ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ติดตามสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสที่การสำรวจล่าสุดขององค์กรการเงินเคหะการแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Housing Finance Agency) ได้เพิ่งเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ศกนี้  ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯ จึงขอสรุปโดยสังเขป ดังนี้:
          1. ในไตรมาสที่ 4/2556 ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 1.2% ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 10 ติดต่อกันแล้วที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวมั่นคงแล้ว
          2. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึง 7.7% มากกว่าปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% การเพิ่มขึ้นของราคาบ้านในสหรัฐอเมริกานี้มีสัดส่วนสูงกว่าของประเทศไทยเสียอีก โดยในกรณีของกรุงเทพมหานคร ราคาบ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% ต่อปี ขณะที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 4.3% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา  ในช่วงปี พ.ศ.2550-2554 ราคาบ้านติดลบลงมาโดยตลอด และเพิ่งฟื้นตัวมา 2 ปีนี้เอง
          3. ในรอบ 1 เดือนล่าสุด คือพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม 2556 พบว่าราคาบ้านเพิ่ม 0.8% ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นสูงพอสมควร  ราคาบ้าน ณ เดือนธันวาคม 2556 เท่ากับราคาบ้านเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 หรือ ประมาณ 2 ปีก่อนที่ราคาบ้านจะดิ่งเหว ซึ่งนับแต่เดือนเมษายน 2550 เป็นต้นมา
          4. อย่างไรก็ตามในระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2534 ราคาบ้านเพิ่มขึ้นปีละ 3.3% โดยเฉลี่ย แต่หากนับแต่ พ.ศ.2543 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 3.0% โดยเฉลี่ย
          5. กลุ่มมลรัฐที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุด คือบริเวณริมมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่มลรัฐวอชิงตัน ออรีกอน แคลิฟอร์เนีย ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาเพิ่มขึ้นถึง 16.1% ซึ่งนับว่าสูงมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะก่อนหน้านี้ ราคาตกต่ำมากเป็นพิเศษ จึงฟื้นตัวขึ้นมาในอัตราที่สูง
          6. ส่วนกลุ่มมลรัฐที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านน้อยที่สุด ได้แก่กลุ่มมลรัฐแอตแลนติกกลาง ประกอบด้วยมลรัฐเดลาแวร์ แมรีแลนด์ นิวเจอร์ซีย์ เพนซิลเวเนีย วอชิงตันดีซี นิวยอร์ก เวอร์จิเนียและเวสต์เวอร์จิเนียนั่นเอง
          7. มลรัฐที่ราคาเพิ่มสูงมากทีสุดได้แก่ เนวาดา 24.3% มลรัฐแคลิฟอร์เนีย 19.5% และมลรัฐอะริสโซนา 15.2% ซึ่งเป็นกลุ่มรัฐที่เคยตกต่ำหนักที่สุด
          ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา ฟื้นตัวได้เพราะระบบการจัดการผ่องถ่ายขายทรัพย์สินที่ดีและเข้มงวด ทำให้สามารถขายทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ ทรัพย์สินไม่ตกค้างและก่อให้เกิดเป็นทรัพย์สินรอการขายในระยะยาว  ประชาชน ไม่เกิดปัญหาเช่นในกรณีประเทศไทยที่มีการขายทรัพย์อย่างเชื่องช้า ไม่สามารถบังคับให้ผู้เป็นหนี้ออกนอกตัวทรัพย์ (บ้าน) ได้  รัฐบาลควรจัดที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้บุคคลเหล่านี้และจัดการบริหารทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ
          ยิ่งกว่านั้นในสหรัฐอเมริกายังมีระบบภาษีทรัพย์สินที่ดี ผู้อยู่อาศัยต้องเสียภาษีปีละ 1-3% ของราคาบ้านเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น ยิ่งท้องถิ่นมีการพัฒนามากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่ามากขึ้นเท่านั้น หากท้องถิ่นไม่ได้รับการพัฒนา ก็จะทำให้สภาพแวดล้อมทรุดโทรม  ราคาบ้านตกต่ำในที่สุด  ระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในยามที่จะเปิดประชาคมอาเซียนหรือ AEC (ASEAN Economic Community) ในเร็ววันนี้ ทั้งนี้เพราะในอาเซียนมีเพียงไทย เมียนมาร์ และบรูไนที่ยังไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดี ทั้งนี้บรูไนอาจไม่จำเป็นต้องมีระบบภาษีนี้เพราะรัฐบาลดูแลประชาชนอย่างดีจากรายได้มหาศาลจากน้ำมัน
          ประเทศไทยจึงควรเรียนรู้สถานการณ์จากสหรัฐอเมริกาโดยใกล้ชิดเพราะจะสามารถเห็นทิศทางการเติบโต และจะส่งผลต่อการส่งออก ต่อเศรษฐกิจของไทยเอง และต่อทิศทางการลงทุน การท่องเที่ยวในอนาคต การฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาเกิดจากการที่มีระบบการผ่องถ่ายขายทรัพย์สินและบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพและเข้มงวด ซึ่งข้อนี้ประเทศไทยควรเรียนรู้เช่นกัน

แผนภูมิที่ 1: การเปลี่ยนแปลงราคาบ้านในแต่ละมลรัฐในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

http://thaisocialwork.files.wordpress.com/2014/03/01.jpg

แผนภูมิที่ 2: พัฒนาการเปลี่ยนแปลงราคาบ้านตั้งแต่ มกราคม 2534-ธันวาคม 2556


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved